อินไซด์ “สตาร์ทอัพ” รู้ก่อน “เกิด” และ “ก้าว” สู่ AEC

 

หากไลฟ์สไตล์ปัจจุบันยังคงเผชิญกับปัญหาสารพัด หากโลกยังมีเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เมื่อนั้นประตูสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ยังคงเปิดกว้างอยู่เสมอ

จริงอยู่ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้น เติบโต และคงอยู่ จะมีอยู่น้อยมาก แต่สถานการณ์เปลี่ยน โลกย่อมเปลี่ยน ในเมื่อสตาร์อัพรุ่นพี่ ได้บุกเบิกบนเส้นทางโดยผ่านการเรียนรู้และบททดสอบมากมาย จึงช่วยให้รุ่นน้องที่กำลังเดินตามมาติดๆ ได้ก้าวเดินบนเส้นทางที่นุ่มนวลและไร้ขวากหนามมากขึ้น… และต่อไปนี้ คือเส้นทางของ “รุ่นพี่” จากการเสวนาโต๊ะกลม ระดมความคิดนักธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำ ณ ศูนย์  C-asean…

ผู้ร่วมเสวนา ระดมความคิดสตาร์ทอัพ

ผู้ร่วมเสวนา ตำแหน่ง บริษัท  
1 คุณสร้างบุญ แสงมณี Co-founder and Marketing Director Ookbee Co., Ltd. Ookbee
2 คุณสุวัฒน์  ปฐมภควันต์ Co-Founder Skootar Skootar
4 คุณสุพิชญา สูรพันธุ์ CEO บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด Piggipo
5 คุณธนาวัฒน์  มาลาบุปผา CEO & CO-FOUNDER Priceza Co.,Ltd. Priceza
6 คุณรังสรรค์  พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท วายเอ็มเอ็มวาย จำกัด YMMY
7 คุณกิตตินันท์  อนุพันธ์ CEO บริษัท เอนนี่แวร์ ทูโก จำกัด Claim Di
8 คุณมาริสรา ศัตรูลี้ FOUNDER FABRIC CREATION Marisara​
9

10

คุณธกานต์ อานันโทไทย

คุณชื่นชีวัน วงษ์เสรี

COO & CO-FOUNDER Globish Academia Academia (Thailand) Co.,Ltd. Globish Academia Academia
11 คุณคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ CEO บริษัท รักดี คราวด์ฟันดิ้ง จำกัด Ruckdee

“การล่าอาณานิคมยุคใหม่ คือ จำนวนการเข้าถึงผู้ใช้ในโลกไซเบอร์ เรือรบในปัจจุบัน คือ การเข้าใจและการได้ใจผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ” Priceza

start up talk_2372

“สตาร์ทอัพสปิริต คือ ความพยายามในการแก้ปัญหา การไม่ยอมแพ้ในการหาทางออกอยู่เสมอ ผมว่านี่เป็น mindset ที่สำคัญ” Ookbee

“เรารู้นะว่าภาษาอังกฤษมันยาก เรารู้นะว่าการเรียนภาษาในห้องเรียนมันน่าเบื่อ เราจึงสื่อสารกับลูกค้าว่าเราเข้าใจเค้า แทนที่จะบอกว่าเราเก่งกว่าคนอื่นอย่างไร” Globish Academia

“บางคนจ่ายเงินมาแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าสินค้าเราเป็นอะไร แต่เขาเชื่อเรา เชื่อว่าเราจะสร้างความแตกต่างในสังคม เขาก็พร้อมจะมาเป็นผู้ใช้ของเรา” Globish Academia

 “สำหรับผม สตาร์ทอัพ คือ ห้องทดลองจริงๆ ที่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนฉับไว” QueQ

Startup ต้องเข้าใจ Key success ของธุรกิจตัวเอง ซึ่งสิ่งสำคัญของธุรกิจ Fintech คือ Trust จากลูกค้า” Piggipo

