ไม่น่าแปลกใจนัก ที่ Cross-border eCommerce หรือ “การซื้อการขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” กำลังดึงดูดสายตานักช้อปฯ ทั่วโลก เนื่องจากจำนวนสินค้าที่มีให้เลือกมากมายมหาศาล อีกทั้งนักช้อปฯ ยังสามารถเปรียบเทียบราคา และหาสินค้าราคาถูกได้อย่างไม่ยากเย็นเลยครับ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนนั้น กลายเป็นที่นิยมสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายไปพร้อมๆกัน เราลองมาดูตัวเลขที่ช่วยยืนยันความร้อนแรงของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกันนะครับ
- Ipsos และ Paypal ได้จับอันดับสุดยอดสินค้าขายดี ที่มีการค้าข้ามพรมแดนมากที่สุดประจำปี 2016 นั่นก็คือ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 46% ตามมาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ 29%
- ประเทศที่เป็นปลายทางอันดับหนึ่งในการค้าข้ามพรมแดน จากการจัดอันดับของ Ipsos และ Paypal ได้แก่ประเทศจีน ในสัดส่วน 21% ตามหลังมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 17% และสหราชอาณาจักรที่ 13%
- Forrester Research ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2021 ยอดการซื้อขายจาก Cross-border eCommerce ในระดับ B2C (Business-to-Consumer) จะมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 424,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การค้าข้ามพรมแดนจะมียอดการซื้อขายสูงถึง 15% จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมด
การค้าข้ามพรมแดนอาจกลายเป็นช่องทางทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการที่เล็งเห็นโอกาส อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจข้ามชาตินั้นยังมีข้อจำกัดอีกมากครับที่เราต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ในเรื่องของกฎหมาย ภาษา และวัฒนธรรมทางการค้าที่แตกต่างกันไป การทำธุรกิจออนไลน์ในระดับนานาชาตินั้น อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ มาดูกันครับว่าอะไรคือข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ และข้อควรระวังของการค้าข้ามพรมแดนที่ผู้ประกอบการต้องรู้
3 ข้อควรระวังก่อนเริ่มทำการค้าข้ามพรมแดน
ถึงแม้ว่าระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และคุณภาพของสินค้า คือสิ่งที่ควรคำนึงในการทำธุรกิจ แต่หากเรากำลังเดินหน้าสู่การทำการค้าออนไลน์แบบข้ามพรมแดนแล้วล่ะก็ หัวข้อต่อไปนี้ คือสิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษครับ
1. กฎหมาย และข้อจำกัดในการซื้อขาย
ในแต่ละประเทศมีสิ่งที่ทำได้และข้อห้ามเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าแตกต่างกันไปครับ รวมไปถึงเรื่องภาษี และการคุ้มครองผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำลังจะขายอาหารให้กับประเทศ A ที่เรียกร้องให้ผู้ผลิตแจกแจงส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการ และวันที่ผลิตลงในบรรจุภัณฑ์ ถ้าหากสินค้าของเราไม่มีการระบุข้อมูลเหล่านั้นลงไป แต่ยังพยายามที่จะขาย ก็แสดงว่าเราได้ละเมิดกฎหมายในประเทศดังกล่าวโดยปริยาย
ในเรื่องของภาษีศุลกากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำการค้าข้ามพรมแดน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีข่าวเรื่องการจัดเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซมาเป็นระยะๆ ซึ่งสินค้าที่นำเข้ามาหากราคาไม่เกิน 1,500 บาท ก็จะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งทำให้การค้าข้ามพรมแดนในปัจจุบันนั้นสะดวกและง่ายดายขึ้นมาก จะว่าไปก็ดูไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นเหมือนกันนะครับ มาถึงตรงนี้ก็ต้องรอความชัดเจนของกฎหมายที่จะเข้ามาสร้างความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายครับ
2. ช่องทางการจ่ายเงิน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Pitneybowes.com ได้เปิดเผยว่า ชาวสเปนชำระสินค้าออนไลน์ผ่านบัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด คิดเป็นสัดส่วน 100% ส่วนชาวฝรั่งเศสกว่า 60% มักจะชำระผ่านบัตร American Express ส่วนประเทศอย่างอินเดีย และเอเชีย มีแนวโน้มว่าจะนิยมใช้บริการเรียกเก็บเงินปลายทางมากกว่า
