หลายท่านคงจะได้ยินข่าว Amazon Prime Now ในสิงคโปร์กันแล้วนะครับ ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นที่ตัั้งสำนักงานใหญ่ Amazon Web Service (AWS) อยู่แล้ว แต่การเข้ามาของ Amazon Prime Now ในครั้งนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อตีตลาดอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ การบริการของ Amazon Prime Now นั้น ดึงดูดความสนใจได้ไม่น้อย เนื่องจากสมาชิกที่ซื้อสินค้าออนไลน์ จะได้รับสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง จากปกติจะใช้เวลาโดยประมาณ 1-3 วัน บริการนี้รองรับทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงสินค้าอื่นๆที่ใช้ภายในครัวเรือน เป็นต้น
การเข้ามาของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับ Alibaba Group พี่ใหญ่แห่งอีคอมเมิร์ซเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครกันล่ะจะเป็นผู้เล่นที่ครองตลาดอาเซียนได้อย่างแท้จริง เราลองวิเคราะห์ไปพร้อมๆกันเลยครับ
ที่มา: TECH360.TV
Amazon Prime Now ในสิงคโปร์
เป็นที่ทราบกันว่า การเข้ามาของ Amazon ในสิงคโปร์ครั้งนี้ Amazon ไม่ได้มาแบบเต็มรูปแบบ เพราะตัดบริการส่วนพรีเมียมออกไปมากเลยครับ เช่น บริการของวีดีโอสตรีมมิ่ง นอกจากนี้ การสั่งสินค้าของ Amazon Prime Now นี้ไม่ได้ทำผ่านหน้าเว็บไซต์ แต่จะต้องสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Amazon Prime Now เท่านั้น
จุดเด่นก็คือบริการจัดส่งด่วน
- ส่งด่วนภายใน 2 ชั่วโมง: มีค่าส่ง 99 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ถ้าซื้อสินค้าเกิน 40 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป จัดส่งฟรี
- ส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง: มีค่าส่งสินค้า 99 ดอลลาร์สิงคโปร์
บริการนี้ครอบคลุมทั้งเกาะหลักของสิงคโปร์ และเกาะเซ็นโตซ่า การจัดส่งจะอยู่ระหว่าง 10.00-22.00 น. ไม่มีวันหยุด
ทำไมต้องสิงคโปร์
ผมขอสรุปเป็นประเด็นตามนี้ครับ
- การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี จำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตราวๆ 82% จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 5.74 ล้านคน เป็นเปอร์เซนต์ที่เยอะมากเลยล่ะครับ และสิงคโปร์มีความเร็วของอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 18.2 Mbps ซึ่งสูงสุดในอาเซียนเลยครับ ตรงนี้เวลาใช้บริการก็สะดวกรวดเร็วเน็ตไหลลื่นไม่ติดขัด และยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ดีๆให้ลูกค้าได้อีก
ที่มา: The Business Times
- นักช้อปฯออนไลน์
คนสิงคโปร์ 3 ใน 5 คน คือ นักช้อปออนไลน์ ซึ่ง Amazon ก็เป็นหนึ่งใน 30 เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่คนสิงคโปร์เข้าชมสูงสุด ยังไงก็มีลูกค้าชัวร์ครับ
- การจราจรที่คล่องตัว
สภาพจราจรที่คล่องตัวในสิงคโปร์ ทำให้บริการส่งด่วนจึงสามารถเป็นไปได้ง่ายกว่าประเทศที่มีการจราจรติดขัด
เมื่อ Amazon เผชิญหน้า Alibaba
ในขณะที่ Alibaba มุ่งไปยังมาเลเซีย แต่ทำไม Amazon กลับเน้นมาที่สิงคโปร์
นอกจากเหตุผลด้านศักยภาพของสิงคโปร์ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ผมมองว่าอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ คนสิงคโปร์คุ้นชินกับการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว อีกอย่างเรื่องของภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้บริการ
