หนังสือ Teach Like Finland สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ เขียนโดย คุณ Timothy D. Walker แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณทิพย์นภา หวนสุริยา
ผู้เขียนเป็นครูชาวอเมริกัน ชื่อคุณ Timothy D. Walker ที่แต่งงานกับภรรยาที่เป็นชาวฟินแลนด์ และเป็นคุณครูที่ฟินแลนด์ด้วยเหมือนกัน สิ่งที่ผู้เขียนต้องรับมือคือความเครียดในระบบการศึกษาของอเมริกาที่เน้นการอัดความรู้ เน้นผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา ใช้เวลาเยอะในการเรียนและการสอน จนถึงจุดที่ทำให้เริ่มรู้สึกเกลียดการสอนขึ้นมา ทั้งที่ขัดแย้งกับตัวเองว่าจริงๆแล้วผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองรักการสอน สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนคือการที่ภรรยาชาวฟินแลนด์ชวนให้ลองย้ายไปฟินแลนด์ เพราะภรรยาบอกว่ามันยังมีระบบการศึกษาอีกแบบที่ไม่เครียด แต่กลับได้ผลดีซะด้วยที่เธอได้เรียนรู้มาจากประเทศบ้านเกิด

ประเทศฟินแลนด์เป็นที่จับตาของโลกด้านการศึกษาเมื่อ เด็กวัย 15 ปีของฟินแลนด์ทำคะแนนได้ดีอย่างสม่ำเสมอในการทดสอบระดับนานาชาติที่เรียกว่า PISA ซึ่งวัดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ฟินแลนด์รั้งอันดับ 1 ด้านระบบการศึกษาในผล PISA ปี 2001 ซึ่งผู้เขียนรู้สึกงุนงงมากกับระบบการศึกษาที่เขาได้ฟังจากภรรยามาว่า เป็นระบบการสอนที่ผ่อนคลาย วันเรียนสั้น การบ้านเบา และการวัดความรู้มาตรฐานเพียงเล็กน้อย ล้วนขัดกับภูมิปัญญาเดิมที่ผู้เขียนเรีนยรู้มา เหมือนประเทศฟินแลนด์กำลังบอกว่ามันยังมีระบบการศึกษาอีกแบบที่ไม่ต้องบีบหลักสูตร อัดๆๆ และสร้างคามเครียดให้เด็กๆ แต่ยังได้ผลดีมากอยู่บนโลกนี้ด้วย
สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากครูในฟินแลนด์คือการที่พวกเขา “ให้คุณค่าความสุขมากกว่าผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา” เน้นส่งเสริมการสอนที่สร้างความเบิกบาน (Joy Factor) มากกว่าเน้นให้เด็กเครียด ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการพิสูจน์ว่ามันเวิร์คแฮะ ดูได้จากผลการทดสอบ PISA หลายๆครั้ง
มีการศึกษาพบว่า “ปัจจัยความเบิกบาน” (Joy Factor) หรือความสุข ในห้องเรียนเป็นเครื่องมือที่ครูใช้เป็นตัวช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาได้
ความสุขหรือความเบิกบานเป็นเป้าหมายใหญ่ในห้องเรียนที่ฟินแลนด์ ความสุขนั้นจะมองว่าเป็น “สภาวะที่อารมณ์เชิงบวกเพิ่มสูงขึ้น” ก็ได้ และแทนที่มันจะรบกวนการเรียนการสอนในห้องเรียน ความสุขช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคมได้
หนังสือเล่มนี้รวบรวมประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากแนวทางการสอนในห้องเรียนฟินแลนด์ออกมา ถ้าความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหารและที่อยู่อาศัยได้รับการเติมเต็มแล้ว
ส่วนผสมของความสุขมี 5 ประการ เพื่อสร้างห้องเรียนที่เบิกบาน (Joy)
- สุขภาวะ (Well-being)
- ความสัมพันธ์ที่ดี (Belonging)
- อิสระ (Autonomy)
- ความเชี่ยวชาญ (Mastery)
- กรอบคิด (Mindset)
สุขภาวะ (Well-being)
