เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ผมได้มีโอกาสไปพบกับท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศไทย) และผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์มาครับ โดยการนัดเข้าไปพบพูดคุยกันครั้งนี้ผมไปในนามสมาคมเว็บไทย (Thai Webmaster Association) ร่วมกับกรรมการอีกหลายท่านในสมาคมฯ ประเด็นในการเข้าไปคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ทางสมาคมฯเราอยากจะให้ทางพรรคประชาธิปัตย์ช่วยผลักดันครับ (ไม่มีเรื่องการเมืองใดๆนะครับ) การประชุมจากเดิมที่กะไว้ที่ประมาณ 1 ชม. แต่ประชุมไปๆมาๆก็เกือบ 2 ชม. ได้เลย ฟังดูแล้วแม้จะสั้นแต่ผมคิดว่ามีประเด็นดีๆหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน แม้ ณ ตอนนี้ ประเด็นเหล่านั้นจะถูกนำไปสานต่อหรือไม่ก็ตาม ผมอยากขอโน๊ตไอเดียเหล่านี้เอาไว้ แม้เราจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆแต่ผมก็เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถช่วยผลักดันพัฒนาประเทศไทยที่เป็นที่รักของเราไปข้างหน้าได้ไม่มากก็น้อยครับ 🙂
งานนี้ต้องขอขอบคุณคุณโน๊ต แห่ง Dek-D.com นะครับที่ช่วยประสานเรื่องต่างๆให้สมาคมเว็บไทยได้เข้าไปพูดคุยกัน ในที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุมดังนี้ครับ
ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์
- คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศไทย)
- ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล
- คุณอานิก อัมระนันทน์
- คุณศิริโชค โสภา
- คุณชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต
ฝั่งสมาคมเว็บไทย
- นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ (นายกสมาคม) Siwat.com
- นางเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล DotArai.co.th
- นางสาวปภาดา อมรนุรัตน์กุล RedRank.co.th
- นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Priceza.com
- นายธรรณพ สมประสงค์ Thaiware.com
- นายวโรรส โรจนะ Dek-D.com
- นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ Pantip.com
- นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ Pantip.com
- นางสาวพิณมณี จรูญเมธี PinnyForever.com
การพูดคุยกันเป็นการคุยที่บรรยากาศสบายๆครับ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้ใหญ่ในพรรคฯดูเป็นกันเองในการพูดคุยกันดี เรื่องที่เราคุยกันผมเลือกสรุปบางส่วนไว้ดังนี้ครับ
พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ปี พ.ศ.2554
ในช่วงปี พ.ศ.2554 ที่มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์อันใหม่ ทางเราสมาคมเว็บไทยก็ได้ร่วมกันจัดทำร่างคู่ขนานขึ้นมาด้วย เหตุผลเพราะว่าร่างใหม่มีหลายๆจุดที่เราคนในวงการมองต่างออกไปครับ ผมขอไม่ลงรายละเอียดมากในเรื่องนี้ แต่เราก็คุยกันยาวพอสมควรเหมือนกันในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆเหล่านี้
การผลักดันธุรกิจเว็บไทยให้เจริญเติบโต
เรื่องนี้กรรมการสมาคมหลายท่านได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันครับ
Tech Startup ถือเป็นธุรกิจในยุคใหม่ที่ใช้แรงงานน้อย แต่เน้นใช้แรงสมองคิดและลงมือทำ ซึ่งพวกเราเห็นตรงกันว่าความสามารถของคนไทยนั้นไม่ได้น้อยไปกว่าคนต่างประเทศ เช่น USA เลย พูดง่ายๆลองนึกภาพ คือ ถ้า Mark Zuckerberg มาเกิดในประเทศไทย โลกเราอาจจะยังไม่มี Facebook ก็เป็นได้ แต่ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะมานั่งโทษประเทศไทย ประเด็นคือเราจะผลักดันให้ประเทศไทยโดดเด่นในด้านธุรกิจที่สร้างสรรค์และนำเทคโนโยีมาประยุกย์ใช้ได้อย่างไร?
