คุยให้รู้เรื่อง ภาษีอีคอมเมิร์ซ ก้าวต่อไปเพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ยุคดิจิตอล

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา อนาคตประเทศไทยในยุคดิจิตอล (Digitalized Thailand) ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) โดยผมได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ นโยบายการคลัง และการเติบโตของดิจิตอล ในครั้งนี้มีผู้อภิปรายหลักจากหลากหลายสถาบัน อาทิ

  • คุณวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  • Martina F. Ferracane จาก ECIPE
  • คุณเอก ตันติสัตตโม ผู้เชี่ยวชาญและหุ้นส่วนจาก Baker & Mckenzie

ประเทศไทย พร้อมสู่ยุคดิจิตอลแล้ว จริงหรือ

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นเรื่องที่ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคดิจิตอลแล้วจริงหรือเปล่า หลายท่านคงมีความสงสัยในประเด็นนี้กันพอสมควร ใช่ไหมครับ ต้องบอกว่าดิจิตอลไม่ใช่เรื่องใหม่ และก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยนะครับ ระยะหลังมานี้แวดวงดิจิตอลต่างตื่นตัวกันอย่างมาก ทั้งนี้ จากการมาของนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป จาก SMEs ไปเป็น Smart Enterprises และ Startup ที่มีศักยภาพสูง รวมถึงหลายเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มมีข่าวหนาหูถึงการเตรียมเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง นำพามาซึ่งความกังวลใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ที่ในทุกวันนี้มีจำนวนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า “เรา” พร้อมสู่ยุคดิจิตอล จากการวิจัย เรื่อง Digital Nation ของ AlphaBeta นั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ปัจจัยด้วยกันที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจดิจิตอลระดับประเทศนั้นประสบความสำเร็จ ดังนี้

  1. เงินลงทุน เพื่อพัฒนาและสนับสนุนระบบนิเวศดิจิตอล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน และจัดหาเงินลงทุนสำหรับธุรกิจ Startup
  2. ผลิตภัณฑ์ดิจิตอล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เข้าสู่ระดับสากล และนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
  3. ด้านบุคลากร ต้องสนับสนุนระบบการศึกษา และการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้ประกอบการก็จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลได้
  4. ดิจิตอลคอมมูนิตี้ เพื่อการพัฒนาบริษัทท้องถิ่นโดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตร และสนับสนุนการเติบโตของพวกเขาโดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เกิดเป็นสังคมดิจิตอลอย่างแท้จริง

digital-company.jpg

ภาษีอีคอมเมิร์ซ จริงจังแค่ไหน

มาถึงเรื่องภาษีอีคอมเมิร์ซกันบ้างนะครับ การจ่ายภาษีต้องถือเป็นเรื่องจริงจังของธุรกิจ ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย อย่างไรซะก็ต้องเสียภาษีให้กับภาครัฐฯ แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี่สิครับกลับเป็นปัญหาในการจัดเก็บภาษี เนื่องจากร้านค้าออนไลน์ไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรายรับได้ครับ ยิ่งตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น แต่ทว่ารัฐฯกลับเก็บภาษีได้ไม่เป็นไปตามคาด

หลายเดือนมานี้ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของภาษีอีคอมเมิร์ซก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ก็ว่าได้ครับ เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนะครับที่จำเป็นต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง บริการออนไลน์รูปแบบต่างๆก็จะต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทต่างชาตินะครับ อย่าง Facebook, Line และ Google เองก็ตาม อันนี้จริงจังครับ

  • มุมมองภาครัฐ

ตามทัศนะของภาครัฐฯที่ผมได้ฟังจากการอภิปรายในครั้งนี้ก็คือ หลายประเทศมีความพยายามเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามหลักการแล้วการจะจัดเก็บภาษีได้ จุดเก็บจะต้องชัดเจน มีที่ตั้งถาวร ซึ่งธุรกิจออนไลน์นั้น ไม่มีที่ตั้งถาวร ส่วนใหญ่ไปตั้งจดทะเบียนที่อื่น ประเทศไทยจึงเก็บภาษีไม่ได้ มันมีความซับซ้อนกว่าปกติ ภาครัฐเองก็ต้องหาจุดที่เหมาะสม และเป็นธรรมในการจ่ายภาษี การจะไปถึงจุดนั้นได้โครงสร้างต้องพร้อมก่อน และรัฐฯเองก็พยายามวางรากฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิตอลตาม ไทยแลนด์ 4.0 ตอนนี้ภาครัฐก็ทยอยปรับระบบโครงสร้าง เพื่อรองรับดิจิตอลให้ก้าวทันโลก และไม่ทำให้ระบบภาษีไปขัดขวางการพัฒนาประเทศครับ

  • มาฟังภาคเอกชนกันบ้าง

สำหรับภาคเอกชนเองก็มองว่า การเก็บภาษีเป็นเรื่องที่สมควรทำ และสามารถมีกฏหมายขึ้นมาบังคับใช้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล กระตุ้นให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเต็มใจจ่ายภาษี โดยไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค ที่สำคัญต้องให้เวลาเตรียมความพร้อมสำหรับภาคธุรกิจด้วย (ก็คือ สรุปได้แล้วบอกกันเนิ่นๆก็ดีครับ)

ในฐานะผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการ ไพรซ์ซ่า (Priceza)โดยเริ่มต้นจาก ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2010 ขยายไป อินโดนีเซีย ในปี 2013 และขยายต่อไปยัง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม รวมทั้งสิ้น 6 ประเทศ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนถึงสองครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะเป็นธุรกิจบริการแบบออนไลน์ แต่เราก็จัดตั้งธุรกิจและเสียภาษีตามกฎหมาย

ผมมองว่าบริการออนไลน์อย่าง Facebook และ Google ที่คนไทยเปิดรับเทคโนโลยีจากต่างแดนนั้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้มากขึ้น และแผ่รากลึกไปสู่ผู้ประกอบการไทย ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลในแต่ละประเทศได้

  • ก้าวต่อไป

สิ่งที่เราควรทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจากทุกฝ่าย คือ การหาจุดสมดุลร่วมกัน ระหว่างการเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาพัฒนาศักยภาพ กับ ความเป็นธรรมในการเก็บภาษี และนโยบายภาษีที่เหมาะสม รัฐบาลเองควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย เร่งพัฒนาธุรกิจดิจิตอลให้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้บริการจากต่างชาติมาเปิดในเมืองไทย ธุรกิจของคนไทย การจ่ายภาษีไม่ต้องคิดมาก มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นช่วยกันผลักดันให้ธุรกิจไทยก้าวไกลไปต่างแดนให้เงินไหลเข้าประเทศมากขึ้นครับ

ฝากเอาไว้

สุดท้ายครับ อยากให้มองว่าเทคโนโลยีในยุคดิจิตอลเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี โครงสร้างพื้นฐานมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมภาคธุรกิจต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากร จะต้องพัฒนาตัวเองในด้านดิจิตอล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคมให้ดีขึ้นครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s