“กลยุทธ์ของสตาร์ทอัพ คือ ต้องโฟกัสว่าลูกค้าเราคือใคร” Skootar

“กระแสสตาร์ทอัพทำให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มคนที่สนใจ เป็นเวทีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ” ClaimDi

“วิธีการมองนักลงทุนสำหรับผม คือ นักลงทุนที่จะไปกับผม ผมอยากให้เค้ามองที่แรงบันดาลใจ (passion) ที่ผมกับเค้าสามารถแชร์ร่วมกันมากกว่าการทำกำไรให้ได้มาก ๆ”  Ruckdee

สตาร์ทอัพ -แก้ปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ

เรียนภาษาอังกฤษด้วยวิธีเดิมๆ แต่พูดไม่ได้ – รอคิวร้านอาหารนาน เวลาที่เสียไปช่างน่าเบื่อ – อยากซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สักหนึ่งชิ้น แต่ไม่รู้ว่าได้ราคาที่ดีที่สุดหรือไม่ คนขายเชื่อใจได้ไหม – ชอบอ่านหนังสือ อยากเอาหนังสือติดตัวไปอ่านทุกที่ แต่หนังสือที่แบกไปด้วยมีน้ำหนักมากเกินไป – เป็น SMEs ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แต่บางทีก็มีปัญหากับการจ้างคนส่งเอกสาร ทำให้เสียเวลาในการจัดการคนแทนที่จะได้เอาเวลาไปทำเรื่องที่มีประโยชน์มากกว่า ฯลฯ

ปัญหาเดิมๆ เหล่านี้ฟังดูคุ้นเคยหรือไม่ แม้กระแสโลกาภิวัตน์และความเจริญก้าวหน้าต่างๆ จะไปไกลมาก ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แต่ยังคงอยู่และดูเหมือนจะหนักหนาขึ้นเสียด้วย การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เคยได้ผล กลับไม่ได้ผล แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เปิดโอกาสให้เรามีทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหา และนี่เองคือจุดกำเนิดของสตาร์ทอัพ ธุรกิจแนวใหม่ที่สร้างกระแสตื่นตัวไปทั่วโลกและเมืองไทย โดยสินค้าที่ทำออกมาก็คือ Software หรือ แอปพลิเคชันเพื่อแก้ปัญหานั่นเอง

เบ่งบานเพราะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

เพราะจุดมุ่งหมายเริ่มต้นของสตาร์ทอัพ คือ การเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในโลก ดังนั้นสตาร์ทอัพก็เปรียบเสมือนห้องทดลอง ที่ใช้ในการสร้างผลิตภัณท์เพื่อแก้ปัญหาของลูกค้าในกลุ่มที่สตาร์ทอัพนั้นๆ สนใจ ยกตัวอย่าง Globish Academia ภายใต้แนวคิด “ภาษาอังกฤษแนวใหม่ใครๆ ก็พูดได้” เป็นสตาร์ทอัพในกลุ่ม Edtech น้องใหม่ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน (Coach) กับนักเรียนบนเว็บไซต์ โดยที่ผู้สอนกับนักเรียนไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ผู้ใช้หรือลูกค้าของ Globish Academia ส่วนมากมีปัญหากับการเรียนภาษาอังกฤษที่เน้นแต่แกรมม่า ที่ทั้งยากทั้งน่าเบื่อ ทำให้ผู้เรียนท้อแท้และในที่สุดก็ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ platform ที่ใช้ในปัจจุบันของ Globish Academia มีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์ ซึ่งช่วยให้สามารถฝึกพูดกับตัวเองโดยวิดีโอคอล ขณะที่ทางเว็บไซต์ จะเป็น booking platform มีการจับคู่กันระหว่างโค้ชกับนักเรียน โดยโค้ชจะมาลงเวลาที่สะดวกในการสอนเอาไว้ ส่วนนักเรียนก็สามารถมาเลือกเวลาเรียนได้ 24 ชั่วโมงตามความสะดวกโดยกดปุ่มเข้าไปพบโค้ช

สำหรับ QueQ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข คือ เวลาที่ลูกค้าต้องเสียไปกับการนั่งรอคิวรับประทานอาหาร QueQ ไม่ได้ใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมที่มุ่งเน้นสร้างระบบการจัดการเทคโนโลยี (IT Solution) ให้กับเจ้าของร้านอาหาร แต่ QueQ สนใจช่วยบริหารเวลาสำหรับลูกค้า เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอนานๆ

ขณะที่การแก้ปัญหาของ Priceza เริ่มมาจากปัญหาส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องเปรียบเทียบราคาสินค้าจากร้านค้าต่างๆ จึงคิดว่าน่าจะมี platform ที่จะช่วยรวบรวมราคาสินค้าของผู้จำหน่ายเข้าไว้ด้วยกัน ให้สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าและความน่าเชื่อถือได้ จึงมีการพัฒนา platform นี้ขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันบน IOS และ Android โดยเริ่มที่ประเทศไทยก่อน จากนั้นเมื่อมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน จึงเริ่มขยายตัวไปที่อินโดนีเซียเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายออกไปอีกจนปัจจุบันครอบคลุมถึง 6 ประเทศ

Ookbee ก็คือ E-book เป็นการแก้ปัญหาความเมื่อยล้าจากการพกพาหนังสือเล่มหนา ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการทำ แอปพลิเคชัน E-book สำหรับ Ookbee ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น Ookbee ได้ทะลายข้อจำกัดในวงการสิ่งพิมพ์ด้วยการเปิดโอกาสให้นักเขียนนิยายสามารถตีพิมพ์ผลงานเขียนของตัวเองโดยไม่ต้องผ่านขบวนการสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม

และหากใครกำลังปวดหัวกับพนักงานส่งเอกสารที่ไม่คุ้มกับการจ้างเป็นพนักงานประจำ Skootar คือ แอปพลิเคชันศูนย์รวมของพนักงานส่งเอกสารที่มีประสบการณ์กับงานเอกสารของ SMEs

สำหรับใครที่กำลังมองหาเครื่องมือการจัดระเบียบวินัยทางการเงิน Piggipo คือ แอปพลิเคชันทางด้านการเงิน ที่เรียกกันติดปากว่า FinTech หรือ Financial Technology ช่วยจัดการการใช้บัตรเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดจากการไม่มีระเบียบและวินัยทางด้านการเงินของผู้ก่อตั้งเอง โดยชื่อ Piggipo มาจาก “piggy” หมายถึงกระปุกออมสินรูปหมู กับ “po” มาจากคำ pocket ปัจจุบัน Piggipo มีผู้ใช้ในไทยอยู่ประมาณ 180,000 คน และเป็นแอปพลิเคชันการจัดการกับบัตรเครดิตเจ้าแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบเชื่อมต่อกับธนาคารพาณิชย์

ส่วน Claim Di  เป็น platform สำหรับการเคลมค่าประกันเวลาประสบอุบัติเหตุ ซึ่งจากเดิมที่เวลารถชนกัน คู่กรณีมักจะต้องเรียกและรอบริษัทประกันภัยมาจัดการ แต่ด้วยบริการของ Claim Di ทั้งสองฝ่ายสามารถเคลมค่าประกันโดยผ่านโทรศัพท์มือถือได้เอง

ขณะที่ Ruckdee เป็น Crowdfunding platform หรือการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์สำหรับแพทย์ที่ต้องการทุนวิจัย ซึ่งแต่ก่อนแพทย์อาจจะต้องรอทุนจากโรงพยาบาล แต่ด้วยบริการของ Ruckdee แพทย์สามารถได้รับทุนสนับสนุนจากบุคคลอื่นที่มีความสนใจในหัวข้อวิจัยเช่นด้วยกัน

รอดยาก แต่เกิดแล้วโตก้าวกระโดด

ในความเป็นจริง แม้ว่าสตาร์ทอัพจะมีโอกาสรอดชีวิตต่ำกว่า 10% หรือพูดได้ว่า 90% ของสตาร์ทอัพเกิดใหม่จะต้องปิดตัวลง แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ 10% ที่อยู่รอดก็คือ Scalability หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งการขยายตัวอันรวดเร็วนี้ ยังทำให้สตาร์ทอัพที่ดูใกล้เคียงกับ SMEs แตกต่างจาก SMEs อย่างชัดเจนด้วย

สมัยก่อนเราอาจมองว่ามีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่จะก้าวไปสู่การเป็น multinational company (MNC) หรือบริษัทข้ามชาติได้ แต่ในโลกปัจจุบันสตาร์ทอัพสามารถขยายตัวไปต่างประเทศได้ง่ายมากเนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพที่ถูกทะลายลงด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Disrupted by Internet penetration) ทำให้สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าภายในไม่กี่ปี ในขณะที่ธุรกิจแบบเดิมใช้เวลานับสิบปี ไม่ต้องพึ่งพาการเปิดสาขา อย่างเช่น การขายแฟรนไชส์ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่าง  Priceza ซึ่งในปัจจุบันเปิดบริการพร้อมกันใน 6 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยการเจริญเติบโตในรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

เจาะลึกกลยุทธ์สตาร์ทอัพ

แม้เทคโนโลยีจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพสามารถโตได้เร็วและสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างไร้ขอบเขต ง่ายดาย แต่สิ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพเข้าไปอยู่ในใจผู้ใช้และผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดได้คือ การทำความเข้าใจกับตลาดและปรับบริการให้เข้ากับตลาดนั้นๆ อย่างลงตัว

“วันแรกที่เราเริ่ม platform ของเราเองยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ เราเลยใช้วิธีโทรนัดแล้วเรียนผ่าน skype call เราก็ทดลองไปเรื่อยๆ มันมีจุดที่เรามีครูถึง 200 คนแต่มีนักเรียนไม่ถึง 10 คน เราก็เรียนรู้ที่จะหาสมดุลให้กับธุรกิจของเรา เรียกได้ว่าหาทางออก หาทางแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ ” Globish Academia

ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเป็นธุรกิจที่การแข่งขันสูงมาก และส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสอบ แต่สำหรับ Globish Academia จุดประสงค์หลักก็คือ Practical English หรือเรียนแล้วต้องพูดได้ ภาษาอังกฤษเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้การฝึกฝน การทำความเข้าใจในความหมายของคำเพื่อสื่อสาร ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในห้องเรียนภาษาที่ไม่ได้เป็น one on one หรือ private classroom ซึ่ง Globish Academia ก็สามารถหาหนทางให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้โดยเทคโนโลยี หรือ QueQ ซึ่งมีคู่แข่งเกิดขึ้นภายหลังจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำให้ QueQ แตกต่างก็คือ Solution ที่คิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาลูกค้าที่มาต่อคิวกินข้าวแล้วรอนานจนน่าเสียดายเวลา เมื่อ QueQ ชัดเจนกับสิ่งที่ต้องการทำ การทำการตลาดก็มีความชัดเจนไปที่ร้านอาหารที่มีสาขาเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาคิวลูกค้าที่ต้องรอนานเป็นหลัก

สรุปแล้วกลยุทธ์ที่สำคัญของสตาร์ทอัพก็คือ ต้องโฟกัสว่าลูกค้าของเราคือใคร

ในกรณีของ Skootar การทำ Solution ทำเพื่อลูกค้า SMEs โดยเฉพาะ เพราะเล็งเห็นปัญหาที่ผู้ก่อตั้งเองได้ประสบจากการทำธุรกิจ SMEs มาหลายธุรกิจ ตลอดเวลาหลายปี จึงออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือ ที่เชื่อมโยงลูกค้ากับเครือข่ายแมสเซ็นเจอร์ ที่พร้อมให้บริการในการ รับส่งเอกสาร เก็บเช็ค วางบิล หรือส่งของอื่นๆ ภายในวันเดียวกันทั่วกรุงเทพ และ ปริมณฑล พร้อมระบบติดตามความคืบหน้าและ ระบบการประเมินพนักงานโดยผู้ใช้ตลอดเวลา

สำหรับ Ookbee เทคโนโลยีทำให้สามารถระบุลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างชัดเจน (identify the Personal) ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่าข้อมูล demographic ทั่วไป เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมผู้ใช้บนระบบของ Ookbee ได้ (track a user’s behavior) จึงสามารถทราบได้ว่าผู้ใช้ออนไลน์เมื่อใด อยู่บนระบบนานเท่าใด กดปุ่มอะไรบ้าง แล้วโฆษณาหรือ (ads) ดึงดูดลูกค้าหรือไม่ ควรเปลี่ยนใหม่หรือเปล่า ซึ่งกลายมาเป็นข้อได้เปรียบในการให้บริการลูกค้าได้อย่างตรงใจมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในอีกสองรูปแบบคือ Priceza และ Piggipo

สำหรับ Priceza เนื่องจากดำเนินธุรกิจอยู่ใน 6 ประเทศ ดังนั้น แม้ว่าทิศทางการดำเนินการ สำนักงานใหญ่ที่ประเทศไทยจะเป็นคนกำหนด แต่การพัฒนาเนื้อหา (local content) หรือ ข้อความทางการตลาด (marketing message) กับทีมงานในประเทศนั้นๆ เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย แม้ผู้ใช้แต่ละประเทศจะมีพฤติกรรมในการตัดสินใจเลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเบื้องต้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เปิดรับสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เนื้อหาบนเว็บไซต์และผลิตภัณฑ์เข้ากับผู้ใช้บริการท้องถิ่น อีกทั้งยังต้องเข้ากับวัฒนธรรมและประเพณีในแต่ละประเทศอีกด้วย เช่น ในประเทศอินโดนีเซียประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เว็บไซต์ของ Priceza ก็จะมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้ามุสลิม ร่วมไปถึงสินค้ายอดนิยมในแต่ละเทศกาลด้วย

ในกรณีของ Piggipo การแข่งขันไม่ได้สู้กันเฉพาะกับคู่แข่งเท่านั้น แต่สู้กับความกลัวของ user ด้วย เพราะมันคือความปลอดภัยทางการเงินของผู้ใช้ ดังนั้นการสื่อสาร Product Position จึงชัดเจนและเฉพาะเจาะจง คือ จัดการการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่งจุดนี้เป็นข้อแตกต่างจากคู่แข่ง และยังต้องทำการสื่อสารทางการตลาดกับลูกค้าอีกมากมาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งกรณีนี้ การเป็นพันธมิตรกับธนาคารเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในใจของลูกค้าได้ดี

สร้างแอปพลิเคชันอย่างเดียวไม่พอ…ต้องสร้างแบรนด์ด้วย

นอกเหนือจากการให้บริการที่ “ใช่”กับคนที่ “ใช่” กลุ่มสตาร์ทอัพให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เห็นได้จากเวลาที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไปไหนมาไหน  เขาจะใส่เสื้อ สวมหมวกที่มีโลโก้ มี mascot หรือมีตัวเขียนที่บ่งบอกถึงธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองจนกลายเป็น identity

กลุ่มสตาร์ทอัพมองว่าการสร้างแบรนด์จะช่วยให้บริการเป็นที่น่าจดจำและสามารถเข้าถึงผู้ใช้ให้มากขึ้น เช่นเวลาคนนึกถึง QueQ มักจะนึกถึง mascot ที่เป็นตุ๊กตาสีขาว มีลักษณะสี่เหลียมที่มีหางโผล่ออกมาเล็กๆ เหมือนตัว Q และมีหน้าคนอยู่ตรงกลาง  ในขณะเดียวกัน เวลาคนนึกถึง Claim Di มักจะจำโลโก้สีดำแดง ที่มีรถหน้ายิ้ม 2 คันจอดคู่กันอยู่

ในบางครั้ง โลโก้หรือ mascot ก็เข้ามามีบทบาทต่อการเลือกใช้บริการของสตาร์ทอัพเช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีของ Piggipo ที่พบคีย์อินไซต์ว่า ปัจจัยหลักในการเลือกใช้แอปพลิเคชันการเงิน ผู้ใช้มักให้ความสำคัญต่อการใช้งานว่าง่ายหรือไม่  ดังนั้นผู้ก่อตั้ง Piggipo จึงผูกการนำเสนอแอปพลิเคชันควบคู่ไปกับตัวตุ๊กตา  ที่ให้ความรู้สึกเห็นแล้วน่าลองใช้ ดูน่ารัก ไม่เครียด ซึ่งต่างจากความรู้สึกทั่วไปที่คนมองเรื่องการเงิน เช่นเดียวกับ กรณีของ Skootar ที่พบว่ากว่า 20% ของลูกค้าที่ใช้บริการปัจจุบัน เลือกใช้บริการของ Skootar เพราะโลโก้น่ารัก ทั้งที่ราคาแพงกว่า เป็นต้น

“มองก่อนเลยว่า apps ดูใช้งานง่ายหรือไม่ ทำให้ภาพทางการเงิน soft ลงไม่ซีเรียส เข้าถึงได้ง่าย และกล้าใช้ app เรามากขึ้น” Piggipo

“ลูกค้าบอกโลโก้เราน่ารัก สีน่ารัก ใช้แอพฯ เพราะความน่ารักของเรา” Skootar

“บางคนจ่ายเงินมาแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าสินค้าเราเป็นอะไร แต่เขาเชื่อเรา เชื่อว่าเราจะสร้างความแตกต่างในสังคม เขาก็พร้อมจะมาเป็นผู้ใช้ของเรา” Globish Academia

“แรกเริ่มเราก็วางแผน เพราะเรียน MBA มา แต่ต้องฉีกแผนเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมา สตาร์ทอัพ คือ ห้องทดลองจริงๆ ดังนั้นรูปแบบและเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้จะต้องแสดงผลการตอบสนองของตลาด (market response) ได้อย่างรวดเร็ว” Ookbee 

โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางด้านข้อมูลข่าวสาร (information) การล่าอาณานิคมยุคใหม่คือ การล่าผู้ใช้ไซเบอร์ เรือรบยุคใหม่ คือ เครื่องมือที่เข้าถึงใจลูกค้า บนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงภายในเสี้ยววินาทีอย่างชาญฉลาด และวันไหนที่เราดึงดูดผู้ใช้ในประเทศนั้นได้ ประเทศนั้นคืออาณานิคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทย AEC หรือทั่วโลก

สตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจอนาคต เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอล และเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่ของเศรษฐกิจตลอดจนสังคมไทย เพราะนอกจากความเร็วในการเติบโตทางธุรกิจ โอกาสทางการตลาดข้ามพรมแดนแล้ว กระแสสตาร์ทอัพยังกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับทางด้านการศึกษา และด้วย Spirit of Startup ที่ว่าทุกปัญหามีทางออกดังนั้น “อย่า” หยุดแก้ปัญหา ซึ่งหากวิธีการคิดในแบบสตาร์ทอัพได้ถูกถ่ายทอดออกไปในมุมกว้างและ ยังคงดำเนินต่อไป…

เราคงจะได้เห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นในประเทศได้อย่างแน่นอน

One thought on “อินไซด์ “สตาร์ทอัพ” รู้ก่อน “เกิด” และ “ก้าว” สู่ AEC

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s