การเข้ามาของ Amazon Prime Now ถือว่าเป็นการทดลอง และสร้างความว้าวให้กับชาวอาเซียน โดยเน้นเรื่องความไวในการจัดส่งสินค้า ซึ่งถ้าเกิด Amazon เข้ามาเปิดตัวอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ หรือทำให้สิงคโปร์เป็นอีคอมเมิร์ซฮับ อย่างที่ Alibaba ร่วมมือกับมาเลเซียเป็นเขตการค้าเสรีดิจิตอล ก็อาจจะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้บริโภคมากนัก
มองกันในระยะยาว Amazon อาจจะมองหาตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่กว่าอย่างอินโดนีเซียก็เป็นได้ครับ คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะยิ่งตลาดใหญ่คู่แข่งก็ยิ่งมาก ต้องหากลยุทธ์ที่จะเจาะตลาดให้ได้ ตามไปด้วยครับ
ที่มา: The Business Times
ใครได้เปรียบใครเสียเปรียบ
เป็นที่รู้กันว่า Alibaba Group เป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นเจ้าของเว็บ Lazada และ Redmart ผู้ให้บริการจัดส่งและขายของชำออนไลน์ในสิงคโปร์ ซึ่งทำให้ Alibaba Group มีจุดแข็ง ที่อาจจะทำให้ Amazon เหงื่อตกได้ วิเคราะห์ทีละจุดนะครับ
- จำนวนสินค้า
จากข้อมูลของ Business Times article เปิดเผยว่า Amazon Prime Now มีจำนวนสินค้ามากกว่า 20,000 รายการด้วยกัน แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีว่าจะเพียงพอกับการต่อสู้ศึกในครั้งนี้หรือไม่ เพราะในขณะเดียวกัน Redmart เอง ก็มีสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ และเมื่อนับรวมทั้ง Lazada และ Redmart ก็ทำให้ Alibaba Group ถือแต้มต่ออยู่มากทีเดียว
- บริการที่หลากหลาย
เมื่อ Amazon นำตัวเองเข้ามายังสิงคโปร์ ก็ได้ตัดพรีเมี่ยมฟีเจอร์ออกไปมากมาย แต่ในขณะเดียวกันนั้น Lazada ก็มีบริการอย่าง LiveUp ที่นำเสนอการส่งสินค้าฟรี พร้อมส่วนลดพิเศษสำหรับสินค้าและบริการต่าง ๆ ของ Redmart, Netflix, Uber, UberEats และ Taobao Collection ให้แก่สมาชิกอีกด้วย
- สินค้าท้องถิ่น
การขาดแคลนสินค้าท้องถิ่น อาจกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของ Amazon Prime Now ในอนาคตได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้บริโภคต้องการบริโภคไข่จากฟาร์มระดับคุณภาพของสิงคโปร์อย่าง Seng Choon แล้ว ลูกค้าก็น่าจะเลือกซื้อสินค้าจาก Redmart อย่างแน่นอน เพราะแม้ว่า Amazon จะขายไข่เช่นเดียวกัน แต่เป็นไข่ที่ไม่ตรงกับความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้าท้องถิ่นครับ
แม้ว่า Amazon จะเป็นยักษ์ใหญ่แห่งอีคอมเมิร์ซ แต่ผมคิดว่าการเข้ามาเปิดตัวในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ เพราะ Amazon เอง ก็ยังถือว่าใหม่กับตลาดในแถบนี้อยู่ และยังต้องมารับมือกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่าง Alibaba Group อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เมื่อไรที่ Amazon หากลวิธีเจาะตลาดอาเซียนได้ เมื่อนั้นอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ให้ตลาดอีคอมเมิร์ซแห่งเอเชียก็ได้ ต้องติดตามชมกันต่อไปครับ ท้ายที่สุดแล้วการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซ คนที่ชนะและได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์