Mobile First ดัน “นักช้อปออฟไลน์” สู่ “นักช้อปออนไลน์” เพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว

เห็นตัวเลขสถิติของไตรมาสที่สอง ทำให้ผมต้องขอยกเรื่อง Mobile First หรือ พฤติกรรมความนิยมใช้สมาร์ทโฟนเป็นที่หนึ่ง มาพูดกันอีกสักรอบ ตัวเลขผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนพุ่งสูงถึง 70%แล้ว และผมว่านี่อาจจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่จะบอกเราได้ว่า อะไรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันอีคอมเมิร์ซไทยให้เติบโตขึ้นอีกในปี 2017 และปีต่อๆไป

ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอข้อมูลสถิติจากรายงานของ KPMG ที่บอกถึงพฤติกรรมของนักช้อปว่า จะชื่นชอบซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ใดมากที่สุด โดยจากข้อมูลของ KPMG ระบุว่านักช้อปถึง 57% ยังคงนิยมใช้ อุปกรณ์เดสก์ทอป ในการซื้อของออนไลน์มากกว่า ในขณะที่การซื้อของออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนมีเพียง 17 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่ผมเจอนั้นเหมือนว่าค่อนข้างสวนทางกัน

priceza-data-4-6-17.png

โดยข้อมูลล่าสุดของไพรซ์ซ่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2017 พบว่า อุปกรณ์ที่นักช้อปใช้งานในการค้นหาสินค้าออนไลน์และเปรียบเทียบราคานั้น อุปกรณ์สมาร์ทโฟน มีเปอร์เซ็นต์สูงกว่า เดสก์ทอป โดยผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมีปริมาณสูงถึง 70.14% ในขณะที่ คอมพิวเตอร์ เดสก์ทอป มีเพียง 24.59% และน้อยสุดคือผู้ใช้ผ่านแท็บเล็ตที่มีเพียง 5.27% เท่านั้น และสถิติของไตรมาสนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ถึง 7.98%

และก็มีตัวเลขที่น่าสนใจจาก Paypal ที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน คือ ในปี 2016 นั้นประเทศไทยมีการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือรวมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตสูงขึ้นจากปี 2015 ถึง 44% โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนในปี 2016 รวมทั้งสิ้น 141,731 ซึ่งคิดเป็น 43.53% ของมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งทาง Paypal ได้มีการคาดการณ์ถึงปี2017 ว่ามูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์อาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงแต่ยอดการใช้จ่ายออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือและสมาร์ทโฟนของนักช้อปคนไทย จะเติบโตขึ้นอีกมากกว่า 22%แน่นอน

พฤติกรรมนักช้อปในปัจจุบัน เป็นอย่างไร

แม้ว่าตัวเลขการจับจ่ายออนไลน์ของนักช้อปคนไทยจะมีมูลค่าที่สูงพอสมควร แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันก็ยังคงมีกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่นิยมช้อปผ่านออนไลน์อยู่ อาจจะด้วยว่าความไม่เชื่อมั่นในการซื้อของออนไลน์ ไม่เห็นไม่ได้จับต้องตัวสินค้า ชอบที่จะเดินเลือกซื้อตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงคนที่มีข้อจำกัดเรื่องของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ไม่สันทัดในการท่องโลกออนไลน์ ก็เลยอาจจะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังไม่เข้าถึงการซื้อของออนไลน์ แต่ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่านักช้อปกลุ่มออฟไลน์นี้ จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ในการช้อปปิ้ง

