อีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ณ ตอนนี้ค่อนข้างเป็นที่จับตามองกันแล้วว่าทิศทางของวงการอีคอมเมิร์ซในปี 2018 จะเป็นอย่างไรจะเติบโตไปอีกมากกว่าเดิมแค่ไหน โดยล่าสุดมีข้อมูลจากทาง ETDA ซึ่งออกมาประกาศว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 10 อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มตลาดที่ซื้อขายแบบ B2B ยังคงมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นร้อยละ 59.56 รองลงมาคือ B2C คิดเป็นร้อยละ 29.89 และ B2G คิดเป็นร้อยละ 11.55 และทาง ETDA ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้ มูลค่าอีคอมเมิร์ซรวมทั้งหมดจะเติบโตเป็นกว่า 2.8 ล้านล้านบาท
อีคอมเมิร์ซในไทย
ปัจจุบันในประเทศไทย การแข่งขันของร้านค้าต่างๆ ในโลกออนไลน์สูงมาก มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นในวงการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME ที่เข้ามาเพิ่มช่องทางในการขายออนไลน์ แล้วก็ยังมีแบรนด์ต่างๆ ที่หันมาจับช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม รวมถึงบริษัทต่างชาติรายใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย อย่างล่าสุด JD.com บริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ก็ประกาศลุยธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว
แน่นอนว่าการที่ผู้เล่นมากขึ้น ส่งผลต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือด ธุรกิจรายใหญ่จำพวก Marketplace จึงต้องงัดกลยุทธ์มาสู้ศึกกัน และอาจทำให้ธุรกิจรายย่อยแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องด้วยข้อจำกัดของเงินทุนที่สู้ธุรกิจรายใหญ่ไม่ได้
ในงาน Priceza Awards 2017 ที่เพิ่งผ่านไป กูรูของวงการอีคอมเมิร์ซหลายท่านที่ได้เข้าร่วมงานเพื่อแสดงความคิดเห็นต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2018 การลงสนามของธุรกิจรายเล็กๆ ไปจนถึงรายกลางจะต้องสู้ศึกกันเหนื่อย
มุมมองที่มีต่อ SME
คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO ของ Nasket ได้แชร์ความเห็นเสริมว่า สิ่งที่ธุรกิจ SME ไปจนถึง ธุรกิจขนาดกลางอย่างพวกแบรนด์ต่างๆ จะเหนื่อย ก็คือ จะมองหาช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคยากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ พยายามวางกลยุทธ์ในลักษณะที่ว่า “เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็กของตัวเอง” ข้อมูลจาก ETDA ยังช่วยเสริมอีกว่ามูลค่าการขายอีคอมเมิร์ซในฝั่ง SME นั้นยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับ ธุรกิจรายใหญ่ระดับองค์กร โดยมูลค่าการขายของ SME ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่าราวๆ 3.7 แสนล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการขายของธุรกิจรายใหญ่สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวค่อนข้างสะท้อนให้เห็นว่าบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่หนีมาจับฝั่งออนไลน์นั้นจะต้องหากลยุทธ์ที่จะมาทำให้ธุรกิจของตัวเองต่อสู้ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดนี้ให้ได้
SME เตรียมพร้อมรับมือรายใหญ่
เทคนิคหนึ่งที่ได้มาจากงานฯ คือเทคนิค PPC ที่คุณผรินทร์ CEO ของ Nasket ฝากไว้เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับบรรดาอีคอมเมิร์ซที่เป็น SME ได้นำไปใช้กัน ได้แก่
P – Platform
เรื่องของแพลตฟอร์มเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ผู้ประกอบการต้องพยายามสร้างแพลตฟอร์มให้ได้
เช่น การสร้างคอมมิวนิตี้เล็กๆ ของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สร้างฐานลูกค้าของตัวเองให้เกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้เรามีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งของเราเอง ข้อสำคัญคือ ผู้ประกอบการไม่ควรคิดแค่ว่าจะขายของ แต่จะต้องมองหาแพลตฟอร์มที่จะเป็นพื้นที่ธุรกิจของเราได้จริง เมื่อเราหาแพลตฟอร์มนั้นพบแล้ว เราก็จะเห็นว่าฐานลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน แล้วก็จะเป็นการสร้างพื้นที่ที่เราจะเข้าถึงฐานลูกค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
P – Partner
ธุรกิจหนึ่งธุรกิจ โดยเฉพาะรายเล็ก เราไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ตั้งแต่ ให้บริการเว็บไซต์ ขายสินค้า ให้บริการช่องทางชำระเงิน ไปจนถึงโลจิสติกส์จัดส่งสินค้า เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องทำเองทั้งหมด ผู้ประกอบการควรหาพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อช่วยดำเนินงานในส่วนที่เราไม่ชำนาญ และไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
C – Customer
เป็นหนึ่งข้อที่ต้องจำให้แม่นคือ ผู้ประกอบการจะต้องรู้จักลูกค้าของธุรกิจเราเอง เราต้องรู้ว่าลูกค้าของเราคือกลุ่มไหน ข้อเสียเปรียบของธุรกิจรายเล็กนั้นก็คือ การมีเงินทุนที่จำกัดทำให้เราไม่สามารถทดลองดูก่อน หรือขายของแบบหว่านๆไป เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น เราอาจจะเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ก็ได้
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเราเจอพื้นที่ของตัวเองอย่างชัดเจน แล้วโฟกัสไปกับแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง และกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องสำหรับธุรกิจเรา พร้อมกับมอบบริการที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าโดยมีพาร์ทเนอร์ที่ดีร่วมกันดำเนินงาน ทั้ง 3 สิ่งนี้จะนำพาธุรกิจของเราไปสู่ความสำเร็จได้ครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์