การสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าที่โดดเด่นย่อมสร้างแต้มต่อได้เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดอีคอมเมิร์ซ การนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือเทคโนโลยีที่นำเสนอภาพ 3 มิติ มานำเสนอด้วยการมองผ่านกล้องหรืออุปกรณ์ต่างๆมาใช้เพื่อทำการตลาดเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรง ธุรกิจสามารถใช้ AR เพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการแสดงสินค้าบนหน้าจอมือถือ ผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ตรงหน้าผู้ใช้งาน ทำให้ดูเหมือนว่ามีสินค้านั้นอยู่ตรงหน้าจริงๆ ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ AR ในรูปแบบของเกม อย่าง Pokemon Go ที่ให้เราไล่จับโปเกม่อนตามที่ต่างๆเทคโนโลยีตัวเดียวกันนี้ครับ ที่สามารถนำ AR มาปรับใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน
เข้าถึงตลาดด้วยนวัตกรรม
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย บน Snapchat ที่เข้าร่วมชมการแข่งขันบาสเกตบอล NBA All-Star ใน Los Angeles เมื่อเดือน กพ. 2018 สามารถกดดูภาพสามมิติที่ Michael Jordan กำลังลอยตัวกลางอากาศระหว่างการแข่งขัน Slam Dunk เมื่อปี 1988 โดยผู้ใช้งานแอพฯสามารถกดเปลี่ยนดูมุมต่างๆของ Jordan ได้ ทั้งยังสามารถกดเพื่อเปลี่ยนชุด รวมถึงเปลี่ยนให้เป็นรองเท้ารุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Air Jordan III “Tinker” สินค้าตัวใหม่ของ Nike ที่ยังไม่ได้ออกขายในตลาด ณ ขณะนั้น โดยหลังการแข่งขัน Snapchat ได้ส่ง QR code ให้กับแฟนกีฬาที่เข้าร่วมงาน After party ซึ่งเป็นลิงค์ไปยังการซื้อรองเท้ารุ่นนี้ใน Shopify โดยนอกจากตัวสินค้าเองที่ยังไม่มีวางขายในตลาดแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นคือการจัดส่งรองเท้าภายในคืนนั้นทันที ผลปรากฏว่า รองเท้ากีฬารุ่นนี้ขายหมดภายใน 23 นาที
ทดลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ
- เป็นธรรมดาที่ก่อนจะตัดสินใจซื้อเราก็อยากจะทดลองใส่ ทดลองใช้เพื่อให้มั่นใจว่าจะเหมาะกับเราหรือไม่ รองเท้า Converse สร้าง The Sampler เป็นแอพฯที่ให้ลูกค้าเลือกรองเท้าที่ถูกใจจากแคตตาล็อกก่อนที่จะหันกล้องไปที่เท้า ซึ่งจะปรากฏรองเท้า Converse แบบที่เลือกไว้แสดงบนเท้าของเรา เสมือนว่ากำลังใส่รองเท้าคู่นั้นอยู่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า ใส่รองเท้าแบบนั้นแล้วจะดูเป็นอย่างไร
- หรืออีกหนึ่งตัวอย่างของ Virtual Artist แอพฯของร้านขายเครื่องสำอางอย่าง Sephora ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทดลองเครื่องสำอาง อย่างอายไลเนอร์ บรัชออน หรือลิปสติก ด้วยการกดเลือกสีผ่านแอพฯเพื่อให้ AR จำลองการทาเครื่องสำอางลงบนหน้าผู้ใช้งาน เพียงแค่กดเลือกสีที่ต้องการก็จะเห็นได้ทันทีว่า สีไหนเข้ากับหน้า หรือสีไหนจะเข้ากับสีชุดที่ใส่ ซึ่งการทดลองเครื่องสำอางบน AR กลับมีข้อดีที่เหนือกว่าการทดลองใช้จริงเสียอีก เพราะการทดลองเครื่องสำอางบน AR ไม่ต้องเสียเวลาเช็ดเครื่องสำอางออกเพื่อลองสีใหม่
ตัดสินใจซื้อง่าย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ไม่เพียงแค่เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องสำอางเท่านั้น AR ยังถูกนำมาใช้ส่งเสริมการขายกับสินค้าภายในบ้านอีกด้วย Amazon ออกฟีเจอร์ที่เรียกว่า AR View ในแอพฯบนมือถือ โดยเราจะเห็นสินค้าตัวอย่างในแอพฯและสามารถลองจัดวาง เลื่อนตำแหน่ง หรือ หมุนตัวสินค้าเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ในบ้านของเราได้ เช่น ทดลองจัดวางเครื่องครัวในห้องครัวเพื่อดูขนาด และสไตล์ว่าเข้ากับห้องหรือไม่
- นอกจากนี้ AR ยังถูกนำมาใช้กับสินค้าอย่างเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน IKEA ออกแอพฯบนมือถืออย่างAR catalog แอพฯซึ่งมีความสามารถในการจำลองโมเดลสินค้าเช่นโซฟา แล้วส่องมือถือไปยังพื้นที่จัดวาง ทำให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจนว่า โซฟาตัวนี้มีขนาดที่จะจัดวางได้พอดี และเข้ากับพื้นที่หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ AR ไม่เพียงแค่ช่วยส่งเสริมการขายเท่านั้น แต่ AR ยังช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดปริมาณการคืนสินค้าได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Retail Perceptions รายงานว่า มีนักช้อปจำนวน 40% ยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นให้กับสินค้าที่สามารถทดลองประสบการณ์ใช้ผ่าน AR
ผู้ประกอบการควรทำอย่างไร
ด้วยการนำเสนอที่น่าสนใจ AR จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปี 2018 กับคุณค่าที่ทำให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าเสมือนจริงในสิ่งแวดล้อมจริง ทดแทนการไปทดลองสินค้าด้วยตัวเอง โดยธุรกิจสามารถต่อยอดการนำเสนอบริการแบบรายบุคคล หรือการทำ Customization โดยใช้ AI (Artificial Intelligence) เพื่อแนะนำสินค้าที่ลูกค้าน่าจะชอบโดยดูจากประวัติการซื้อ และแสดงผลเสมือนจริงผ่าน AR
การนำ AR มาใช้ ต้องดูถึงความเหมาะสมด้วยว่า การใช้ AR จะสามารถส่งเสริมการขายสินค้าของเราได้มากน้อยแค่ไหน และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เนื่องจากการสร้างแอพฯ AR ยังนับว่ามีความซับซ้อนอยู่ ซึ่งธุรกิจที่ไม่ได้มีความชำนาญด้านนี้ อาจจะพิจารณาหาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้ได้งานที่เร็ว และคุ้มค่ามากกว่า
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์