โลจิสติกส์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจซึ่งมาแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างมากของตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคมาใช้บริการ ซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น จึงนำไปสู่ความต้องการในการจัดส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากการรายงานของ World Bank, Boeing, และ Golden Valley Co. พบว่า มูลค่าตลาดการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมๆแล้วมีมูลค่าถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว และแน่นอนว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก ตามความนิยมของการใช้บริการอีคอมเมิร์ซทั่วโลก
ที่มา: BI Intelligence
ความเคลื่อนไหวอีคอมเมิร์ซรายใหญ่
ที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆอย่าง Amazon, Alibaba, และ Walmart ต่างก็ให้ความสนใจ Last-Mile Delivery หรือการจัดส่งไม้สุดท้ายก่อนถึงมือลูกค้า แต่ในระยะหลัง บริษัทเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการในส่วนอื่นๆของโลจิสติกส์มากขึ้น ดังตัวอย่างที่เราเห็นจากหน้าข่าว เช่น
- Alibaba ประกาศลงทุน 100 พันล้านหยวน สำหรับการลงทุนตลอดห้าปีจากนี้ไป เพื่อสร้าง Global Logistics Network รองรับการค้าของ Alibaba ในต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุน 5.3 พันล้านหยวนใน Cainiao Smart Logistics Network เพื่อเน้นการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูล การปรับปรุงโกดัง และการพัฒนาการขนส่ง
- Amazon เริ่มนำระบบเทคโนโลยี และ Automation มาใช้ในโลจิสติกส์ เช่น ใช้โดรนขนส่งสินค้า รถยกสินค้าเคลื่อนที่อัตโนมัติ (Self-Driving Fork-Lift) รวมถึงหุ่นยนต์ Kiva กว่า 45,000 ตัวสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าในโกดังกว่า 20 แห่ง ซึ่งช่วยให้ Amazon สามารถลดต้นทุนการจัดการไปได้ถึง 20% และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่านี่เอง Amazon จึงสามารถสร้างแต้มต่อด้านราคาเหนือคู่แข่งได้ เช่น ให้บริการจัดส่งฟรี
- Walmart ประหยัดค่าจัดการขนส่ง ด้วยการให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และรับสินค้าที่สาขา รวมถึงการทดลองให้บริการ Site to Store Self-Service Locker หรือการสั่งสินค้าออนไลน์ แล้วจัดส่งที่ตู้ล็อคเกอร์ที่สะดวกรับ
ที่มา: FORA.tv
ความเคลื่อนไหวอีคอมเมิร์ซในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย
ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าการขนส่ง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชะลอความเติบโตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพภูมิประเทศ เส้นทางการเข้าถึงของพื้นที่ ปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงประสบการณ์การทำโลจิสติกส์ที่ยังมีไม่มาก นักลงทุนหลายเจ้าจึงหันมาให้ความสำคัญกับ Startup ที่ทำ Last-Mile Delivery อย่าง Ninja Van, Sendit และ Go-Jek โดยหลังจากนี้ ยังมีข่าวว่าบริษัทใหญ่อย่าง Alibaba และ Amazon จะเข้ามาเจาะตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น เราคงได้เห็นระบบขนส่งสินค้าในส่วนอื่นๆที่จะพัฒนามากยิ่งขึ้นไปด้วย
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการหลายราย ซึ่งแต่ละรายก็มีความถนัด และจุดเด่นของบริการที่แตกต่างกัน เช่น Kerry Express เน้นการขนส่งที่รวดเร็ว Lalamove เน้นการจัดส่งแบบ On-Demand ในขณะที่ SCG Express เน้นเรื่องการให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้รับสินค้า หรือ Skootar ที่เน้นการขนส่งเอกสาร ซึ่งธุรกิจสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้นั้น ถึงแม้ว่า เอกชนจะมีความพร้อมทางเทคโนโลยี แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการทางกฏหมาย ก็อาจจะทำให้เกิดความติดขัดได้ เช่น การใช้โดรนในการขนส่งสินค้าที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อจัดระเบียบการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น
เทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับโลจิสติกส์
หลักๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องของ
- การนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเรื่องของโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ของลูกค้า ที่ต้องการได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ในราคาที่ถูกลง
- การนำเสนอวิธีการจัดส่งในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ อย่างการให้บริการขนส่งด้วยรถที่มีห้องเย็น เพื่อรองรับสินค้าที่เป็นอาหารสด หรือ เบเกอรี่
- ความนิยมของอีคอมเมิร์ซที่จะ Outsource งานโลจิสติกส์น่าจะขยายตัวขึ้น เพราะงานโลจิสติกส์มีรายละเอียดมาก และมีความซับซ้อน การเลือกใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้อีคอมเมิร์ซประหยัดเวลา เพื่อไปโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองถนัด
ทั้งนี้ การที่อีคอมเมิร์ซจะดำเนินการขนส่งด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ควรจะมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ว่าเพราะเหตุใดถึงต้องดำเนินการเอง หรือ อาจจะเลือกใช้รูปแบบผสม เช่น มีพนักงานจัดส่งของของบริษัทไว้จำนวนหนึ่ง แล้วใช้บริการจากบริษัทภายนอก เมื่อมีความต้องการในการจัดส่งมากขึ้น
ในส่วนความท้าทายของธุรกิจการขนส่งสินค้าก็จะมีเพิ่มมากขึ้นสำหรับแผนการรองรับปริมาณสินค้า ที่รอการขนส่งได้อย่างเพียงพอสำหรับการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในอนาคต ตามความต้องการขึ้นลงของสภาพตลาด ทั้งยังต้องรักษาคุณภาพของการให้บริการ และคุณภาพของพนักงานให้อยู่ในมาตรฐานเสมอ อีคอมเมิร์ซและระบบขนส่งสินค้า จึงเป็นคู่ที่ส่งเสริมกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องมีการปรับตัว กำหนดทิศทาง และวางแผนไว้ให้ชัดเจนครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนด้านข้อมูล และทิศทางให้กับผู้ประกอบการทุกท่านนะครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์