เชื่อว่าหลายคนคนคงรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) กันดีอยู่แล้ว ยิ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาความเร็วของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนสมาร์ทโฟน ทำให้มีการพูดถึง Mobile Commerce กันมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ก็ถือเป็นปีที่เชื่อได้ว่าจะมีการขยับจากการทำธุรกรรม อีคอมเมิร์ซ ไปเป็น Mobile Commerce มากขึ้นไปอีก โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า Mobile Commerce จะมียอดขายทั่วโลกกว่า 669 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 หากเรามีความเข้าใจลักษณะและความสำคัญของ Mobile Commerce และสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจหรือสินค้าของเราได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ย่อมจะมีมากขึ้นเช่นกัน
ความแตกต่าง
เมื่อกล่าวถึงอีคอมเมิร์ซจะเป็นการทำธุรกรรมการเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะรวมถึงการใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะจากสำนักงาน หรือที่บ้าน การใช้งานผ่านแท็บเล็ต และรวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน แต่ในส่วนของ Mobile Commerce จะเน้นไปยัง Mobile Device หรือสมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยจุดแข็งของ Mobile Commerce คือความสะดวกในการพกพา เนื่องจากสมาร์ทโฟนมักเป็นสิ่งที่เราพกติดตัวไปตลอดเวลาอยู่แล้ว นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และบ่อยขึ้น โดยแทบจะไม่ต้องเสียเวลาเปิดเครื่องและรอให้พร้อมใช้งานเหมือนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล รวมถึงจำนวนลูกค้าที่เข้าถึงบริการที่มากขึ้นเช่นกัน เพราะลูกค้าแทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง อีกทั้งการใช้สมาร์ทโฟนยังมีระบบ Location Tracking ทั้งจากการใช้งาน GPS หรือ Wi-Fi ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้รับโฆษณา หรือการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมกับตัวลูกค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย
อีกจุดแข็งหนึ่งของ Mobile Commerce ที่ไม่ควรมองข้ามได้แก่ การนำเสนอสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่นของแบรนด์นั้นๆ หรือของมาร์เก็ตเพลสเองก็ตามที ซึ่งจุดเด่นก็คือ สามารถออกแบบแอพพลิเคชั่นให้มีความสามารถและมีความเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าได้ง่ายมากกว่าการใช้บริการอีคอมเมิร์ซบนเว็บบราวเซอร์
ทำไมเราถึงควรให้ความสำคัญกับ Mobile Commerce
เนื่องจากความแตกต่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า โอกาสที่ลูกค้าจะทำธุรกรรมผ่านช่องทาง Mobile Commerce นั้นมหาศาลและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของ ไพรซ์ซ่า ผู้ให้บริการด้านการค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา ได้ระบุให้เห็นว่า มีผู้เข้ามาค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า จากช่องทางสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟน ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค. 2561 เป็นจำนวน 72.53% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 ที่มีจำนวน 69.81% ในขณะที่ผู้ใช้บริการผ่านคอมพิวเตอร์ หรือเดสก์ท็อป กลับมีจำนวนลดลง
ยกตัวอย่างในประเทศจีนนั้นมีผู้ใช้บริการผ่านทาง Mobile Commerce เป็นจำนวนกว่า 74% เลยทีเดียว แถมยังมีสถิติที่น่าสนใจอีกเช่นกันว่า มีผู้ใช้บริการถึง 28% ที่ตัดสินใจเลือกสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Mobile Commerce ภายหลังจากได้ชมสินค้าจริงในร้านค้า แสดงให้เห็นว่า การมีช่องทางเพิ่มเติมให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าในภายหลังได้อย่างสะดวกผ่านทางสมาร์ทโฟนนั้น จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าให้มากยิ่งขึ้น
เทรนด์ของ Mobile Commerce ในปีนี้
- Chat bot
เราเริ่มเห็นการนำ Chat bot เข้ามาใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากความต้องการที่จะเปิดให้บริการลูกค้าได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำการจ้างพนักงานเพื่อคอยตอบคำถามหรือให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในการสั่งซื้อ Chat bot สามารถทำงานแทน call center ได้ในเกือบทุกสถานการณ์ รวมถึงการที่ Chat bot สามารถตอบคำถามของลูกค้าได้แทบจะทันที จะช่วยเพิ่มโอกาสปิดการขายได้มากขึ้นอีกด้วย นอกเหนือจากการตอบคำถามและแนะนำสินค้าในเบื้องต้นแล้ว การผนวก Chat bot เข้ากับ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า ก็จะยิ่งช่วยให้เราสามารถนำเสนอสินค้า หรือบริการอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
- Augmented Reality (AR)
เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาด Mobile Commerce มีข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ 40% ของลูกค้ามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้านั้นๆ หลังจากได้มีประสบการณ์การใช้งานผ่าน AR และ 61% จะเลือกทำธุรกรรมกับแบรนด์ที่มีการนำเสนอสินค้าผ่าน AR มากกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้นำเสนอในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเราอาจจะยังไม่เห็นแอพพลิเคชั่นจำนวนมากนักที่สนับสนุนการใช้งานร่วมกับ AR อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านเทคนิคและความเหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท
- การตลาดแบบส่วนบุคคล (Personalized Marketing)
เป็นอีกเทรนด์ที่ค่อยๆ เพิ่มความนิยมมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การที่ Facebook เลือกแสดงโฆษณาให้กับผู้ใช้งานแต่ละรายแตกต่างกัน โดยการเลือกโฆษณานั้นจะอ้างอิงจากข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งอายุ เพศ ข้อมูลความสนใจ และข้อมูลที่วิเคราะห์จากพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้แต่ละราย การตลาดแบบเฉพาะตัวบุคคลนี้จะช่วยให้แสดงสินค้า หรือโฆษณาได้สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้งานมากขึ้น
ความนิยมของ Mobile Commerce ยังคงเป็นไปในทางที่ดี รวมถึงในปัจจุบันที่ประเทศของเราได้มีการพัฒนาระบบการชำระเงินออนไลน์ให้มีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น การเข้ามาของระบบพร้อมเพย์ การชำระเงินผ่าน QR code และการลดภาระทางด้านค่าธรรมเนียมการโอนให้กับผู้ใช้งาน สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายผ่านระบบ Mobile Commerce มากยิ่งขึ้นไปอีก คงยังไม่สายที่จะให้ความสำคัญกับการทำ Responsive Website หรือเน้นการเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นประโยชน์กับธุรกิจของท่านเอง
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์