ทำไมต้องสนใจธุรกิจนี้? เหตุผลเพราะว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนในการเริ่มต้นน้อย (ถ้าเทียบกับธุรกิจขนาดยักษ์ต่างๆ) และถ้าเกิดในระดับโลกหรือในระดับภูมิภาคแล้ว จะสามารถทำเงินไหลเข้าประเทศได้อย่างมาก ลองนึกดูว่า Google และ Facebook สามารถดึงเงินโฆษณาจากประเทศต่างๆทั่วโลกได้มากมายแค่ไหน ตอนนี้โลกเราไม่ได้อยู่ในยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู แต่เรากำลังอยู่ใยยุคที่ Information is Power. ข้อมูลที่เป็นประโยชน์คือพลัง
ถามว่า Tech Startup จะเกิดขึ้นได้ยังไง? ปกติธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิตอล เทคโนโนยีเว็บมาใช้ ลงทุนไม่เยอะครับ แต่ว่าในช่วงแรกๆ 1-3 ปีแรกเนี่ย ธุรกิจเหล่านี้ส่วนมากจะยังไม่สามารถทำเงินได้ นั่นหมายถึงว่าช่วงแรกๆนี้ ผู้ประกอบการจะต้องหาเงินทำมาหากินทางอื่นประกอบกันไปด้วย โดยอาจจะทำงานอื่นๆที่ได้เงินเดือนเป็นงานประจำ หรืออาจจะทำงานรับ Job ที่ได้เงินตาม Job แน่นอนประกอบกันไป แต่ว่าการทำแบบนี้ คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ (คุณบอย แห่ง Pantip.com) พูดไว้ได้ดีครับมันจะทำให้ผู้ประกอบการขาด Focus และธุรกิจเติบโตได้ช้า เพราะผู้ประกอบการต้องไปโฟกัสกับการทำเงินทำมาหากิน และอีกทางก็ใช้เวลามาพัฒนา Products เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ดี (ซึ่งสิ่งนี้ยังทำเงินไม่ได้เลย) ทางแก้เรื่องนี้ในเมืองนอกคือ ประเทศพัฒนาทั้งหลายอย่าง USA เป็นต้น เค้ามีระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิด Tech Startup ได้ง่ายๆ คือจะมี Venture Capitalist หรือ Angel Investor ซึ่งจะเป็นผู้ที่ลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่เหล่านี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและ Connections ในการผลักดันให้ธุรกิจเหล่านั้นไม่ต้องไปพะวงกับการหาเงินมาเลี้ยงชีพ และให้ไป Focus กับการพัฒนา Product ให้ดี ให้ตอบสนองผู้ใช้จำนวนมากๆให้ได้ก่อน ลองนึกภาพ Facebook ที่ตอนแรกๆไม่เน้นเรื่องทำเงินใดๆทั้งนั้น แต่มุ่งเพิ่มฐานสมาชิกผู้ใช้ก่อนเป็นสำคัญแบบนั้นนั่นเองจนตอนนี้ใกล้จะ IPO ละ ประมาณการ์มูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กลับมามองประเทศไทยครับ ถามว่าประเทศไทยขาดอะไร? สิ่งที่เรามีการคุยกันก็คือเรายังขาด Eco System หรือระบบนิเวศน์ในการผลักดันให้ Tech Startup เกิดแล้วเกิดอีกอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เฉพาะเงินทุนที่อาจจะยังเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก สิ่งที่ขาดก็จะเป็นระบบการศึกษาที่เรายังไม่เน้นให้เด็กจบใหม่แล้วออกมาทำธุรกิจของตัวเองมากนัก
อีกกรณีศึกษาคือของประเทศจีน ที่มีมาตรการปิดกันการเข้าถึงบริการออนไลน์ของต่างประเทศโดยเฉพาะ USA เพื่อไม่ให้ข้อมูลต่างๆรั่วไหลออกไปมากนัก แต่กลับส่งผลดีให้ธุรกิจเว็บในจีนเติบโตอย่างมากมาย ด้วยการ Block บริการต่างๆที่โด่งดัง และจีนเองก็มีการผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนพัฒนาเป็นบริการของตัวเอง ให้ชาวจีนทั้งประเทศใช้กันเอง ซึ่งถือเป้นตลาดใหญ่มากๆพอแล้ว ก็ทำให้เกิด Tech Startup หลายต่อหลายเจ้าที่ประสบความสำเร็จ
กลับมามองว่าปัจจุบันเราคนไทยใช้เว็บไทยกันมากน้อยแค่ไหน? ต้องบอกเลยว่าแนวโน้มคนไทยใช้เว็บไทยน้อยลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยหันไปใช้บริการต่างประเทศ ทั้ง Google, Facebook, Youtube ภาพที่ผมเห็นตอนนี้คือประเทศไทยถูก “การล่าอาณานิคมกันบนโลกออนไลน์” ปัจจุบันคนเราไม่ต้องใช้สงครามในการยึดประเทศ แต่ใช้บริการออนไลน์เนี่ยแหละครับในการรุกและยึดคนในประเทศนั้นๆ
ถามว่าเราคนไทยตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง?