นี่คืออีกหนึ่งเรื่องครับที่เราจำเป็นต้องศึกษา ในเรื่องพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคประเทศต่างๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมการจ่ายเงินของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปครับ
3. ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง
การขนส่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่น้อยเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุน ค่าดำเนินการขนส่ง และโดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของแบรนด์ เพราะหากมีสิ่งใดผิดพลาดเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง นอกจากตัวแบรนด์มักจะต้องเป็นผู้รับภาระความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังต้องรองรับคำตำหนิจากลูกค้าอีกด้วย
ดังนั้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงจำเป็นจะต้องมีบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่น่าเชื่อถือเพื่อส่งเสริมธุรกิจของเราด้วยครับ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก เมื่อพูดถึงการส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยล่าสุด Alibaba ได้แก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการจ้างบริษัทที่ช่วยดูแลและจัดหาบริการด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะ เพื่อควบคุมการส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพที่สุด
Alibaba บุกตะลุยการค้าข้ามพรมแดน
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมานี้ AliExpress ร้านค้าออนไลน์ของ Alibaba ก็ได้ฉลองรับลูกค้าคนที่ 100 ล้านเป็นที่เรียบร้อย และแน่นอนว่า Alibaba Group จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น
Alibaba ถือเป็นกลุ่มบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งยุคที่น่าจับตามอง และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ผ่านมานี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่า Alibaba กำลังผลักดันตนเองให้ก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกอย่างเต็มตัว เพื่อสู้กับ Amazon หรือ Ebay ลองมาดูกันครับว่า Alibaba มีการเคลื่อนไหวในศึกนี้อย่างไรบ้าง
- ล่าสุด Alibaba ได้จับมือกับบริษัท Malaysia Digital Economy ของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “Electronic world trade platform” หรือ eWTP โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ซื้อขายสินค้าเกี่ยวกับดิจิตอล และอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการทั่วโลก
- นอกจากนั้น Alibaba ยังได้ร่วมมือกับบริษัท WCAซึ่งจะช่วยดูแล ตรวจสอบ และจัดหาผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์คุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาด้านการขนส่ง รวมถึงรองรับการขยายตัวในระดับนานาชาติให้กับ Alibaba นั่นเอง
ที่มา: South China Morning Post
การที่ Alibaba ซื้อ Lazada ถือเป็นอีกช่องทางที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคของเราได้ง่ายขึ้นครับ ประกอบกับ เขตการเสรีดิจิตอล (DFTZ) ที่มาเลเซียเป็นอีกโครงการที่จะช่วยส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนอย่างเห็นได้ชัดเจนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ครับ
ความท้าทายของผู้ประกอบการในสงครามการค้าข้ามพรมแดนครั้งนี้ก็คือ การที่ผู้ขายสามารถขายสินค้าให้ผู้ซื้อได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้สินค้าจากนานาประเทศเข้ามาในไทยง่ายและมากขึ้น ยิ่งซื้อแล้วไม่ต้องเสียภาษี แถมราคาสินค้ายังถูกกว่าสินค้าภายในประเทศอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมเป็นห่วงผู้ประกอบการไทยที่ต้องแบกภาระและหาหนทางต่อสู้คู่แข่งขันจากต่างประเทศ ในทางกลับกันผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจทำการค้าข้ามพรมแดนจะต้องหาวิธีบริหารจัดการภาษีศุลกากรเพื่อให้ได้กำไรและสามารถแข่งขันในตลาดได้ครับ
อย่างไรก็ตามในโลกไร้พรมแดนเช่นนี้ ผมอยากให้ลองมองหาโอกาสในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่อาจซ่อนอยู่ในวิกฤติที่ต้องเผชิญ เป็นอีกความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องก้าวผ่านไปให้ได้ครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์