หลังจากที่มีข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินสามารถให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกิจอีมาร์เก็ตเพลสของตัวเองได้ โดยมีแนวความคิดว่าธนาคารนั้นมีความพร้อมที่จะทำธุรกิจทางด้านอีมาร์เก็ตเพลสได้อย่างปลอดภัย และยั่งยื่น มีความชำนาญในเรื่องของการชำระเงินในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และธนาคารบางแห่งก็มีธุรกิจ FinTech อยู่แล้ว รวมทั้งธนาคารเป็นสถาบันที่จะสนับสนุนกิจกรรมของธุรกิจรายย่อยต่างๆในประเทศ
การให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace Platform) คือการให้บริการพื้นที่หรือสื่อกลางผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร การอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจแบบออนไลน์ และการสร้างเครือข่าย ซึ่งมีข้อห้ามคือ ห้ามธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ทำการผลิตสินค้าหรือบริการ รวมถึงการซื้อและจัดเก็บสินค้าหรือบริการไว้เพื่อการค้า เว้นแต่จะเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
ที่มา: Digital Commerce 360
เรียนรู้ โมเดลธนาคารในจีน
ICBC หรือ Industrial and Commercial Bank of China ธนาคารรายใหญ่ของจีนที่เข้าสู่อีคอมเมิร์ซในปี 2014 ด้วยการใช้ทรัพยากรทางการเงินมหาศาลในการเสนอเงินกู้ให้กับธุรกิจ และผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์บนพอร์ทัลของธนาคารที่มีชื่อว่า Rong E Gou ซึ่งมีความหมายว่า “ซื้อได้ง่าย” มีร้านค้าเข้าร่วมมากกว่า 10,000 ร้านค้า
โดยมีหมวดสินค้าเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร และเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังขายทอง งานศิลปะ และการลงทุนประเภทต่างๆอย่างประกัน เป็นต้น Rong E Gou มียอดขายรวมทั้งเว็บไซต์จากผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆถึง 184 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016
จุดเด่นของ Rong E Gou ก็คือลูกค้าสามารถผ่อนชำระสินค้าที่มีราคาสูงได้ด้วย และในปี 2015 ก็ได้เพิ่มการทำธุรกิจแบบ B2B ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 218 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย ICBC กล่าวว่า การขายสินค้าผ่าน Rong E Gou นั้นช่วยให้ผู้ขายพัฒนา Credit Rating และได้รับสินเชื่อจากธนาคารมากขึ้น ช่องทางในการโปรโมทก็คือฐานลูกค้าของธนาคารนั่นเองครับ ซึ่งลูกค้าที่มีแอปพลิเคชันของธนาคารมีจำนวนถึง 210 ล้านราย กลยุทธ์ในการกระตุ้นการซื้อขาย คือการใช้ Loyalty Program นอกจากนี้ยังทำ Cross-Border อีกด้วยครับ
เตรียมความพร้อม ต่อยอดบริการ
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ได้เกริ่นไว้คร่าวๆในงาน ไพรซ์ซ่าอีคอมเมิร์ซอวอร์ด เมื่อพฤจิกายนปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมของกสิกรในการที่จะเข้ามาสนับสนุนแวดวงอีคอมเมิร์ซ โดยให้ข้อมูลของ K-Plus Mobile Banking ที่มีคนใช้งาน 7 ล้านคน โดยมี Buying Power 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ขายยังสามารถขยายตลาดด้วยการเปิด K-Plus Shop ด้วยวิธีการที่สะดวกรวดเร็วเพียงเจนคิวอาร์ก็เปิดร้านได้เลยซึ่งมีร้านค้าเข้าร่วมถึง 150,000 ร้านค้า ในปี 2017 และคาดว่ากลางปี 2018 จะครบ 1 ล้านร้านค้า กสิกรเองไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า ใครก็ตามสามารถนำของมาขายได้ ไม่ได้คิดที่จะเข้ามาแข่งขันกับมาร์เก็ตเพลสที่มีอยู่เดิม และยังมองว่าตรงนี้สามารถช่วยมาร์เก็ตเพลสได้ด้วย
รู้ไว้ แล้วไปต่อ
แล้วข้อได้เปรียบของธนาคารในการก้าวเข้ามาตลาดอีมาร์เก็ตเพลส จะมีอะไรบ้าง และผู้ประกอบการจะเรียนรู้ในมุมไหน ลองไปดูกันครับ
#ข้อมูลและฐานลูกค้า
เนื่องจากธนาคารมีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้ว ก็จะเป็นข้อได้เปรียบในการที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้กับลูกค้าปัจจุบันที่มีจำนวนมหาศาลได้ง่าย ยิ่งมีข้อมูลของลูกค้าก็นำมาวิเคราะห์ เรียนรู้พฤติกรรม และต่อยอดในการส่งเสริมการขายด้วยการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Personalized Marketing) ได้อีก
#การชำระเงินเบ็ดเสร็จ
ความแข็งแกร่งของธนาคารก็คือ การชำระเงิน ยิ่งจ่ายเงินง่าย ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายได้ง่ายขึ้น หมดปัญหาค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้า
#มีเงินลงทุนมาก
ลงทุนกับอะไรบ้างครับ เช่น สามารถลงทุนไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และส่งเสริมประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ลงทุนกับแผนส่งเสริมทางการตลาด การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ
#สนับสนุนร้านค้า SME ที่เป็นผู้กู้ของธนาคาร
ตรงนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธุรกิจ SME ที่ยังไม่คิดจะเข้ามาในโลกออนไลน์ จะได้รับโอกาสและแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคาร ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการขายอีกช่องทางหนึ่งครับ
การแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ข้อดีก็คือประโยชน์จะตกแก่ลูกค้าแน่นอนครับ แต่สำหรับผู้ประกอบการจุดสำคัญคือ ถึงแม้ว่าธนาคารอาจจะไม่ใช่คู่แข่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซซะทีเดียว แต่ผู้ประกอบการก็คงนิ่งเฉยไม่ได้ เราควรเรียนรู้จากจุดเด่น แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเรา เพื่อมองให้ออกว่าเราจะต้องเดินเกมในสนามแข่งขันนี้อย่างไร
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์