โรงเรียนในเฮลซิงกิ ที่ผู้เขียนย้ายไปเป็นคุณครูนั้นมีช่วงเวลาพัก 15 นาที บ่อยๆ ตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาพักนั้น คุณครูก็จะไปรวมตัวกันคุยสนุกเฮฮากันที่ห้องพักครู ไม่ได้ไปประชุมงานกัน ไม่คุยเรื่องการสอน หรือแม้กระทั่งใช้ในการเตรียมการสอน จนผู้เขียนงุนงงว่าทำไมคุณครูที่นี่ไม่ขยันเอาซะเลย ผู้เขียนมีวัฒนธรรมการเป็นครูแบบอเมริกันที่เชื่อว่ายิ่งทำงานหนักเท่าไหร่ยิ่งได้ผลดี แม้กระทั่งอดหลับอดนอนเตรียมการสอน นอนน้อยก็ตาม จนเพื่อนครูฟินแลนด์ต้องมาเตือนว่าการทำแบบนั้นไม่เวิร์ค ผู้เขียนควรแบ่งเวลามาพูดคุยกันบ้าง 2-3 นาทีก็ยังดี แต่ยิ่งใช้เวลากับสังคมการสอนในโรงเรียนฟินแลนด์ไปเรื่อยๆ ผู้เขียนสังเกตว่าคุณครูฟินแลนด์นั้นอารมณ์ดี มีสุขภาวะที่ดี ไม่เครียด ต่างกันผู้เขียนและแนวทางการเป็นครูแบบเดิมที่เรียนรู้มา และแน่นอนมันส่งผลไปถึงเด็กนักเรียนด้วยที่ไม่เครียด เด็กๆมีสุขภาวะที่ดีตามคุณครู
ส่วนเด็กนักเรียน ก็ได้รับอิสระในการพักได้อย่างใจในช่วงเวลาพักเช่นกัน ปกติทุกๆการเรียน 45 นาที โรงเรียนจะมีเวลาให้พัก 15 นาที เด็กๆได้ออกไปวิ่งเล่นและพบปะกับเพื่อนข้างนอก ผู้เขียนสังเกตเห็นเด็กๆออกไปกระโดดโลดเต้น ร่าเริงทุกครั้งหลังจากพัก 15 นาที และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เด็กๆยังมีสมาธิในชั่วโมงเรียนมากขึ้นด้วย
ผู้เขียนยังสังเกตเห็นอีกว่า ครูในฟินแลนด์มักให้การบ้านค่อนข้างน้อย นักเรียนมีเวลาทำหลายวัน การบ้านก็ไม่ได้แบบยากเกินไป มักตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เอื้อให้เด็กทำเองได้ไม่ต้องขอให้ผู้ใหญ่มาช่วย ผู้เขียนเรียนรู้ต่อมาว่าการให้การบ้านเท่าที่จำเป็นแบบนี้ เพื่อให้เด็กๆได้ใช้เวลาช่วงเย็นเติมพลังได้มากขึ้น ไม่ใช่ต้องไปนั่งทำการบ้านหลังเลิกเรียนนานๆทุกวัน คนฟินแลนด์มักเชิดชูคาถา “น้อยคือมาก” เห็นได้จากความเป็นมินิมอลลิสม์ (minimalism) ของงานออกแบบสไตล์ฟินแลนด์เวลาไปเดิน IKEA ดูก็ได้ครับ
ผลงานวิจัยของแอนโทนี เพลเลกริรี ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิเนโซตา ได้ข้อค้นพบว่า การพักบ่อยๆช่วยเพิ่มความตั้งใจในห้องเรียน เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มีหลักฐานยืนยัน ทำให้ผู้เขียนไม่กลัวอีกต่อไปที่จะให้เด็กๆได้พัก หรือกลัวว่าจะได้เรียนไม่เต็มที่ เพราะการปล่อยให้พวกเขาได้วางบทเรียนลงสั้นๆเป็นระยะๆกลับทำให้ความจำดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น มีสุขภาวะที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ
“ผลวิจัยนานหลายทศวรรษแสดงให้เห็นว่า ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ของความสำเร็จ แต่เป็น ต้นกำเนิด ของมันต่างหาก” เซปปาลาเขียนไว้ใจงานวิจัยในปี 2016
ความสัมพันธ์ที่ดี (Belonging)
ด้วยการที่โรงเรียนฟินแลนด์เน้นเรื่องสุขภาวะในชีวิต ส่งเสริมเรื่องการเรียนอย่างมีความสุข ปัจจัยนึงที่สำคัญเลยคือการมุ่งเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น มีงานวิจัยหลายงานยืนยันความความสัมพันธ์ที่ดีเป็นปัจจัยส่งเสริมความสุขให้เกิดขึ้น
โรงเรียนที่เฮลซิงกิของผู้เขียนนั้นเริ่มด้วยการส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่คุณครูก่อน จากหัวข้อก่อนหน้าที่เราเรียนรู้ว่าจะมีเวลาพักบ่อยๆ ทุกๆ 45 นาที จะมีพัก 15 นาที ไม่ใช่แค่ให้เด็กนักเรียนพัก แต่เป็นการส่งเสริมให้คุณครูมีเวลามาสานสัมพันธ์กัน พูดคุยกัน แบ่งปันปัญหาที่กำลังรับมือกัน เพราะเชื่อว่าคุณครูที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันที่ดี จะมีสุขภาวะที่ดี และส่งผลโดยตรงต่อเด็กนักเรียนในชั้น
