ย้อนดูอีคอมเมิร์ซเอเซีย เพื่อก้าวต่อไปของอีคอมเมิร์ซไทย

หลายครั้งที่ผมมักพูดถึงความเคลื่อนไหวของอีคอมเมิร์ซฝั่งอเมริกา อย่าง Amazon หรือ Walmart แต่ครั้งนี้ขอลงมาที่ฝั่งเอเซียของเราบ้างครับ ปีที่แล้วอีคอมเมิร์ซในเอเซียค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสองผู้เล่นหลักอย่าง Alibaba และ JD.com อีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีความพยายามในการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับนานาชาติไปยังหลายประเทศ โดยทั้งสองได้ลงแรงอะไรกันไปบ้าง ผมคัดเอาไฮไลท์มาให้ติดตามกันครับ

Alibaba

  • ดูเหมือนว่าปีที่แล้ว Alibaba จะเน้นหนักไปกับการทำธุรกิจข้ามพรมแดน (Cross-border) โดยมุ่งเข้าสู่ตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีการลงทุนระดับพันล้านเหรียญฯไปที่ Lazada ซึ่งก่อตั้งโดย Rocket Internet ประเทศเยอรมนี ในรูปแบบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบเดียวกับ Amazon และ Alibaba เหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ก็เพื่อหาตลาดใหม่อย่างเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยฐานลูกค้าเดิมของ Lazada ทั้ง 6 ประเทศ
  • นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของเขตการค้าเสรีดิจิทัล หรือ Digital Free Trade Zone ที่ได้ความร่วมมือจากมาเลเซีย เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้า และส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กโดยเป็นจุดเชื่อมต่อการซื้อขายสินค้าทั่วโลก แผนก็คือมีการสร้างโกดังสินค้าและจะนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาส่งเสริมในการดำเนินธุรกิจ
  • ไม่เพียงแต่ธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้นที่ Alibaba ให้ความสนใจ อินเดียก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับเงินลงทุนอย่าง Paytm บริษัทอีคอมเมิร์ซและระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียโดยถือหุ้น 62% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด หลังจากที่เคยเข้าไปถือหุ้นของ Snapdeal ในสัดส่วน 5%

Image result for alibaba lazada investment

ที่มา: CNBC

JD.com

  • อีคอมเมิร์ซอันดับสองในจีน ได้ร่วมมือกับ Tencent บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน เพื่อเดินเกมอีคอมเมิร์ซกับ Alibaba ด้วยการลงทุนเพิ่มเติมใน Vipshop เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์ของจีน ซึ่งมีจุดแข็งในการทำ Flash Sale และการขายสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย
  • การร่วมมือระหว่าง JD.com และ Tencent ทำให้ WeChatPay กลายเป็น Mobile Payment ที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 900 ล้านคน ความร่วมมือนี้รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้า ประวัติการซื้อสินค้าใน WeChat นำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป
  • นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับ Walmart เพื่อแชร์คลังสินค้าร่วมกัน โดยให้สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก Walmart ในการซื้อสินค้าผ่าน JD.com เช่น ส่วนลด และโปรโมชั่นต่างๆ
  • ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อส่งเสริมอีคอมเมิร์ซและฟินเทค มองถึงจุดแข็งของเซ็นทรัลที่เป็นธุรกิจค้าปลีกชั้นนำที่มีร้านค้า Physical Stores เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจแบบ Omnichannel รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าด้วย
  • Pomelo เองก็ได้รับเงินทุนจาก JD.com เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการบุกตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

Image result for jd tencent partnership

ที่มา: Social Brand Watch

ตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังใหม่และมีโอกาสไปต่อได้อีก

เมื่อผู้คนหันมาค้าปลีกออนไลน์มากขึ้นจึงกลายเป็นเหมืองทองคำอีคอมเมิร์ซที่ผู้เล่นรายใหญ่ต้องการเข้าร่วม ปีที่ผ่านมานี้เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ผู้ประกอบการต่างชาติเขาทำอะไรไปบ้าง แล้วผู้ประกอบการไทยควรจะทำอย่างไรต่อไปในปีนี้ ผมขอแนะนำครับ

  • Social Commerce อีกหนึ่งช่องทางที่ยังมีโอกาส ถึงแม้ว่าคู่แข่งจะมีจำนวนค่อนข้างมาก และเงื่อนไขการเข้าถึงลูกค้าอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการเท่าใดนัก แต่การใช้โซเชียลมีเดียก็ยังมีความสำคัญ ในแง่ที่ว่าอย่างน้อยใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างธุรกิจและลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการต่างๆ
  • การรักษาฐานลูกค้า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเร่งลงมือทำในปีนี้ครับ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คู่แข่งมากขึ้นกลยุทธ์ทางการตลาดแรงๆก็อาจดึงดูดลูกค้าเราให้กลายเป็นลูกค้าเขาไปง่ายๆ แผนในการรักษาลูกค้าปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องลงทุนเพื่อความสำเร็จในระยะยาวครับ
  • เดินหน้า Omnichannel เต็มตัว ในปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ความเป็นไปได้เกี่ยวกับ Omnichannel ไว้พอสมควรนะครับ สำหรับธุรกิจหลายๆรายที่หันมาใช้ Omnichannel กัน ยอดขายอีคอมเมิร์ซมักเกิดจากหลายช่องทาง อย่างที่ข้อมูลของไพรซ์ซ่าเองที่พบว่า ผู้เข้าใช้งานไพรซ์ซ่า 70% เข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เพื่อทำการค้นหาสินค้า และเปรียบเทียบราคา ในขณะที่ทำการซื้อสินค้าผ่านคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้ค 76% และซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน 24% จุดสำคัญของการทำ Omnichannel นั่นคือการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบเข้าด้วยกัน หากเป็นไปได้จะต้องรู้ว่าลูกค้าเราเข้าใช้งานผ่านช่องทางใด และเรายังขาดช่องทางใดที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อไปยังลูกค้า ตรงนี้ก็เป็นอีกโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดครับ

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีที่ผ่านมาเป็นแรงผลักให้ธุรกิจโลจิสติกส์ และอีเพย์เมนท์โตขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ก็พยายามสร้างธุรกิจต่างๆขึ้นมารองรับทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยคึกคักเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย จะไม่ใช่ผู้เล่นในประเทศเท่านั้น แต่จะเต็มไปด้วยผู้เล่นจากต่างชาติพร้อมด้วยเงินทุนจำนวนมหาศาล ดังนั้น การแข่งขันก็จะรุนแรงมากขึ้นไปอีก เป็นห่วงก็แต่ผู้เล่นรายย่อยที่จะต้องปรับตัวให้ได้ในภาวะการณ์เช่นนี้ครับ

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s