ในปีนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย (Mobile Life) ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมเห็นมาตลอดในการพัฒนาเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา โดยมีสถิติผู้เข้าใช้งานเพิ่มขึ้นตลอดในแต่ละปี และเห็นว่ากราฟนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือในปี 2016 ที่ผ่านมานั้น จำนวนการเข้าใช้งานเว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์มือถือโตขึ้นกว่า 106.48% เมื่อเทียบกับปี 2015 บ่งบอกได้อย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน….
“เล่นเน็ตผ่านมือถือ”
เชื่อไหมครับว่า ตัวเลขที่ผมได้เกริ่นไว้สอดคล้องกับสถิติของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และจำนวนชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยต่อวัน เปรียบเทียบตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่สรุปผลโดยสำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งพบว่าจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดนั้น มีผู้เข้าใช้โดยสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึง 5% และมีการใช้งานเฉลี่ย 6.2 ชั่วโมงต่อวัน และปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาเกือบทุกคนเลือกที่จะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ตขึ้นมาก่อนที่จะหยิบแปรงสีฟันซะอีก และในการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆภาพที่ทุกคนได้เห็นกันอย่างคุ้นตาก็คือภาพที่คนส่วนใหญ่จ้องไปยังหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนการพูดคุยกัน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งก่อนเข้านอนก็ยังหนีไม่พ้นที่จะวางมันเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนหลับตาลง ไม่ว่าจะใช้มือถือในการหาข้อมูล เพื่อความรู้ ความบันเทิง ทำธุรกรรมทางการเงิน อ่านอีเมล์ ทำงาน ตลอดจนการซื้อสินค้าออนไลน์ต่างๆ เราต่างก็ใช้มือถือเพื่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย สำหรับผู้ประกอบการ ในกรณีนี้สิ่งที่คุณควรให้ความสนใจลำดับต่อไปก็คือ นักช้อปใช้มือถือทำอะไรบ้าง ขณะช้อปปิ้ง
“มือถือ ตัวช่วยก่อนตัดสินใจซื้อ”
ผลสำรวจเชิงลึกของ Marketbuzzz พบว่าในขณะที่ผู้บริโภคกำลังเลือกหาสินค้าในร้านค้าอยู่นั้น มีนักช้อปจำนวนมากถึง 77% ใช้มือถือในการค้นหาสินค้าอื่นๆ ไปด้วย และก็มีนักช้อปจำนวน 56% ใช้มือถือเพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้า ในขณะที่อีก 47% กำลังติดต่อร้านค้าหรือแบรนด์สินค้าผ่านทางโซเซียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักช้อปพยายามใช้ประโยชน์จากมือถืออย่างเต็มที่ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่เคยเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเช่นนี้มาก่อนเลย นอกจากนั้น แหล่งข้อมูลบนมือถือที่นักช้อปเหล่านี้ใช้ขณะที่อยู่ในร้านค้า 35% คือการใช้เครื่องมือสืบค้น (Search Engines) เพื่อการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา ทั้งจากการหาข้อมูลด้วยตนเอง และจากเว็บไซต์ที่ให้บริการรวบรวมสินค้า ราคาสินค้า จากหลากหลายร้านค้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกสบายก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของนักช้อปสมัยใหม่
“นักช้อป Gen-M ชอบเปรียบเทียบราคา”
ถามว่าทำไมนักช้อปยุคนี้ จึงสนใจและมีพฤติกรรมในการเปรียบเทียบราคา อาจารย์ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาศัย ซึ่งเป็นกูรูในวงการดิจิทัลท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นไว้ในงาน Priceza Awards 2016 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า
“คนรุ่นใหม่หรือ Gen-M มีความสนใจในเรื่องของการเปรียบเทียบราคาเป็นสำคัญ ส่วนการตัดสินใจซื้อจะมาจากหลายองค์ประกอบรวมกัน ทั้งเรื่องราคา ความน่าเชื่อถือของร้าน ชื่อเสียง รีวิวและความมั่นใจในตัวของผู้ขายมากกว่าที่จะดูเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว แล้วที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ถ้าจะซื้ออะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือ the best ในกลุ่มของตนเอง”
รู้อย่างนี้แล้ว อะไรกันละครับที่ผู้ประกอบการควรทำ เพื่อปิดการขายให้ได้ทันที โดยไม่ต้องให้ลูกค้าในอนาคตของเรา กลายไปเป็นลูกค้าของคู่แข่งแทน….
-
การให้ข้อมูลสินค้า
ควรให้ข้อมูลสินค้าอย่างครอบคลุมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ณ จุดขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
-
การเปรียบเทียบราคา
ถ้าสามารถการันตีราคาได้ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ไม่ยาก
-
การเปรียบเทียบแบรนด์ต่างๆ
เพื่อให้ลูกค้าได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการ
-
การรีวิวสินค้าจากผู้ใช้ตัวจริง
จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากมีการแชร์ประสบการณ์จากลูกค้าที่ใช้งานจริง
ทั้งหมดนี้ หากผู้ประกอบการสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และสื่อสารผ่านจุดขาย (Point of Purchase) การปิดการขายก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์