ดูเหมือนว่าการปิดตัวของร้านโชว์ห่วยเล็กๆ จะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว หลังจากการเข้ามาของโมเดิร์นเทรด และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป เมื่อไปรษณีย์จีน (China Post) ได้ร่วมทุนกับ Tom Group บริษัทในเครือ Li Ka-shing มหาเศรษฐีจากฮ่องกง ตั้งบริษัทชื่อ “Ule (อูเล)” หรือ “Happy post” เพื่อปฏิวัติร้านโชว์ห่วยธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเครือข่ายร้านโชว์ห่วยออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน การร่วมมือครั้งนี้ส่งผลให้ธุรกิจพัสดุจีนโตถึง 450% และยังมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตอีกปีละ 100% นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นำเอาเทคโนโลยีผนวกกับธุรกิจรูปแบบเดิม เพื่อให้ธุรกิจคงอยู่และเติบโตไปตามกระแสโลกดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์
เปลี่ยนวิกฤต ให้เป็นโอกาส – ทำความรู้จัก Happy Post
เมื่อเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเข้ามายังชนบทด้วยการเข้าถึงผ่านสมาร์ทโฟนทำให้ลูกค้าท้องถิ่นนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ยอดขายสินค้าของร้านค้าท้องถิ่นก็ลดน้อยลง จะอยู่ให้รอดก็ต้องปรับตัว แล้ว Happy Post หรือ Ule นี่แหละครับที่เข้ามาเป็นฮีโร่ให้กับร้านค้าท้องถิ่น อีคอมเมิร์ซแพล็ตฟอร์มที่ให้ร้านโชว์ห่วยในชนบทจีนเข้าร่วมโครงการ โดยช่วยเชื่อมต่อร้านค้าออฟไลน์กับโลกออนไลน์ ทำให้ร้านค้าในชนบทสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น ผ่านคนกลางอย่างไปรษณีย์จีนที่ทำหน้าที่จัดส่งสินค้า จุดเด่นของบริการนี้ก็คือ ถ้าลูกค้าต้องการซื้อสินค้าที่ไม่มีในร้านค้าของคุณ คุณก็สามารถจัดหาให้ได้ โดยสินค้านั้นจะนำมาส่งในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับบุรุษไปรษณีย์นั่นเอง
สุดยอดกลยุทธ์แห่งความสำเร็จ
จากสถานการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ผมมองว่านี่คือการตัดสินใจที่ดีของ Ule ที่ได้สร้างโอกาสให้ตัวเอง เพื่อจะก้าวเป็นเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ในโลก และเป็นโอกาสดีที่สามารถดึงไปรษณีย์มาเป็นพาร์ทเนอร์คอยช่วยเป็นตัวกลางในการให้บริการขนส่งสินค้า ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาให้กับหลายๆธุรกิจในประเทศไทยได้ และผมขอยกกลยุทธ์หลัก 5 ข้อที่ทำให้บริการนี้ประสบความสำเร็จ ดังนี้
- มีพาร์ทเนอร์ที่ดีและร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่น
Ule ไปรษณีย์จีน และเกษตรกรท้องถิ่น เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีซึ่งต่างคนต่างเอื้อประโยชน์ต่อกัน การดึงร้านค้าโชว์ห่วยในชนบทจีนมาเข้าร่วมอีคอมเมิร์ซแพล็ตฟอร์ม แล้วยังดึงเอาสินค้าท้องถิ่นมาวางขาย โดยอาศัยความร่วมมือของไปรษณีย์จีนในการขนส่งสินค้าให้คนในชนบทก็ซื้อและขายสินค้าได้ ตรงนี้ผมมองว่าเป็นความสำเร็จที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จริงๆครับ
- ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ชนบท
