Amazon ซื้อ Whole Foods Market ขยายอาณาจักรออฟไลน์

เมื่อเดือนที่ผ่านมาหลายท่านที่ติดตามข่าวคราวในแวดวงอีคอมเมิร์ซคงพอทราบกันมาบ้างแล้วนะครับว่า Amazon พี่ใหญ่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ทุ่มงบมหาศาลในการซื้อกิจการ Whole Foods Market ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีสาขามากกว่า 460 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร และมีประวัติความเป็นมากว่า 40 ปี ครั้งนี้ Amazon ต้องการอะไรกันแน่ เราลองมาวิเคราะห์กันครับ

เป็นมากกว่าการซื้อกิจการ

จากวิจัยของ Kantar Worldpanel ระบุเอาไว้ว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์เป็นตลาดที่มีโอกาสโตอีกมหาศาล อย่างเมื่อปี 2016 นั้น ก็โตขึ้นถึง 15% หรือราว 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียวครับ และยิ่งไปกว่านั้น ผมมองว่าการซื้อกิจการ Whole Foods Market ของ Amazon ครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอีก 4 ถึง 7 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมมองก็คือ การรุกตลาด Retail หรือตลาดค้าปลีกของ Amazon ครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เน้นกำไร แต่เป็นการเอาเงินมาลงทุนมากกว่า ลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เกิดประโยชน์หลายๆ อย่าง

อย่างแรกก็คือผมคิดว่า Amazon มองเห็นโอกาสจากตลาดสินค้าอุปโภค บริโภค เพราะจากผลสำรวจ “อนาคตของตลาดอุปโภคบริโภค FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ในช่องทางอีคอมเมิร์ซ” พบว่า

ในสหรัฐอเมริกา ปริมาณการจับจ่ายซื้อสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคนั้นมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 1.4% น้อยกว่าประเทศอื่นๆหลายประเทศ อย่างเกาหลีใต้ที่สัดส่วนการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์สูงที่สุดถึง 16.6% รองลงมาคือญี่ปุ่น 7.2% สหราชอาณาจักร 6.9% ฝรั่งเศส 5.3% ไต้หวัน 5.2% และจีน 4.2%

อัตราการการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์ของสหรัฐอเมริกานั้นยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งนี้เนื่องจาก 73% ของจำนวนครัวเรือนในประเทศกลุ่มนี้ ยังคงชอบที่จะไปซื้อสินค้าตามร้านค้าปลีก เพราะสามารถเห็นสินค้าจริง จับต้องได้ มากกว่าจะซื้อผ่านออนไลน์ และ 39% บอกว่าไม่อยากแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับเว็บไซต์ ขณะที่ 11% มีปัญหาการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ช้อปปิ้ง

ดังนั้นผมก็เลยเชื่อว่า Amazon อ่านเกมขาด และมองเห็นตรงนี้ว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้โตขึ้นได้อีกจากการใช้ช่องทางออฟไลน์ หรือตลาดค้าปลีกเข้ามาร่วมกันแบบครบวงจร หลอมรวมเป็นการค้าแบบ Omnichannel  โดยไม่ได้ยึดว่าจะขายอย่างไร ขายที่ไหน แต่ยึดว่าผู้บริโภคจะซื้อตอนไหน ซื้อที่ไหน ซื้อด้วยวิธีการใดก็ได้ ขอให้เกิดการซื้อ และสร้าง Engagement กับลูกค้าให้ได้มาก ท้ายที่สุดการลงทุนครั้งนี้ของ Amazon จะผลักดันให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ด้วย Omnichannel ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ต่อยอดนวัตกรรม และกำจัดจุดอ่อน

การซื้อกิจการทำให้ Amazon ลดระยะเวลาที่จะต้องปลุกปั้นธุรกิจค้าปลีกด้วยตัวเองลงไปได้หลายปี แถมยังมี Physical store เพื่อขยายอาณาจักรออฟไลน์ตามที่ต้องการ ต่อยอดนวัตกรรม แล้วยังได้ฐานลูกค้า และข้อมูลจาก Whole Foods Market อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ Amazon Fresh เป็นบริการสั่งซื้อ จัดส่งสินค้าจำพวกอาหารสดทางออนไลน์

ดังนั้นเมื่อ Amazon มี Whole Foods Market อยู่ในมือ แล้วในอนาคตเป็นไปได้ว่า Amazon ต้องต่อยอดโดยการใช้ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นฐานในการส่งมอบสินค้า หรือใช้เป็นจุดรับสินค้า ให้ลูกค้าสามารถมารับสินค้าได้ที่ Whole Foods Market สาขาที่สะดวกได้ง่ายขึ้น สำหรับทุกสินค้าที่มีขายใน Amazon

ความน่าจะเป็นต่อจากนี้ก็คือ Amazon อาจนำเทคโนโลยีที่เพิ่งเปิดตัวไปก่อนหน้า นั่นคือ Amazon Go ที่เป็นเทคโนโลยีให้สแกนสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟนของผู้ซื้อ โดยค่าสินค้าจะถูกตัดชำระผ่านบัญชีที่ผู้ซื้อผูกไว้กับแอปพลิเคชั่น ไม่ต้องเข้าแถวชำระเงิน ซึ่ง Amazon อาจนำมาใช้ในกิจการค้าปลีกนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในอนาคตก็เป็นได้ครับ

Online สู่ Offline และ Omnichannel

หลายครั้งที่ผมได้พูดเกี่ยวกับ Amazon ในเรื่องการเข้ามาจับธุรกิจออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ Walmart เองก็ก้าวข้ามไปยังโลกออนไลน์เช่นกัน ในเหตุการณ์นี้ Omnichannel คงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เองครับที่ผมได้ร่วมเสวนาในงาน Priceza eCommerce Talk ครั้งที่ 3 ในหัวข้อเกี่ยวกับ Omnichannel ในยุคปัจจุบัน ซึ่งมันมีประเด็นที่สอดคล้องกัน คือผมมองว่า การประกอบธุรกิจในยุคนี้ หลายธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดได้ ความเป็นจริงข้อหนึ่งคือธุรกิจดั้งเดิมทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่ทำแต่ธุรกิจออฟไลน์ก็ต่างหันมาขยายช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ปรับตัวก็อาจต้องสูญหายไปตามยุคตามสมัย ทางด้านฝั่งธุรกิจออนไลน์ก็ดูเหมือนจะต้องปรับตัวเช่นกัน จากเดิมที่คิดว่ามีแค่ร้านออนไลน์อย่างเดียวก็คงเพียงพอ ผมว่าต่อจากนี้คงเริ่มมีมุมมองที่จะหันมาขยับขยายสู่ออฟไลน์บ้างนะครับ

เมื่อ Amazon ยึดตลาดค้าปลีก Walmart คงต้องเหนื่อย และหนักใจมากขึ้น สุดท้ายแล้วการแข่งขันของสองยักษ์ใหญ่จะส่งต่อผลประโยชน์มายังผู้บริโภค โจทย์ต่อไปก็ต้องคิดให้ได้ว่าทำอย่างไรให้คนมาซื้อสินค้าออนไลน์ในหมวดสินค้าอุปโภค บริโภคให้ได้มากขึ้น ลองคิดเล่นๆกันดูครับ

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s