หลังจากที่มีดราม่าเล็กๆ เกี่ยวกับการถกเถียงกันถึงอนาคตของเทคโนโลยี AI ที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง Mark Zuckerberg และ Elon Musk โดย Mark เป็นหนึ่งในสาวกการใช้ AI โดยลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI ใน Facebook อย่างเต็มที่ ในขณะที่ฝ่าย Musk ออกมาแสดงความกังวลอย่างชัดเจนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะยังไม่มั่นใจในผลกระทบจากความฉลาดของ AI ที่อาจจะกลับมาทำลายมนุษย์เหมือนระบบ Skynet ในหนัง Terminator
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการใช้ AI เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด Bill Gates ถึงกับเสนอแนวคิดให้เก็บภาษีจากเจ้าพวกโรบอตซะเลยครับ เพื่อลดแรงกดดันในประเด็นที่ AI จะมาแย่งแรงงานมนุษย์ไป ไม่ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนอย่างไรก็ตาม แต่การพัฒนา AI ก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยความรวดเร็ว บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google หรือ Amazon เองก็มีข่าวการพัฒนา AI ออกมาอย่างต่อเนื่อง ใครยังไม่ขยับตัวตอนนี้ ระวังคู่แข่งนำหน้าไปไกลนะครับ
ที่มา: freecodecamp
AI ในชีวิตประจำวัน
จริงๆแล้ว AI เริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเรามาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยหลายๆคนอาจจะไม่รู้ตัว เช่น
- AI ใน Siri หรือ Google Now ที่เรียนรู้การออกเสียง การพูดให้เหมือนมนุษย์
- แอพนำทางอย่าง Google Maps ก็ใช้ AI เพื่อการแนะนำเส้นทางที่ดีที่สุด โดยประมวลผลจากข้อมูลความเร็วเฉลี่ยในการเคลื่อนที่ ณ ช่วงเวลานั้น ร่วมกับรายงานอุบัติเหตุ
- Facebook ที่ใช้ AI ในการทำ Face Recognition เพื่อ Tag รูปหน้าคนอัตโนมัติ News feed ที่แสดงผลเฉพาะสิ่งที่ผู้ใช้น่าจะให้ความสนใจ
- รวมถึงใครที่ใช้ Gmail ตอนนี้ จะเห็น Smart Reply ของ Google ที่ใช้ Machine Learning เพื่อแนะนำคำตอบสามรูปแบบที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในอีเมลล์นั้นๆ โดยเราสามารถเลือกกดคำตอบได้ ไม่ต้องพิมพ์ประโยคให้เสียเวลา
จากตัวอย่างที่ยกมา คงจะทำให้พอเห็นภาพแล้วนะครับว่า AI อยู่กับเราอย่างเนียนๆมาโดยตลอด
อีคอมเมิร์ซก็เริ่มใช้ AI แล้ว
ด้วยข้อได้เปรียบจากการทำตลาดแบบ Personalized ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การนำ AI มาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เริ่มมีการใช้งานอย่างจริงจังมากขึ้น
อย่าง Amazon ใช้ AI มาช่วยในการทำระบบค้นหา ที่เรียกว่า A9 ซึ่งจะดูข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า เช่น การกดดูสินค้า ประวัติการซื้อ ร่วมกับข้อมูลของสินค้าอย่างราคา หรือแม้แต่คะแนนรีวิวของสินค้า เพื่อแสดงผลการค้นหาให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้า “น่าจะ” ซื้อมากที่สุด นอกจากนี้ AI ยังสามารถแนะนำสินค้าใกล้เคียง หรือ ระบบ “Recommendation” ที่เราเห็นข้อความ “Customers who bought this item also bought … ” นั่นเองครับ มีรายงานว่า การทำ Recommendation ของ Amazon นั้นสามารถเพิ่มยอดขายได้สูงเกือบ 30% เลยทีเดียว
ในส่วนของอนาคตอันใกล้นี้ เตรียมพบกับการช้อปปิ้งในรูปแบบใหม่กันได้เลย ด้วยโปรเจคของ Amazon ที่วางแผนที่จะใช้ AI เพื่อคาดการณ์การบริโภคของลูกค้า เช่น รู้ว่าผงซักฟอกจะหมดอาทิตย์หน้า จะแจ้งเตือนเพื่อถามว่า ผู้ใช้ต้องการจะซื้อของหรือไม่ เพียงแค่ พูดว่า Yes ระบบก็จะสั่งสินค้า และจัดส่งให้ถึงบ้าน รวมถึงการใช้ AI Chatbot ในการตอบคำถามลูกค้า ซึ่งยังต้องมีการพัฒนากันต่อไปเพื่อให้ตอบคำถามได้เหมือนมนุษย์มากที่สุดครับ
ที่มา: Investment U
แรงงานจะถูกทดแทนด้วย AI
ด้วยความฉลาดของ AI ทำให้หลายๆอาชีพรู้สึกร้อนๆหนาวๆกันบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ เราเห็นการใช้โรบอตแทนแรงงานคนใน Dark Factory สำหรับธุรกิจการผลิตมาแล้ว จากนั้นไม่นาน เราก็เริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจค้าปลีกอย่าง Amazon Go ที่ลูกค้าสามารถหยิบของ แล้วกดมือถือเพื่อจ่ายเงินตอนออกจากร้าน ทำให้ร้านค้าสามารถลดจำนวนพนักงานในร้านลงได้ ซึ่งหาก AI สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพได้มากจนทัดเทียมกับมนุษย์ เช่น แชตบอตที่ตอบคำถามลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ระบบ Recommendation แนะนำสินค้าสำหรับลูกค้ารายบุคคลได้ ระบบการเช็คสต๊อก หรือสั่งสินค้าอัตโนมัติได้ เมื่อกระบวนการเหล่านี้ถูกแทรกแซงด้วย AI แล้ว แรงงานคนที่ปัจจุบันทำหน้าที่เหล่านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกลดจำนวนลงได้ครับ
มุมมองของแรงงานในอนาคต
ทั้งนี้ AI กับการทดแทนแรงงานมนุษย์ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะครับ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อนๆในวงการและ HR Manager ของไพรซ์ซ่าเอง ต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า AI ไม่สามารถเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานบริการ ที่ยังมีเรื่องของความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ และต้องการความเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบใหม่ๆ ในอีกมุมหนึ่ง การนำ AI เข้ามาใช้ในธุรกิจก็เป็นการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผมอยากให้ผู้ประกอบธุรกิจมองว่าจะนำ AI เข้ามาเสริมระบบและบริการให้ดีมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร และในด้านของแรงงานเอง ก็ควรจะเน้นพัฒนาทักษะในงานที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับ AI รวมถึงเพิ่มทักษะในงานที่ AI ไม่สามารถจะเข้ามาทำแทนได้จะดีกว่าครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์