เพราะจากการสำรวจพฤติกรรมของนักช้อปในปี 2017 นั้น มากกว่า 2 ใน 3 ของนักช้อปต่างก็บอกว่า พวกเขามักใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาสินค้า ดูข้อมูลสินค้า ในตอนที่เดินช้อปอยู่ในร้าน ซึ่งนั่นหมายความได้ว่า ในระหว่างที่กำลังจะช้อปสินค้า ไม่เว้นแม้แต่กำลังเดินช้อปในห้างร้าน หรือตามแหล่งช้อปปิ้ง นักช้อปจะมีการตั้งคำถามเกิดขึ้น เช่น จะซื้อ Apple Watch ดีไหม? อยากซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ราคาถูก มีย่านไหนแนะนำ? ราคามือถือรุ่นที่จะซื้อมีร้านไหนขายถูกกว่าบ้าง? และอีกหลายๆ อย่างที่ “ผู้บริโภคต้องการตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อ”  ซึ่งสมาร์ทโฟนก็เป็นอุปกรณ์ใกล้ตัวที่สุดที่จะช่วยให้นักช้อปเชื่อมต่อโลกออนไลน์เข้าไปหาคำตอบเหล่านั้นได้ เช่น ใช้การเสิร์ชหาข้อมูลรีวิวผ่าน google หรือ pantip หรือใช้เว็บไซต์/แอพพลิเคชั่นเปรียบเทียบราคา เพื่อดูราคาก่อนตัดสินใจซื้อ เป็นต้น และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ Priceza นั้นมีปริมาณผู้ใช้งานในปี 2017 นี้สูงขึ้นถึงกว่า 10 ล้านคนต่อเดือนแล้วในปัจจุบัน ซึ่งใน 10 ล้านผู้ใช้งานนี้ก็มีปริมาณผู้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนสูงเกิน 70% อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

และดูเหมือนว่านักช้อปทั่วโลกก็เช่นกัน เพราะจากการสำรวจนักช้อปทั่วโลก โดย KPMG นั้น พบว่า ในประเทศสิงคโปร์ ผู้บริโภคนิยมเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าด้วยสมาร์ทโฟนระหว่างช้อปคิดเป็น 83% ส่วนในประเทศบราซิลสูงถึง 79% ตามมาด้วย ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก 78% และสหรัฐอเมริกา 77% ถ้าเราเจาะไปถึงกลุ่มผู้บริโภคนั้นจะพบว่าคือ กลุ่มนักช้อปยุค Millennial ซึ่งในทุกภูมิภาคนั้นก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเสิร์ชหาข้อมูลการช้อปด้วยสมาร์ทโฟน เรียกว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในกลุ่มอื่นๆ

millennials-shopping.jpg

สมาร์ทโฟน จะดันให้เกิด “นักช้อปออนไลน์” ได้มากขึ้นหรือไม่ ?

เราอาจจะมองว่าการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน อาจจะไม่ใช่ช่องทางที่เหมาะกับการขายออนไลน์มากที่สุด แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเตอร์เน็ตและการใช้อุปกรณ์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น กำลังปฏิวัติรูปแบบการค้าปลีกแบบเดิมๆ ผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้โตขึ้นอีกได้ เนื่องจากมีตัวเลขจาก Paypal ที่เปิดเผยว่าในปี 2016ที่ผ่านมา มีคนไทยกว่า 71% จากบรรดาคนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ นิยมช้อปออนไลน์ผ่านทั้งเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชั่น แม้กระทั่งซื้อผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Line

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อจำนวนอุปกรณ์มือถือเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์มือถือใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยดันนักช้อปจากฝั่งออฟไลน์ มาจับจ่ายออนไลน์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ สมาร์ทโฟนจะกระตุ้นให้คนที่ไม่เคยคิดว่าจะช้อปออนไลน์ ไม่ชอบเล่นอินเทอร์เน็ต หันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะความสะดวกสบาย และรวดเร็วในการสั่งซื้อ  แล้วการซื้อขายออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือ ก็จะเป็นทั้งประสบการณ์ให้กับนักช้อป และเป็นโอกาสทางธุรกิจทั้งสำหรับผู้ค้าออนไลน์

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซที่ไม่สามารถสร้างตัวตนผ่านมือถืออาจเสียโอกาสทางธุรกิจได้ ถ้าไม่ปรับตัว

 

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s