ยุคนี้ใครๆก็พูดถึงการค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ยิ่งปีที่ผ่านมาข่าวคราวเกี่ยวกับการเข้ามาตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย และอาเซียนยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้น จากรายงานผลการสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2559 มีมูลค่า 2.56 ล้านล้านบาท โดยกว่าครึ่ง เป็นมูลค่าในธุรกิจ B2C ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนแล้ว นับว่าประเทศไทยมีมูลค่าเป็นอันดับ 1 (B2C) รองลงมาคือ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ จากตัวเลขข้างต้นนี้ พอจะบอกกับเราได้ถึงความสำคัญของอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งด้วยคุณสมบัติหลายอย่างของอีคอมเมิร์ซเองก็สนับสนุนให้เกิดการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แล้วทำไมต้องทำอีคอมเมิร์ซ ทำไมต้องออนไลน์ ลองมาดูโอกาสและความท้าทายในการทำอีคอมเมิร์ซกันครับ
โอกาส
ต้นทุนต่ำ
ในฝั่งของผู้ประกอบการ หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเปิดร้าน การทำอีคอมเมิร์ซย่อมมีการลงทุนต่ำกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ทั้งสำหรับการเริ่ม และการขยายธุรกิจ อีคอมเมิร์ซไม่ต้องเสียค่าก่อสร้าง ค่าตกแต่งร้าน สามารถเปิดเว็บไซต์ได้ภายในไม่กี่วัน ทั้งยังประหยัดค่าใช่จ่าย อย่างค่าน้ำค่าไฟ ค่าแรงจ้างพนักงานเฝ้าร้าน ลดภาระในการดูแลเงินสด เพราะการชำระเงินโดยส่วนใหญ่จะเป็นการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ (โอนเข้าบัญชีโดยตรง หรือตัดยอดผ่านบัตรเครดิต / เดบิต)
สร้างรายได้เพิ่มได้ไม่จำกัด
การอยู่บนออนไลน์ทำให้ธุรกิจมีร้านค้าเสมือนที่ไม่มีวันปิด ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดทางพรมแดน เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้จากลูกค้าทั่วทุกมุมโลก ทำให้ลูกค้าไม่ได้ถูกจำกัดระดับชุมชน หรือในประเทศอีกต่อไป เพียงแค่เราทำเว็บไซต์ให้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การชำระเงิน และการจัดส่งสินค้า จะเพิ่มโอกาสให้เราได้ครับ
ใช้เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการขาย
ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับสินค้าขายดี การเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อใช้ส่งเสริมการขายในครั้งต่อไปอย่างตรงความต้องการเฉพาะบุคคล ให้บริการได้ตลอดเวลา ด้วยการใช้ chatbot เข้ามาช่วยตอบคำถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง แทนที่จะต้องจ้างพนักงานประจำเพื่อคอยให้บริการตอบคำถามแก่ลูกค้า
ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่
ในด้านความสะดวกสบาย ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะสามารถประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังให้ข้อมูลเพื่อการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อได้
แต่ทั้งนี้ ความท้าทายของตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจไม่แพ้กันครับ
ความท้าทาย
การแข่งขันสูง
ทั้งจากรายใหญ่ รายย่อยที่มีจำนวนมาก ยิ่งการแข่งขันจากยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Alibaba ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ด้วยการซื้อ Lazada และ JD ที่จับมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยประสบการณ์ และเงินทุนที่มากกว่า อีคอมเมิร์ซในประเทศอย่างเรา จำเป็นต้องหาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อสร้างความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นของตัวสินค้า หรือการจับกระแสผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
การหาลูกค้า
ความสามารถในการดึงดูดลูกค้า ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 51 ล้านคน บนโซเชียลมีเดีย จากจำนวนประชากรในประเทศไทย 69.11 ล้านคน อีคอมเมิร์ซควรเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ความเห็นบนโซเชียลมีเดีย หรือ พฤติกรรม ค้นหาข้อมูลก่อนซื้อ เพื่อที่จะสร้างคอนเทนต์ให้เหมาะสม รวมถึงการทำ SEO เพื่อดึงทราฟฟิกเข้ามายังเว็บไซต์ให้มากยิ่งขึ้น
ความน่าเชื่อถือของธุรกิจ
ความน่าเชื่อถือในที่นี้รวมถึงความน่าสนใจ รูปแบบหน้าตาเว็บไซต์ ข้อมูล ความเสถียร ความเร็วในการเข้าใช้งาน และระบบการชำระเงินออนไลน์ ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าตั้งแต่เข้ามายังหน้าเว็บ ระหว่างดูข้อมูลสินค้า ไปจนถึงขั้นตอนการตัดสินใจซื้อ และชำระเงิน ทุกขั้นตอนควรถูกออกแบบเพื่อการใช้งานที่ง่าย และสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยในการใช้งาน
บริการจัดส่ง
การจัดส่งเป็นหัวใจสำคัญของอีคอมเมิร์ซ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการจัดส่งถึงบ้าน ทำให้การจัดส่งนับเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และต้องบริหารต้นทุนส่วนนี้ ด้วยการเลือกใช้บริการจัดส่งให้เหมาะสม บางธุรกิจที่ต้องเน้นความรวดเร็ว การจัดส่งภายใน 1 วันนับเป็นเรื่องจำเป็น ในขณะที่สินค้าบางประเภทที่ไม่เน่าเสีย อาจสามารถเลือกใช้บริการจัดส่งสินค้าที่ราคาถูกลงเพื่อเพิ่มการแข่งขันทางด้านราคา
การขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ ร่วมกับการใช้ต้นทุนต่ำในการเริ่มธุรกิจ ทำให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือรายย่อย การดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้อยู่รอดจึงดูเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าตอนเริ่มต้นเสียอีก อีคอมเมิร์ซจึงจำเป็นต้องเข้าใจผู้บริโภค รู้เท่าทันพฤติกรรม ตามเทรนด์ให้ทัน และรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์ของธุรกิจให้เหมาะสมครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์