JD.com กับกลยุทธ์เพื่อความเป็นหนึ่งในด้าน อีคอมเมิร์ซ และอีโลจิสติกส์

เชื่อว่าในเมืองไทยคงได้ยินชื่อของ JD.com หลังจากข่าวร่วมทุนเมื่อปีที่แล้ว หลายๆท่านอาจจะยังคิดว่า JD.com เป็นบริษัทที่เน้นการให้บริการอีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว JD.com นั้นถือได้ว่าเป็นทั้งผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซและยังครอบคลุมถึงการบริหารจัดการอีโลจิสติกส์ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากผู้เล่นรายใหญ่อื่นๆ และถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการที่จะบุกขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งท่ามกลางสมรภูมิรบอันร้อนแรงที่สุดในเวลานี้

JD.com กับการเข้าสู่อีโลจิสติกส์

หากย้อนไปช่วงแรก ที่ JD.com เพิ่งขยับเข้ามาในวงการอีคอมเมิร์ซการจัดส่งสินค้าผ่านทางผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภายนอกก่อให้เกิดปัญหาในด้านบริการค่อนข้างมาก เช่น การจัดส่งล่าช้า สินค้าเสียหาย หรือสูญหายไม่ถึงมือผู้รับ รวมไปถึงคุณภาพของการให้บริการ ทาง Richard Liu CEO ของ JD.com จึงริเริ่มที่จะจัดส่งสินค้าด้วยบริการโลจิสติกส์ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อควบคุมประสบการณ์การใช้บริการอีคอมเมิร์ซของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด ซึ่งกลยุทธ์นี้จะแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น เช่น Alibaba ซึ่งจะเน้นการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ Third-party logistics รายอื่นๆ มากกว่าที่จะลงทุนด้านโลจิสติกส์เองทั้งหมด

ถ้าเรามาดูรายละเอียดการบริการด้าน Logistics ของ JD.com ก็จะพบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เช่น ในจำนวนพนักงาน JD.com ทั้งหมดราว 120,000 คน เป็นพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่ง และคลังสินค้า รวมกันราวๆ 80,000 คนเลยทีเดียว และความยิ่งใหญ่ของการบริการโลจิสติกส์นี้ยังครอบคลุมประชากรในประเทศจีนได้ถึง 98% (อย่าลืมนะครับว่าประเทศจีนมีขนาดใหญ่พอๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มีความหนาแน่นของประชากรมากกว่าสามถึงสี่เท่าตัว) นั่นหมายความว่าบริการจัดส่งภายในวันที่ซื้อ หรือภายในวันรุ่งขึ้นนั้นสามารถครอบคลุมประชากรในประเทศจีนได้ถึง 600 ล้านคนเลยทีเดียว

การที่สามารถบริหารจัดการโลจิสติกส์ของตัวเองได้นั้น นอกจากช่วยควบคุมประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าให้ดีที่สุดแล้ว ทาง JD.com ยังสามารถลดต้นทุนโดยรวมที่จะต้องใช้เพื่อจัดจ้าง Third-party logistics เจ้าอื่น และยังสามารถที่จะเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดส่ง เข้าไปได้อย่างรวดเร็วตามที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถที่จะเสริมการบริการแบบพิเศษได้เองด้วย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเจรจาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับทาง Third-party logistics

ที่มา: eft supply chain intelligence

ใช้พาร์ทเนอร์สร้างลูกค้า

ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจาก JD.com มี Tencent ซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตและเกมออนไลน์ของจีน เข้ามาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ โดย Tencent ยังเป็นเจ้าของ WeChat, QQ, JOOX หรือแม้กระทั่ง Sanook อีกด้วย ซึ่งจุดนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กว่า 25% ของจำนวนลูกค้าใหม่ มีทราฟฟิคมาจาก WeChat กับ QQ นั่นเอง และถ้ามองย้อนขึ้นไปอีกขั้น Walmart ก็มีการลงทุนใน Tencent ด้วยเช่นกัน ซึ่งองค์ประกอบของพาร์ทเนอร์เหล่านี้ จะช่วยให้ JD.com มีช่องทางในการขยับขยายธุรกิจได้มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

อนาคตของ JD.com

ในส่วนของการวางแผนในอนาคต ทาง JD.com ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งของตนเองในด้านโลจิสติกส์ขึ้นไปอีก โดยเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ทาง JD.com ได้จัดตั้ง Business unit ที่ชื่อว่า JD Logistics ขึ้นมาใหม่ เพื่อขยับขยายการบริการทางด้านโลจิสติกส์ของตนเองออกไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีแผนการที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการนำเทคโนโลยีทั้ง A.I. Artificial Intelligence, Big Data และ Robot Automation เข้ามาใช้งาน ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ การจัดส่งทางอากาศด้วยโดรน หรือแม้กระทั่งการจัดส่งของโดยใช้หุ่นยนต์ โดยมีเป้าหมายหลักก็คือ การสร้าง Smart supply chain ในสเกลระดับโลก

จะเห็นได้ว่า JD.com มองอีโลจิสติกส์เป็นจุดแข็งและเป็นโอกาสที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งของตนเองได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นทั้งส่วนเสริมให้อีคอมเมิร์ซของตนแข็งแกร่งขึ้นไปอีก และในอีกด้านหนึ่งก็สามารถขยายการบริการทางด้านอีโลจิสติกส์ เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย และการทีมีจุดแข็งที่ช่วยส่งเสริมกันทั้งสองด้าน อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการที่จะขึ้นมาเบียด Alibaba ในการเป็นที่หนึ่งด้านอีคอมเมิร์ซก็เป็นได้ครับ

JD.com Drone

ที่มา: Popular Science

JD.com ในประเทศไทย

ในส่วนของบ้านเราทาง JD.com เองก็มีประกาศความร่วมมือทางด้านการลงทุนกับ เซ็นทรัลกรุ๊ปไปเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเซ็นทรัลถือเป็นผู้เล่นในประเทศที่มีเครือข่ายร้านค้า (Physical stores) ที่แข็งแกร่ง ถ้าได้ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ และอีโลจิสติกส์ อย่าง JD.com มาเป็นพาร์ทเนอร์ เราน่าจะเห็นการแข่งขันหรือบริการในรูปแบบใหม่ๆ ในเร็ววันนี้ก็เป็นได้ครับ

ซึ่งไม่ว่าการแข่งขันหรือการบริการจะออกมาในรูปแบบใด ถือว่าเป็นการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้ก้าวไปอีกระดับครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการใช้เป็นไอเดียในการพัฒนาธุรกิจของตนเองต่อไปนะครับ

 

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s