หลายคนอาจมองว่ากลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ตามชนบทนั้น ยากต่อการเข้าถึงและให้บริการ เนื่องด้วยข้อจำกัดของระยะทาง หรือสภาพภูมิศาสตร์ แต่ Ule กลับไม่คิดเช่นนั้น แต่กลับมองว่า ชนบทนี่แหละคือตลาดรายใหญ่ ยิ่งในจีนเองก็มีประชากรมากที่สุดในโลก เพราะงั้นนี่ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม การพยายามขยายตลาดไปยังชนบทเพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นนั้นถือเป็นการมองการณ์ไกลที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนทีเดียวครับ
- ผนวกเทคโนโลยี ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่
ปัญหาหลักของร้านโชว์ห่วยก็คือไม่สามารถจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ต่างก็หันไปสั่งของออนไลน์กันหมด ก็มันง่ายและสะดวกนี่ครับ ทีนี้พอร้านโชว์ห่วยเข้าไปอยู่ในระบบอีคอมเมิร์ซก็ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น เจ้าของร้านค้าท้องถิ่นเองก็สามารถใช้ WeChat ในการแจ้งลูกค้าได้เมื่อสินค้านั้นมาถึง เมื่อมี Ule จากปัญหาเดิมที่ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้าร้าน มาถึงตอนนี้ด้วยการเข้าถึงผ่านสมาร์ทโฟนของลูกค้าก็ทำให้ร้านค้าท้องถิ่นขายสินค้าข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่าเดิม
- ร้านค้าปลีกแบบเรียลไทม์
การปรับเปลี่ยนร้านโชว์ห่วยธรรมดา ให้กลายเป็นการซื้อขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มแบบเรียลไทม์ ทุกครั้งที่มีลูกค้ามาซื้อสินค้า ข้อมูลสินค้า ลูกค้า และร้านค้า จะถูกส่งไปวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ทุกๆ 5 นาที โดย Ule จะนำเสนอเจ้าของร้านว่า ควรจะส่งสินค้าไปที่ไหนถึงจะขายได้มากที่สุด ซึ่งช่วยให้เจ้าของร้านสามารถนำเสนอสินค้า หรือข้อเสนอ ที่ตรงกับพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้
- บริการกู้เงินแบบใหม่
นอกจากซื้อของออนไลน์ผ่านร้านโชว์ห่วยได้แล้ว ยังมีบริการ “กู้เงิน” สำหรับเจ้าของร้านและลูกค้าอีกด้วย อ้างอิงจากเว็บไซต์ WIRED พบว่า ชาวจีนกว่า 64% ที่อาศัยในชนบทยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร จึงไม่มีประวัติทางการเงินมากพอจะขอกู้เงินจากหน่วยงานใดๆ ได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว Ule และ TOM Group จึงได้ร่วมลงทุนกับฟินเทคสตาร์ทอัพในฮ่องกงโดยใช้ชื่อว่า WeLab ซึ่งสามารถประเมินเครดิตของผู้กู้ ก่อนจะทำการอนุมัติสินเชื่อ ผ่านพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น รุ่นของโทรศัพท์ที่ใช้ แอพฯ ที่ใช้บนมือถือ วิธีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาที ก่อนการอนุมัติสินเชื่อ
ในมุมมองของผมการร่วมมือดังกล่าวถือว่าชาญฉลาดมากเลยครับ เพราะมันเป็นวิธีการแบบ Win-Win ได้ผลประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ ยกตัวอย่างเช่น การให้กู้ยืมเงิน เมื่อร้านค้ามีทุนในการลงทุนทำธุรกิจ กิจการขนส่งของไปรษณีย์จีนก็รุ่งเรืองตาม ร้านค้าท้องถิ่นขายของได้ ก็ส่งผลให้ Ule เติบโตได้แบบก้าวกระโดด และโดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเกษตรให้มีเม็ดเงินไหลเวียนมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศดีขึ้นอย่างแน่นอน แอบหวังลึกๆครับว่า การร่วมมือเพื่อการพัฒนาแบบเดียวกันนี้ จะเกิดขึ้นกับบ้านเราในไม่ช้า
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์