E-wallet อนาคตการชำระเงิน จริงหรือ

หนึ่งในหัวข้อจากงาน Priceza E-Commerce Awards 2017 ที่พูดคุยกันถึงเรื่อง E-Payment หรือ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ว่าเป็น กระบวนการสุดท้ายของการซื้อขายบนออนไลน์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าที่บ่อยครั้งขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของระบบ และความสะดวกสบายของวิธีชำระเงิน ประเด็นสำคัญก็คือว่า E-wallet นั้น จะเป็นช่องทางการชำระเงินที่สำคัญในอนาคตได้จริงหรือ เราลองมาดูกันครับ

ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

การชำระเงินในอีคอมเมิร์ซนั้นนับว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวิธีการชำระเงินแบบเดิมๆที่จะจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า แต่ด้วยกระบวนการของอีคอมเมิร์ซ ลูกค้าต้องจ่ายเงินก่อนแล้วจึงได้สินค้าผ่านการจัดส่งในภายหลัง ทำให้ในช่วงแรกๆ การชำระเงินแบบ COD (Cash On Delivery) หรือ การจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในยุคที่ลูกค้ายังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดการที่สูง รวมถึงความน่าเชื่อถือของระบบการชำระเงินที่มีมากขึ้น ทำให้การชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆมีเพิ่มขึ้น เช่น การใช้เลขที่บัญชีรับโอนสำหรับการซื้อขายรายย่อย การใช้ Mobile Banking ที่มีธนาคารเป็นตัวกลาง จนถึงปัจจุบันที่เป็นยุคของช่องทางใหม่ๆอย่าง E-wallet ที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการชำระเงินเพิ่มขึ้น

E-wallet ใช้งานอย่างไร

จากที่เคยพกเงินสดติดกระเป๋าสตางค์  E-wallet เปลี่ยนเงินสดให้เป็นยอดเงินที่เก็บไว้ในระบบ และสามารถนำมาใช้ชำระค่าสินค้าได้ผ่าน Mobile Application โดยการเติมเงิน (Top-Up) เข้าสู่ E-wallet นั้น ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินสดไปที่เคาน์เตอร์ หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคารเข้าสู่บัญชี E-wallet หลังจากเติมเงินใน Wallet แล้ว เราสามารถใช้เงินได้หลายช่องทาง เช่น สแกนสมาร์ทโฟนกับเครื่องอ่านในร้านค้าที่รองรับ เปิดแอพฯเพื่อซื้อสินค้า เกมส์ สติ๊กเกอร์ไลน์ รวมถึงการโอนเงินออกจาก E-wallet ไปสู่บัญชีธนาคารผ่านหมายเลขพร้อมเพย์

ตัวอย่างของ E-wallet ที่คุ้นหูกันบ้างได้แก่ Airpay, mPay, PayPal, LINE Pay และผู้เล่นอีกหลายๆราย ซึ่งภายหลัง มีบางระบบที่สามารถต่อเข้ากับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต เดบิต ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้า แล้วตัดเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการเติมเงินก่อน ทำให้สามารถดึงเงินออกมาใช้จ่ายได้ง่าย และรวดเร็วขึ้นไปอีก

จะใช้ E-wallet ดีไหม

นอกจากความสะดวกสบายจากการที่ไม่ต้องพกเงินสดแล้ว E-wallet สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จากค่าโอนที่ถูกกว่า หรือไม่มีค่าธรรมเนียมเลย ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเพื่อซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ในขณะที่ฝั่งร้านค้าเอง การลดการใช้เงินสดนับเป็นการลดต้นทุนด้านการดูแล และบริหารเงิน โดยหากมองในภาพที่ใหญ่ขึ้นแล้ว E-wallet สามารถลดค่าใช้จ่ายของทั้งระบบ เนื่องจากการใช้เงินสดนั้นมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ผู้ใช้งานควรระวังเรื่องการใช้เงินให้รอบคอบด้วย เพราะการจ่ายเงิน E-wallet นั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เราใช้จ่ายง่ายขึ้น และมากขึ้นนั่นเอง

อนาคตของ E-wallet ในประเทศไทย

ในงานสัมมนา มีการแสดงสถิติว่า 57% ของผู้เข้าร่วมสำรวจในเอเชียใช้เงินสดในการใช้จ่ายเป็นหลัก โดยประเทศจีน ซึ่งอดีตเคยใช้เงินสดเป็นหลัก ในปัจจุบันมีเพียงแค่ 25% เท่านั้นที่ยังใช้เงินสดอยู่ เนื่องจากความนิยมในการใช้ E-wallet อย่าง Alipay หรือ WeChat  มีสูงมาก ในขณะที่ 70% ของคนไทยยังมีการใช้จ่ายในรูปแบบเงินสดอยู่ จึงนับว่ายังมีช่องให้ E-wallet ขยายตัวได้อีกมาก ส่วนด้านความเคลื่อนไหวของธุรกิจในประเทศไทย เราเริ่มเห็นแนวโน้มของธุรกิจที่มีฐานลูกค้าใหญ่ๆ พยายามทำ E-wallet ของตัวเอง ทั้งเพื่อลดต้นทุนการบริหารเงินสด และเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น

ความท้าทาย

ความท้าทายอย่างแรกคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า โดย E-wallet น่าจะเหมาะกับคนที่ไม่ชอบพกเงินสด หาที่กดเงินยาก ไม่มีแบงค์ย่อยให้แลกในเวลาที่ต้องการ ในขณะที่ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ใช้บัตรเครดิต ซึ่งคุ้นชินกับการได้ใช้สินค้าหรือบริการก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลัง ซึ่งตรงข้ามกับ E-wallet ที่ผู้ใช้จะต้องใส่เงินเข้าไปในบัญชีไว้ก่อน แล้วค่อยนำเงินมาจ่ายทีหลัง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า จะชักจูงให้คนกลุ่มหลังนี้มาใช้ E-wallet ได้อย่างไร

นอกจากนี้ E-wallet จะเป็นที่นิยมได้นั้น จำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่รองรับการชำระเงินด้วย E-wallet ซึ่งฝั่งรัฐบาลอาจจะเข้ามาสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพราะการชำระเงินแบบ E-wallet จำเป็นต้องอาศัยสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมถึงการมีตัวกลาง อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจจะเข้ามาสร้าง E-wallet กลางหรือทำการเชื่อมต่อและรวบรวม E-wallet หลายๆรายเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องดูแลกระเป๋าเงินหลายใบ

ประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงแรกของการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา เราได้เห็นความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ร่วมกันพัฒนา และเสนอบริการใหม่ๆเพิ่มเติม นั่นทำให้ผมมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ E-wallet จะเป็นหนึ่งในช่องการชำระเงินที่สำคัญในอนาคตครับ

 

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s