เราทำได้ครับ! ไม่มีเหตุผลใดๆที่เราจะมาโทษโน่นโทษนี่ว่าประเทศไทยเราไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่อยากให้คิดกันมากกว่าว่าตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ทำได้เลยบ้าง อาจจะยังไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนจริงจังอะไรมากมาย แต่เราก็ทำได้ตามความสามารถของเรา ประเด็นที่เราพูดคุยกันในที่ประชุม เช่น
- สมาคมเว็บไทยจัดโครงการจิบกาแฟคนทำเว็บ (WebPresso) เพื่อช่วยส่งเสริมและกระจายความรู้ให้กับคนในวงการ เพื่อให้คนไทยนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป และยังมีโครงการ Young Webmaster Camp ที่เป็นค่ายในการบ่มเพราะความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมามีความรู้และความสามารถพร้อมที่จะลงสนาม โครงการเหล่านี้หวังที่จะผลักดันให้เว็บไทยไปบุกตลาดต่างประเทศได้
- ถ้าประเทศไทยจะบล๊อคการเข้าถึงบริการจากเมืองนอกล่ะ!!?? เคยมีนะครับตอนที่ปฏิวัติ เรามีการบล๊อค Youtube ทำให้เกิดบริการ Mthai VDO ขึ้นมา เห็นมั้ยครับว่า ถ้าคนไทยไม่เข้าบริการเมืองนอก คนไทยก็ต้องเข้าใช้บริการที่ไหนซักที่ “ที่เป็นของคนไทย”
- การสนับสนุนด้านภาษี??
- การสนับสนุนด้านโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในการผลิตบุคลากรมาเพื่อสร้าง Tech Startup โดยตรง ตรงนี้มีการพูดถึงคุณกระทิง ที่ได้ก่อตั้ง Disrupt University ขึ้นมา เป็นการนำเอาองค์ความรู้จาก Silicon Valley ส่งตรงมาถึงคนไทยครับ ก็เป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่เราคนไทยทำได้เลย (เห็นมั้ยไม่ต้องรอใคร เราก็ทำเองได้) นอกจากนี้ยังมีการมองถึงว่าเราน่าจะไปกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไหนในประเทศไทย สร้างอีกคณะนึงขึ้นมาเพื่อผลักดันเรื่องนี้โดยตรงเลยก็เป็นได้
ก็ขอจบเอาดื้อๆแบบนี้ละกันครับ การเขียนบทความของผมอาจจะดูวกวนไปบ้าง เพราะไม่ได้มานั่งเรียบเรียงใดๆ เขียนเอาจากที่จำได้และในความคิดของผม ขอบคุณที่อ่านมาถึงจุดนี้ครับ เราเองก็ช่วยนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าได้ครับ ช่วงกันคนและแรงแข็งขัน รวมๆกันก็ 70ล้านแรงแล้วครับ 😀
ถือโอกาสขอถ่ายรูปคู่กับท่านอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศไทย