ระบบการชำระเงินอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายเงินผ่านหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร จ่ายผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือจ่ายผ่านหน้าเว็บด้วยการตัดผ่านบัตรเครดิต จนถึงการจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้าก็มี สาเหตุที่ระบบการจ่ายเงินมีหลายรูปแบบ เพราะพฤติกรรมของผู้ซื้อของออนไลน์แตกต่างกันไป บางคนชอบเห็นของแล้วค่อยจ่าย บางคนไม่มั่นใจระบบตัดบัตรเครดิต บ้างก็ชอบจ่ายหน้าตู้เอทีเอ็มมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเฟสบุ๊ค ได้นำฟีเจอร์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินเข้ามาใช้ในสังคมออนไลน์ อนาคตจะทำให้การซื้อขายออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊คทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และปลอดภัยขึ้น อันจะนำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างในปี 2559 เองมีข้อมูลจาก PayPal และ Ipsos ว่า คนไทยมีการช็อปออนไลน์กว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี และในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ
เฟสบุ๊คกับระบบชำระเงิน
แต่ก่อนเราเคยได้ยินมาว่าเฟสบุ๊คเริ่มทดสอบระบบการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้คนซื้อของสามารถชำระเงินค่าสินค้าได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปชำระผ่านแอพข้างนอก หรือไปโอนเงินหน้าธนาคาร หน้าตู้เอทีเอ็มให้ยุ่งยาก ทำให้มีคนรอคอยอยากให้มันเกิดเร็วๆ ถ้าเราเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และเปิดร้านค้าไว้กับเฟสบุ๊คเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลองสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่ามีการแจ้งอัพเดตใหม่ ให้สามารถเรียกชำระเงินจากลูกค้าผ่านเฟสบุ๊คได้โดยตรง โดยเราต้องชำระเงินผ่าน Messenger ของเฟสบุ๊คนั่นเอง
สำหรับระบบการชำระเงินผ่านเฟสบุ๊คนั้น เมื่อเราสมัครเข้าใช้ระบบแล้วมันจะตัดผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่เราลงทะเบียนเอาไว้อีกที ถือว่าสะดวกสบายไม่น้อย แต่การมีระบบอะไรก็ตามมันก็มีข้อดีข้อเสียตามมา ลองดูกันครับ
ที่มา: Facebook
มาสรุปข้อดีกัน
- ตอบโจทย์โซเชียลคอมเมิร์ซ ประเทศไทยเองกระแสโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการซื้อการขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียก็มีมาเรื่อยๆ ซึ่งตลาดในไทยเองก็มีนักช้อปฯ ผ่านช่องทางนี้ถึง 51% ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยครับ การที่เฟสบุ๊คเข้ามาสนับสนุนช่องทางการชำระเงินก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำกระแสของโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยที่ยังแรงไม่ตกทีเดียวครับ
- สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ลองคิดดูว่าเวลาเราซื้อของแล้วต้องมาทำธุรกรรมทางการเงินยุ่งยากมันจะปวดหัวขนาดไหน แต่ถ้าเราซื้อของออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊คอยู่แล้ว สามารถตัดเงินผ่านเฟสบุ๊คได้โดยตรง แน่นอนที่สุดว่าเราย่อมรู้สึกสะดวกสบาย ในฝั่งของคนขายก็เช่นกัน ย่อมรู้สึกสะดวกไปด้วยเพราะลูกค้าชำระเงินทันทีให้เราเห็นในระบบชัดเจน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ไม่ต้องมานั่งนับภาพถ่ายรูปสลิปให้ยุ่งยาก
ข้อพึงระวัง
- ข้อควรระวังของการชำระเงินผ่านระบบเฟสบุ๊คก็คือ “ความปลอดภัย” ของผู้ใช้ ลองคิดดูว่าถ้ามีใครมาแฮกเฟสบุ๊คของเราไปมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ตรงนี้ก็ต้องระวังและหวังว่าเฟสบุ๊คเองจะมีนโยบายความปลอดภัยเป็นพิเศษนะครับ
- การตัดบัตรผ่านเฟสบุ๊คโดยตรงนั้น มันไม่ผ่านระบบการเงินแบบเดิมๆ ทำให้อาจเกิดการหลีกเลี่ยงภาษี และการซื้อขายธุรกิจที่ไม่โปร่งใสก็ทำได้ง่ายขึ้นนะครับ
ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม
- สังคมไร้เงินสด ถ้าคนหันมาใช้ระบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผลดีด้านเศรษฐกิจก็คือ จะทำให้การทำมาค้าขายออนไลน์สะดวกสบายมากขึ้น และจะถึงขั้นลดการใช้เงินสดลงไปได้มาก ซึ่งก็จะนำไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society นั่นเอง
- เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น เมื่อคนหันมาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น คนขายของใช้ต้นทุนต่ำลง เพราะไม่จำเป็นต้องไปเปิดร้านค้าจริงๆ ให้เปลืองค่าเช่าที่
- กระทบภาษีอีคอมเมิร์ซ ปกติแล้วภาษีอีคอมเมิร์ซในช่องทางโซเชียลมีเดียก็จัดเก็บได้ยากอยู่แล้วนะครับ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของผ่านเฟสบุ๊คที่สนใจบริการชำระเงินนี้หลังจากหมดช่วงโปรโมชั่นแล้ว การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต จะมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด 2.75% และเนื่องจากเฟสบุ๊คมีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ ทำให้เงินไหลออกนอกระบบ การติดตามเรื่องราวที่เกี่ยวกับภาษีทำได้ยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลที่จะนำมาพัฒนาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ก็คงต้องรอความชัดเจนเรื่องภาษีอีคอมเมิร์ซในเร็วๆนี้ครับ
แน่นอนที่สุดว่า หากมีระบบการชำระเงินผ่านเฟสบุ๊ค แล้วมัน ปัง!! หรือเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลกระทบต่อการซื้อขายของรายอื่นๆ ไม่มากก็น้อย เว็บอีคอมเมิร์ซเองก็ต้องปรับตัว และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง สมัยนี้ใครๆก็ต้องเติมเต็มความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจให้ได้ครับ คุณล่ะครับพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตัวเองแล้วหรือยัง
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์