สถานการณ์อีคอมเมิร์ซในอาเซียนโดยรวม
ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนนับว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ด้วยอัตราการใช้งานอินเตอร์เนตของประชากรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลง และด้วยกำลังซื้อจากคนในภูมิภาค จากการคาดการณ์แนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซในกลุ่มประเทศอาเซียนของ HKTDC เมื่อเดือนธันวาคม 2017 กล่าวว่า จากจำนวนประชากรประมาณ 640 ล้านคนในอาเซียน มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตถึง 483 ล้านคนภายในปี 2020 และขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนจะเติบโตจาก 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 พุ่งไปสู่ 88 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025
ที่มา: HKTDC
ด้วยอัตราการเติบโตที่น่าสนใจเช่นนี้ เราจึงได้ยินข่าวการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ที่พยายามขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคไม่ว่าจะเป็น การประกาศความร่วมมือกันระหว่าง JD.com กับเซ็นทรัลกรุ๊ป Tencent ที่ลงทุนใน SEA การลงทุนของอาลีบาบาใน Tokopedia ของอินโดนีเซีย หรือ Amazon Prime ที่ launch ในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ Alibaba เข้ามาทำ MOU กับรัฐบาลไทย เมื่อกลางเดือนเมษายน
ทั้งนี้ การที่อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากผลการวิจัย ที่พบว่า 68% ของประชากรในประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตผ่านทางมือถือ ทั้งยังมีจำนวนผู้ใช้งาน Social Media เพิ่มขึ้น 14% สำหรับในประเทศไทยเองเป็นที่คาดการณ์ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศจะเติบโตจาก 113.4 พันล้านบาทในปีนี้ ไปสู่ 186.5 พันล้านบาทในปี 2022
อาลีบาบาให้ประโยชน์อะไรกับเรา
สอดคล้องกับความต้องการขยายตลาดของอาลีบาบาด้วยความที่ประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ยิ่งสนับสนุนให้อาลีบาบาขยายตัวเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว โดยหากดูตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ แจ็ค หม่าได้เข้าไปเจรจาธุรกิจก่อนหน้านี้ นอกจากเรื่องของการทำธุรกิจแล้ว แจ็ค หม่ามักจะเสนอการใช้เทคโนโลยีของอาลีบาบาเพื่อช่วยแก้ไขหรือพัฒนาประเทศในด้านอื่นด้วย อย่าง มาเลเซีย ที่ใช้ Alibaba Cloud เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร หรือแผนการลงทุนด้าน FinTech ที่ฟิลิปปินส์ ในส่วนของประเทศไทยนั้น แจ็ค หม่าได้เข้าลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐ โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ และความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ในส่วนของการลงทุน อาลีบาบาจะลงทุน 11 พันล้านบาทเพื่อสร้าง smart digital hub ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC – Eastern Economic Corridor) ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปีหน้า โดยจะถูกใช้เป็นศูนย์การวิจัยของอาลีบาบา มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปสู่ตลาดจีน และตลาดโลก ซึ่งโครงการนี้น่าจะทำให้ SME ของไทยมีช่องทางส่งออกสินค้าได้มากขึ้น โดยอาลีบาบามีแผนที่จะนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูลด้าน logistics เพื่อสนับสนุนการขนส่งระหว่างไทย และจีนรวมไปจนถึงการค้าขายในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย
ด้านการพัฒนาบุคคล อาลีบาบาจะก่อตั้ง Alibaba Business School เพื่อให้ความรู้กับนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยคนไทยด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับวิทยาลัยอาลีบาบาจากจีน ทั้งยังมีการตกลงด้านการพัฒนาทักษะอีคอมเมิร์ซ ซึ่ง Startup และ SME ไทยจะได้เรียนรู้เทคโนโลยี และประสบการณ์มากขึ้นด้วยการเรียนรู้จากระบบของอาลีบาบา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการขายสินค้าผ่าน smart digital hub
ด้านการท่องเที่ยว อาลีบาบาจะทำ Thailand tourist platform เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งยังเตรียมระบบในการเก็บข้อมูล big data ด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บน Tmall.com เพื่อส่งออกข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ
โดยทางอ้อม การลงทุนของอาลีบาบาในประเทศไทยนับเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ ที่อาจจะเห็นความน่าสนใจ และศักยภาพของธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ต้องคำนึง
เทคโนโลยี ระบบ logistics และแพลตฟอร์มของอาลีบาบา น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทรายย่อยของไทย ทั้ง SMEs หรือ startups ที่จะสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ง่าย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน อย่าลืมว่าสินค้าจากจีนก็จะเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ง่ายขึ้น และมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
เป็นที่ทราบกันว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า สินค้าจากจีนจึงมีราคาถูกมาก และอาจได้รับความนิยมในประเทศ จนทำให้สินค้าไทยขายในประเทศได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ด้วยความพร้อมของระบบออนไลน์ และระบบ logistic ของอาลีบาบา จึงมีการแสดงความเป็นห่วงว่า อาลีบาบาจะผูกขาดอีคอมเมิร์ซในไทยจนทำให้อีคอมเมิร์ซรายย่อยของไทยอาจจะได้รับผลกระทบในด้านส่วนแบ่งตลาดไปด้วย
นอกจากนี้ ด้วยความที่อาลีบาบาเป็นแพลตฟอร์ม นอกเหนือจากรายได้ส่วนแบ่งจากการทำธุรกิจแล้ว อาลีบาบายังได้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงข้อมูลในด้านอื่นๆ ที่อาลีบาบาอาจเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างระบบจราจรในมาเลเซียที่ใช้ cloud solution ถึงแม้ว่า มาเลเซียจะได้รับเทคโนโลยี และความช่วยเหลือ แต่ในทางกลับกับ อาลีบาบาก็สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจต่อไปได้
ผู้ประกอบการไทยควรรับมืออย่างไร
ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้ เราอาจจะยังไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าอาลีบาบาจะให้ประโยชน์กับเราได้มากแค่ไหน แต่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือ ด้วยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงผลกระทบ และปรับใช้ เช่น ธุรกิจจะสามารถใช้สร้างประโยชน์จากการเข้ามาของอาลีบาบาได้ในจุดไหน เช่น การขยายตลาดด้วยการลงขายสินค้าในอาลีบาบา การใช้เทคโนโลยีในการวางแผนการตลาด การพัฒนาสินค้า วางแผนกำลังการผลิต รวมถึงในทางตรงข้าม ที่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบด้านส่วนแบ่งตลาดในประเทศ อย่างธุรกิจรับมาขายไป ทั้งจากจีนมาขายในไทย หรือจากไทยไปขายที่จีนอาจจะลำบากขึ้น เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรง หรือธุรกิจไทยที่ขายสินค้าที่เหมือน หรือถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งต้องเตรียมหากลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่าง และรักษาลูกค้าเดิมไว้
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์