ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ การจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลของ USA ล้วนเกิดจากธุรกิจไฮเทค เช่น Apple, Amazon, Google, Salesforce, VMware, Facebook, Twitter, Groupon, Zynga ลองนึกดูว่า GDP ของ USA เท่ากับ $15 trillion ถ้าลองนับเฉพาะเก้าบริษัทนี้ที่เพิ่งเกิดมาในช่วงไม่ถึง 15 ปีที่ผ่านมา แต่กลับสามารถสร้าง GDP ให้เกือบ $1 trillion! โลกเราเกิดอะไรขึ้น? ทำไมบริษัทที่เพิ่งแจ้งเกิดมาได้ไม่นานกลับเป็นตัวขับเคลื่นเศรษฐกิจของ USA ได้เยอะถึงขนาดนี้? คำตอบคือโลกเราตอนนี้กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มาสู่การปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ (Information Revolution) โลกเราตอนนี้มีผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านคน และมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนอีกหลายพันล้านคนและมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการมาของยุคข้อมูลสารสนเทศอย่างแท้จริงโลกเรากำลังเกิดอะไรขึ้น? คือคำถามที่ผมตั้งถามตัวเอง… ผมเลยศึกษาหาข้อมูลต่อถึงเรื่องของ “โลกาภิวัตน์” (Globalization) และทำให้ผมได้มาอ่านบทสรุปของหนังสือ “The World Is Flat” ซึ่งผมได้ยินชื่อหนังสือนี้มานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน ผมขออนุญาตสรุปใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้มาจากบทความของ dr-ammy ครับจากบทความนี้ครับ https://www.gotoknow.org/posts/308285
หนังสือ The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-First Century โดย Thomas L. Friedman เป็นหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเล่มหนึ่งของโลก ภายหลังการออกวางจำหน่ายเมื่อกลางปี ค.ศ. 2005 และยังมีการนำมาแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยด้วย
ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์วิถีของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ หรือตอนต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งหากดูจากชื่อหนังสือแล้ว (หนังสือแปลฉบับภาษาไทยตั้งชื่อว่า “ใครว่าโลกกลม”) จะเห็นได้ว่า เป็นการเปรียบเปรยว่าผู้เขียนมองเห็นโลกเป็นสนามแข่งขันทางการค้าที่มีระนาบแบน ไม่ได้กลมเหมือนความเป็นจริง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าๆกัน
ถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจะขยายวงกว้างไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าและการลงทุนในภาพรวม และสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบทุนนิยมในระยะยาว แต่ dr-ammy ก็ยังเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคุณค่าต่อการศึกษาความเป็นไปของการแข่งขันภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ที่แทบทุกประเทศได้เข้าไปร่วมวงไพบูลย์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนทุกชนชาติ ไม่ว่าจะอยากให้เกิดขึ้นกับตนหรือไม่ก็ตาม
ความหมายของ The World Is Flat
ผู้เขียนอธิบายว่า ในปี ค.ศ. 1492 เมื่อ Christopher Columbus เดินเรือเพื่อหาเส้นทางไปทวีปอินเดีย แต่ด้วยความผิดพลาดโดยบังเอิญไปพบทวีปอเมริกา Columbus มีประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนั้นว่าโลกกลม แต่ในปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ที่อินเดียเป็นศูนย์กลางของ Business Process Outsourcing (BPO) ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับเขียน Software กรอกแบบภาษี วิเคราะห์ผล X-ray ติดตามกระเป๋าเดินทางที่สูญหายให้แก่สายการบิน โดยให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกผ่านทาง Internet ส่วนประเทศจีนมีแรงงานที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นหลายพันคนกำลังให้บริการ BPO แก่บริษัทต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาเอง รูปปั้น Virgin of Guadalupe ที่ชาวเม็กซิกันนับถือและวางขายอยู่ในประเทศเม็กซิโกนั้นขณะนี้ทำจากประเทศจีน ประสบการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่แบน และผลที่เกิดขึ้นก็คือการเผชิญหน้ากันในสนามการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน (level playing field)
Friedman ได้แบ่งโลกาภิวัตน์ออกเป็น 3 ยุค คือ
Globalization 1.0 (version 1.0) เริ่มต้นตั้งแต่โคลัมบัสค้นพบดินแดนใหม่ ยุคนี้เป็นการเชื่อมกันระหว่างประเทศ โดยตัวจักรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ กำลังคน กำลังของสัตว์ต่าง ๆ
Globalization 2.0 เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1800 ซึ่งเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการค้นพบเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ พลังเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องจักรที่ใช้น้ำมัน จนกระทั่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ โทรเลข เป็นต้น ทำให้ต้นทุนในการขนส่งและสื่อสารลดลง ยุคนี้จึงเกิดบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation; MNCs) ขึ้น และเป็นโลกที่เชื่อมโยงกันไม่เพียงแต่ระดับรัฐชาติเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงระดับบรรษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ
Globalization 3.0 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2000 Friedman มองว่ายุคนี้เป็นการเชื่อมโยงลงลึกไปถึงระดับปัจเจกบุคคล ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรงผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น การประชุมระหว่างผู้บริหารบริษัทที่อยู่กันคนละทวีป หรือนักศึกษาชาวอเมริกันและชาวนิวซีแลนด์ร่วมกันคิดค้นโปรแกรมโดยไม่เคยเห็นหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียว เป็นต้น
เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้โลกแบน
- 11/9/89 The wall came down and Windows came up วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 (11/9) กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มโลกไร้พรมแดน และหลังจากนั้นอีก 5 เดือน โปรแกรมWindows 3.0 เริ่มวางตลาด
- 8/9/95 People to people connectivity วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1995 บริษัท Netscape เข้าเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งทำให้เกิดสิ่งสำคัญ 3 เรื่อง 1) มี browser ที่ทำให้การใช้ Internet เกิดเป็นที่นิยมทั่วโลก 2) ทำให้มีมาตรฐานที่การติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระบบต่างๆ เกิดขึ้นได้ 3) เกิดกระแส Dot-Com boom จนเกิดการลงทุนในการวางสาย Fiber Optic มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารได้ทั่วโลกโดยต้นทุนการส่งเอกสาร เพลง หรือข้อมูลลดลงอย่างมหาศาล
- Work Flow Software (Application to application connectivity) การที่มีมาตรฐานและการเชื่อมโยงให้เกิดการสื่อสารกันได้ระหว่างผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่างกันและโปรแกรมต่างกันได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน (work flow) อย่างมาก การแบ่งปันความรู้และการร่วมงานกันเกิดขึ้นระหว่างคนที่อยู่ต่างสถานที่ ต่างเวลา ต่างงานกัน อย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
- Open-sourcing เช่น การเปิดให้ใช้โปรแกรม Linux ฟรีแก่คนทั่วไป ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการสร้างสรรค์ (new industrial model of creation) และการร่วมทำงาน เช่น นักศึกษาอายุ 19 ปีของมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับนักศึกษาอายุ 24 ปี ในประเทศ New Zealand พัฒนาโปรแกรม Firefox Web Browser โดยไม่เคยพบตัวกันเลย และโปรแกรมได้มีผู้ download ไปใช้แล้วกว่า 10 ล้านคน
- Outsourcing เป็นรูปแบบใหม่ของการร่วมกันในกระบวนการทำงาน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท สามารถแยกออกไปทำนอกบริษัทในที่อื่นได้
- Offshoring การที่จีนเข้าร่วม WTO กระตุ้นการย้ายฐานการผลิตหรือแยกกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทไปต่างประเทศ (offshoring) ที่มีต้นทุนถูกกว่ามากขึ้น
- Supply Chaining การบริหารห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก บริษัท Wal-Mart ซื้อของจากประเทศจีนเป็นมูลค่าอันดับที่ 8 เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าของจีน (มากกว่าการส่งออกของจีนไปแคนาดาหรือออสเตรเลีย)
- Insourcing คือการที่บริษัทเข้าไปทำงานต่าง ๆ ในบริษัทอื่น เช่น UPS ซึ่งขณะนี้รับทำงาน logistics ให้กับหลายบริษัท การดูแลและให้บริการแก่ลูกค้าซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Toshiba หรือการให้บริการลูกค้าสั่งซื้อรองเท้าทาง nike.com นั้นจะดำเนินการโดย UPS ตั้งแต่การตอบโทรศัพท์ ซ่อมของ ห่อของ ส่งของจนถึงการเก็บเงิน
- In-forming เราสามารถหาข้อมูลให้ตัวเองได้อย่างง่ายดายจาก Internet และ search engine เช่น Google
- The Steroids Wireless and Voice over the Internet เป็นเครื่องมือที่เหมือนยาชูกำลังที่จะทำให้การร่วมงานในรูปแบบต่างๆ ทำได้โดยมีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากเราจะสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย
ทั้ง 10 เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกแบนขึ้นและเรียกปัจจัยเหล่านี้ว่า “flatteners”
Triple Convergence
ประมาณปี ค.ศ. 2000 มีการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องเกิดขึ้นซึ่งเป็นกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไปในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
(1) First Convergence ได้แก่ การที่ flatteners ทั้ง 10 ประการได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น informing มีผลต่อ outsourcing; outsourcing มีผลต่อ insourcing; insourcing มีผลต่อ offshoring เป็นต้น ซึ่งเป็นกระบวนการร่วมและแลกเปลี่ยนงานและความรู้กันทั่วโลกโดยไม่ขึ้นกับความแตกต่างระหว่าง เวลา ระยะทางหรือแม้กระทั่งภาษา
(2) Second Convergence ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแนวราบ (horizontal) การค้นพบกระแสไฟฟ้าในระยะแรกยังไม่ได้ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงโรงงานกระบวนการผลิต และพฤติกรรมการทำงานของคนจากที่เคยคุ้นเคยกับเครื่องจักรไอน้ำ ถ้าเปรียบเทียบกับในปัจจุบันสิ่งที่กำลังเพิ่งเริ่มต้นก็คือการที่คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากแนวตั้ง คือ command and control value creation models มาเป็น connect and collaborate horizontal value creation model
ตัวอย่างเช่น ในยุค globalization 1.0 การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจะต้องซื้อผ่านบริษัทจำหน่ายบัตรโดยสารซึ่งให้บริการลูกค้า ยุค globalization 2.0 เริ่มมีเครื่องขายอัตโนมัติที่สนามบินที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ด้วยตนเอง ส่วนยุค globalization 3.0 ลูกค้าสามารถซื้อผ่าน internet และสั่งพิมพ์บัตรโดยสารเองที่บ้านและนำไปขึ้นเครื่องบินได้เลย นั่นคือลูกค้าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแนวราบ โดยทำงานแทนพนักงานของบริษัทด้วยทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและจะเกิดขึ้นอีกมากมายต่อไปในโลก
(3) Third Convergence ได้แก่ การที่มีคนอีก 3 พันล้านคนจากจีน อินเดีย และรัสเซีย เข้ามาร่วมแข่งขันในโลกที่แบนขึ้น ถ้าเพียงแค่ร้อยละ 10 ของประชากรนี้ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็มากกว่าจำนวนแรงงานของสหรัฐถึงสองเท่า
ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country)
การปฏิรูปในระดับมหภาคดังเช่นในอดีต ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการส่งออก แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดเสรีการเงินปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน ลดการอุดหนุนจากรัฐบาล ลดการปกป้องทางภาษีการค้า สร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน และ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศสามารถอยู่รอดในโลกแบนที่มีการแข่งขันสูง
ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในระดับจุลภาค โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนคนในประเทศจำนวนมากที่สุดให้สามารถสร้างนวัตกรรม เป็นผู้ประกอบการ จัดตั้งบริษัท เข้าถึงทุน เผชิญการแข่งขัน และเป็นที่ต้องการของคนในที่ต่างๆในโลกที่จะเข้ามาร่วมงานกัน (collaborate) ทั้งนี้การปฏิรูปดังกล่าว จะต้องมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ท่าเรือ สนามบิน และ โครงข่ายโทรคมนาคม เป็นต้น
- กฎระเบียบ ที่สนับสนุนและไม่ขัดขวางวัตถุประสงค์ข้างต้น
- การศึกษา ทั้งโอกาสและคุณภาพ
- วัฒนธรรม ประเทศที่สามารถเปิดรับแนวคิดและการปฏิบัติที่เป็น best practice จากต่างประเทศและปรับเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ เช่น สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และ จีน เป็นต้น จึงจะมีโอกาสของความสำเร็จสูง นอกจากนี้การร่วมงานกัน ต้องมีความไว้ใจระหว่างกัน ซึ่งต้องการความอดทน และการยอมรับในความแตกต่าง (culture of tolerance)
(4 องค์ประกอบนี้ เทียบได้กับกรอบความคิดจาก McKinsey ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ควรประกอบไปด้วยการพัฒนา 4 ด้านหลักๆ คือ Human capital, Financial capital, Infrastructure และ Business environment ครับ)
นอกจากองค์ประกอบทั้ง 4 ยังมีสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้บางประเทศ เช่น เกาหลีและไต้หวันประสบความสำเร็จในการปรับตัว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์ และ ซีเรีย ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การมีผู้นำในสังคมที่มีวิสัยทัศน์และความตั้งใจในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง และพลังของสังคมที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาประเทศ ชาวจีนขณะนี้ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ผลิตรถ GM ได้ แต่ต้องการจะเป็นบริษัทอย่าง GM และเข้ามาแทนที่ GM ในธุรกิจรถยนต์ให้ได้ การปฏิรูประดับจุลภาคที่สำเร็จต้องการแนวร่วมที่มีความหลากหลายและมีจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ยาก และท้าทายกว่าการปฏิรูประดับมหภาคที่ผ่านมาในอดีต
บทสรุปในมุมมองผมเอง
ผมชอบคำพูดของคุณมาร์ค (อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ) ในบทความนี้ “ไม่ว่าชอบหรือไม่ โลกาภิวัฒน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคืออยู่ร่วมกับมันอย่างชาญฉลาดและรู้ทัน”
ในชีวิตผมตั้งแต่เรียนจนทำงาน ล้วนได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์อยู่อย่างมีนัยสำคัญตลอดเวลา…
- Computer จอสีที่ผมใช้เครื่องแรก เป็นยี่ห้อ Acer ที่ผลิตจากไต้หวัน
- ผมเรียนรู้การทำงานของ Computer เริ่มที่ระบบปฏิบัติการ DOS ที่สร้างโดย Bill Gates ที่ได้แนวคิดมาจาก IBM ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นที่ USA
- เวลาจะศึกษาหาข้อมูล ผมก็ใช้ Google เป็นเครื่องมือหลักในการค้นคว้าหาข้อมูล และแน่นอน Google พัฒนาโดยบริษัทใน USA
- ผมเริ่มทำ Priceza ตั้งแต่ปี 2010 เป็นบริษัทไทยที่ได้รับเงินลงทุนจากชาวต่างชาติในปี 2013 คือจาก CyberAgent Ventures ที่เป็น Venture Capital Fund ของประเทศญี่ปุ่น แต่กองทุนนี้ไปจดทะเบียนตั้งอยู่ที่ Cayman Islands!!
- ล่าสุดปี 2016 Priceza ก็ได้รับเงินลงทุนอีกก้อนจากบริษัทสื่อเยอรมัน Hubert Burda Media เข้ามาลงทุนในบริษัของผมที่เป็นบริษัทคนไทย
จะเห็นว่า ถ้าประเทศไทยไม่เปิดรับการค้าเสรีแบบทุนนิยม หรือโลกาภิวัตน์ ไม่เปิดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน ไม่เปิดรับเทคโนโลยีของต่างชาติ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นได้เลย ประเทศไทยอาจจะเป็นเหมือนประเทศเกาหลีเหนือในปัจจุบัน
ไม่ว่าคุณจะชอบโลกาภิวัตน์หรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้คุณกำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง ลองดูเสื้อผ้าที่คุณใส่ รองเท้าที่คุณสวม สมาร์ทโฟนที่คุณใช้ แล้วคุณจะรู้ว่าคุณหนีมันไปไม่ได้หรอก!!
ในมุมของประเทศกำลังพัฒนา โลกาภิวัตน์มีทั้งข้อดีและข้อเสียหลายอย่าง แต่ผมเชื่อว่าถ้าประเทศเราพัฒนาไปในทางที่ถูก หาจุดแข็งของเราให้เจอ เน้นสร้างจุดแข็งของเราให้แข็งแกร่ง พัฒนาคนของประเทศเราให้เก่งทัดเทียมต่างชาติ ประเทศไทยสามารถที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมกันกับต่างชาติบนโลกแบนๆนี้ได้ครับ
One thought on “โลกแบนขึ้นเรื่อยๆ และการมาของยุคปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศ”