หลายปีมานี้ครับที่ผมได้ยินคำว่า “Data is the new oil” ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลในโลกยุคปัจจุบันเปรียบเทียบกับแหล่งพลังงานยุคก่อนอย่างน้ำมัน ซึ่งผมมองว่า การที่เรามีข้อมูลมหาศาลแต่ไม่เคยได้นำมาวิเคราะห์เลย ก็เหมือนกับมีบ่อน้ำมันที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
“ข้อมูล” มูลค่าที่เพิ่มขึ้น
บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทำเงินได้มหาศาลจากการใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงทุกอย่างในทุกๆวัน ศตวรรษนี้บริษัทที่จัดการข้อมูลน้ำมันยุคดิจิตอลได้อยู่หมัด ได้แก่ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Amazon, Apple, Facebook และ Microsoft เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรกในโลก การเข้าถึงข้อมูลของบริษัททั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นส่งผลให้พวกเขาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ก้าวหน้าอย่างไม่มีขีดจำกัด
ในยุคนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ข้อมูล” ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาแปลงเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆ อย่างที่บริษัทระดับโลกทำกัน และทำให้มูลค่าของข้อมูลนั้นเพิ่มขึ้นได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Google เอง ที่รวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้บริการ นำมากำหนดเป็นเป้าหมายในการโฆษณาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโฆษณาให้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ครับ ข้อมูลที่ได้จากผู้ใช้บริการยังนำไปใช้สำหรับ AI (Artificial Intelligence) สร้างเป็นระบบการรู้คิด และเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาบริการต่างๆ ให้ตอบสนองต่อประสบการณ์ของผู้ใช้บริการแบบจำเพาะเจาะจง (Personalized Marketing) อีกด้วยครับ
ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “ข้อมูล”
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ถ้าเรามีข้อมูลของลูกค้า แต่เราไม่เคยนำมาแปรผล หรือวิเคราะห์ ก็เท่ากับว่าข้อมูลที่ได้มานั้นไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับเราเลยนะครับ ในการที่เราจะสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งก็คือการที่เรานำข้อมูลในมือมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ นำมาประมวลผล และวิเคราะห์ ต่อยอดให้กับธุรกิจของเรา
หลายท่านอาจมีคำถามว่า จริงๆแล้วเราพร้อมกับยุคข้อมูลนี้กันหรือยัง ลองมาดูผลการสำรวจ Asia Data Culture Study 2016 มุมมองและระดับความพร้อมด้านการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มผู้บริหารองค์กรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ของไมโครซอฟท์ เอเชีย ร่วมกับ เอเชีย อินไซท์ มีข้อมูลน่าสนใจตามนี้ครับ
- ผู้บริหารทั่วเอเชียต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการจัดหางบประมาณและการเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิตอลในองค์กรยังเป็นความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ
- ผู้บริหารชาวไทยมองว่าผู้บริหารระดับซีอีโอคือผู้ที่มีความสำคัญสูงสุดในการพลิกโฉมสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data driven) ให้ประสบผลสำเร็จ
- องค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานในแบบ Data Culture ต้องประกอบด้วย บุคลากรที่มีทักษะ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการทำงานกับข้อมูล ทั้งในด้านนโยบาย เทคโนโลยี เครื่องมือ และความปลอดภัย
ที่มา: Asia News Center
ใช่แล้วครับ ผู้ประกอบการ หรือผู้นำองค์กร เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้ข้อมูลแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร หรือธุรกิจของท่านเองนะครับ เราลองมาดูตัวอย่างกันนะครับว่า หลายๆธุรกิจจัดการกับข้อมูลกันอย่างไรบ้าง
บริหาร “ข้อมูล” ให้เป็นสินทรัพย์
Walmart จัดการ “ข้อมูล” ด้วย Data Café
ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของโลกที่มี Cloud ของตัวเอง ซึ่งประมวลผลข้อมูล 2.5 petabytes (หนึ่งพันล้านล้านไบต์) ทุกชั่วโมง ได้สร้างศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Data Café เปลี่ยนจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ให้ลดลงเหลือไม่ถึงชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้ไวและทันสถานการณ์ ทำให้ไม่ต้องเสียลูกค้าไป นั่นคือประโยชน์มหาศาลที่ทางวอลมาร์ทได้รับ
AliCloud รุกตลาดโลก
AliCloud หนึ่งในธุรกิจของ Alibaba นอกจากจะมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้ว ยังเป็นผู้ให้บริการ Cloud Infrastructure Service อันดับ 5 ของโลก รองจาก AWS, Microsoft, Google และ IBM หลังจากประกาศร่วมมือกับ NVIDIA เพื่อเข้าสู่ตลาดบริการ Deep Learning และ Big Data Analytics บน AliCloud ทั่วโลก ด้วยการนำเทคโนโลยี Data Processing และ Data Security มาปรับเป็นผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆต่อไป
Nexar แปลงข้อมูลเป็นบริการ
แอพพลิเคชั่นที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องหน้ารถ ด้วยการนำข้อมูลที่ได้จากผู้ขับขี่ที่ใช้แอพฯไปประมวลผลผ่านระบบ AI โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ โดยจะช่วยตรวจจับการใช้รถใช้ถนนด้วยการบันทึกภาพวิดีโอเป็นหลักฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุ แจ้งเตือนบริเวณที่มีหลุมบ่อ รวมถึงการบันทึกแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และถ่ายโอนข้อมูลไปยังระบบ Cloud ซึ่งจะมีระบบ Machine Vision ในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการคำนวณคะแนนการขับขี่สำหรับรถคันนั้นๆ แล้วนำข้อมูลไปแจ้งเตือนผู้ใช้บริการแอพฯรายอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในอนาคต
ที่มา: https://www.digitaltrends.com/cool-tech/nexar-driving-ap/
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้ประกอบการอาจเกิดคำถามในใจว่า เราควรจะทำอย่างไรกับ “ข้อมูล” ให้กลายเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของเราดี การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทำได้หลายทางครับ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปใช้สำหรับ การตลาดแบบ Personalized การทำ Customer Journey การป้อนข้อมูลให้ AI และการทำ Omnichannel
ทั้งหมดนี้ผมได้เคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่จุดสำคัญที่ผมอยากให้เน้นย้ำก็คือ ถ้าหากท่านทำได้จริง ก็เท่ากับว่า ท่านได้เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้ก้าวไกลไปอีกระดับ อย่ามัวรอช้าครับ มาเริ่มแปลงข้อมูลให้เป็นสินทรัพย์กันเถอะครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์