จากนั้น ห้องเรียนในฟินแลนด์จะเน้นให้คุณครูก็ควรจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กนักเรียนด้วย เริ่มด้วยการรู้จักเด็กแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนเองยืนหน้าชั้นเรียนและทักทายเด็กแต่ละคนด้วยการเรียกชื่อขณะเด็กๆเดินเข้าห้อง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าครูไม่ได้มองเด็กแบบเหมารวม แต่เป็นการรู้จักเด็กแต่ละคนจริงๆ และบ่อยครั้งผู้เขียนก็ชอบที่จะทักทายอะไรที่เกี่ยวกับเด็กคนนั้น เช่น ทรงผมใหม่ กิจกรรมที่เด็กแต่ละคนชอบ หาเรื่องพูดคุยกันแบบเฉพาะบุคคล และอีกโอกาสที่ดีคือมื้อกลางวัน ที่แทนที่จะไปสุมหัวกินข้าวกลางวันกันแต่ในกลุ่มคุณครู ผู้เขียนก็ไปร่วมกินข้าวกลางวันกับเด็กๆ เป็นโอกาสที่ให้เด็กๆแบ่งปันเรื่องราวให้ฟัง และครูเองก็แบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวให้ฟังด้วย เช่น ผู้เขียนก็เล่าประสบการณ์สอนที่อเมริกา ที่เด็กๆอยากรู้เป็นต้น นอกจากนั้นคือการสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน ห้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นบรรยากาศแห่งความเครียด ผู้เขียนบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนทำกับนักเรียนในช่วงเริ่มต้นเปิดเทอมมาคลาสแรกๆคือชวนเด็กมาเล่นเกมส์กันในห้องเรียน เหมือนเป็นการดึงเด็กมามีส่วนร่วมและสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้น เด็กๆทั้งสนุก ทั้งได้ปรับตัวเข้าหากันด้วย
เฉลิมฉลองการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการสอนในวิชาทำอาหารของเด็กนักเรียนชั้นมัธยม3 สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจคือช่วงท้ายคาบ 15-20 นาที จะเป็นเวลาที่คุณครูให้เด็กๆมาล้อมวงรับประทานขนม/อาหารที่พวกเขาได้รังสรรค์ขึ้นมาร่วมกัน เป็นเหมือนช่วงเวลาที่ครูให้อิสระในการมาปฏิสัมพันธ์กัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกัน และเป็นการฉลองความสำเร็จร่วมกันว่าเราได้ทำกิจกรรมสำเร็จแล้ว มีการขอบคุณกันสำหรับผลงานที่ช่วยกันทำให้สำเร็จ ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นปัจจัยที่ดีที่ทำให้กระบวนการเรียนทำอาหารเป็นไปด้วยความเพลิดเพลินด้วย เพราะเด็กๆรู้ว่าเราจะมาสนุกและรับประทานฉลองร่วมกันตอนท้าย ข้อคิดตรงนี้คือผู้เขียนอยากให้คิดว่าการแบ่งเวลามาเฉลิมฉลองการเรียนรู้แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นภาระเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดความหมายในการเรียนรู้ เพิ่มแรงจูงใจในการเรียน และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในชั้นมีความสัมพันธ์ที่ดี ผู้เขียนแชร์เรื่องโปรแกรมที่ป้องกันการบูลลี่กันในโรงเรียนกัน เพราะเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น และยังเล่ากลวิธีการหาบัดดี้ให้เด็กนักเรียน แต่ไม่ใช่บัดดี้ในห้องเรียนเดียวกัน แต่เป็นบัดดี้ข้ามชั้นเลย ผมว่าน่าสนใจ คือเด็กนักเรียนประถม6 จะจับคู่กับเด็กนักเรียนประถม1 เป็นการส่งเสริมสนับสนุนความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง และสามารถแบ่งปันมุมมองความคิด ประสบการณ์ที่ดีร่วมกันได้ด้วย
อิสระ (Autonomy)
งานวิจัยชี้ว่าความรู้สึกเป็นอิสระเป็นส่วนผสมหลักของความสุข และในช่วง 2ปี ที่ผู้เขียนสอนที่ฟินแลนด์นั้นแสดงให้เห็นว่า นักเรียนของผู้เขียนจะเติบโตขึ้นเมื่อผู้เขียนตัดสินใจจะพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของเด็กนักเรียน มีหลายๆกลยุทธ์ที่ได้นำมาใช้ดังนี้
มอบเสรีภาพให้ตั้งแต่ต้น – โรงเรียนในไทยที่ผมผ่านประสบการณ์มานั้นบางวิชาจะมีระเบียบเยอะมากๆ เข้มงวด ซึ่งมีข้อดีในการฝึกวินัย แต่ในทางกลับกัน อาจจะไม่ได้เป็นการมุ่งเน้นสอนให้เด็กคิดเป็น หรือส่งเสริมให้เด็กเจอเส้นทางเดินที่ตัวเองชอบตัวเองสนใจ ย้อนกลับมาที่ผู้เขียนที่ได้เรียนรู้ว่า ระบบการสอนที่ฟินแลนด์เน้นให้อิสระเสรีภาพไปก่อนเลย แทนที่จะค่อยๆมอบอิสระให้ แต่เริ่มด้วยมุมมองที่ว่าเด็กๆแต่ละคนล้วนมีมุมมองความคิดแบบปัจเจกบุคคลในตัวเอง และมีความรับผิดชอบในตัวเองได้แล้ว (เด็กๆชั้นประถม) ผู้เขียนเรียนรู้ว่าการให้เสรีภาพเด็กๆในการเสนอความคิดเห็นต่างๆมีประโยชน์มาก เพราะเป็นการที่ครูจะออกแบบการสอนได้ตรงความต้องการจริงๆ อย่างมีครั้งนึง เด็กๆส่ง Email เสนอให้ผู้เขียนนำเอาเกมส์ทายคำตอบ Kahoot! มาเล่นในห้องเรียน (ผมเคยเล่นแล้ว สนุกดี) ตอนนั้นถ้าผู้เขียนมองว่าความคิดเด็กนั้นไร้สาระ ยังเด็กไป จะมามีมุมมองอะไรเท่าผู้ใหญ่ ไอเดียนี้อาจถูกปัดตกไป แต่ด้วยมุมมองที่เปิดรับ ผู้เขียนเลยเอามาทดลอง แล้วพบว่าสร้างความสนุกให้ห้องเรียนได้ดีมาก
เว้นช่องว่าง – ผู้เขียนพบว่าสไตล์การจัดตารางเรียนที่อเมริกันนั้นแน่นไป แทบไม่มีช่วงเวลาให้หยุดหายใจ ได้หยุดทบทวนความคิดเลย ต่างจากที่ฟินแลนด์ที่มีช่วงเวลาพัก 15 นาที เบรคให้เด็กๆได้มีอิสระในการคิดทบทวน ได้เบรค ได้เดินไปสูดอากาศกับธรรมชาติ นักเรียนบางคนเรียนแล้วยังไม่เข้าใจบางบทเรียน ก็เลือกที่จะเดินมาถามครูในช่วงเบรคนี่แหละ แทนที่จะไม่มีช่วงให้หยุดคิดเลย
ให้ทางเลือก – หนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของครูฟินแลนด์คือการปรับบทเรียนและรูปแบบการสอนเข้ากับนักเรียน แทนที่จะใช้บทเรียนตรงไปตรงมาทุกๆปีกับเด็กทุกๆคน ครูที่นี่เน้นมองลึกลงไปว่าเด็กในชั้นสนใจเรื่องอะไร และพยายามให้เด็กๆเสนอไอเดีย มีส่วนร่วม เสนอรูปแบบการเรียนที่ตัวเองชอบ เช่น ผู้เขียนสังเกตเห็นเด็กสนใจเกมส์ Angry Birds กัน ครูก็สามารถออกแบบปรับหลักสูตรให้หมุนเข้าหาเกมส์นี้ได้ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้บทบาทสมมติตามเกมส์ การตั้งชื่อตัวละครในกิจกรรม เป็นต้น
ความเชี่ยวชาญ (Mastery)
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนเราจะมีความสุขได้ ปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งที่เราต้องมี คือ ความรู้สึกว่าตนมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง หรือก็คือความต้องการที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หน้าที่ของครูคือส่งเสริมให้เด็กค้นพบและเจอความเชี่ยวชาญนั้นๆ และต่อไปนี้จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้
สอนแก่นสารสำคัญ – ด้วยชั่วโมงเรียนที่โรงเรียนฟินแลนด์มีไม่เยอะ ไม่เน้นเรียนพิเศษ แถมยังมีเวลาพักบ่อยๆตลอดวัน ทำให้ครูที่นี่ต้องพยายามใช้เวลาในการสอนให้มีค่ามากที่สุด มุ่งเน้นไปที่แก่นสารสำคัญของวิชาให้เด็กได้สิ่งนั้นไป ไม่จำเป็นต้องวอกแวกแวะไปหาเน้ือหาหรือกิจกรรมที่เกินความจำเป็น
สกัดคุณค่าจากตำราเรียน – หน้าที่ครูคือส่งต่อคุณค่าของเนื้อหาให้เด็กๆได้รับ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ จะไม่ใช่สอนให้เด็กๆท่องจำ แต่หน้าที่ครูควรส่งเสริมให้มีการพูดคุย คิดวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ส่งเสริมถึงคุณค่าของการศึกษาประวัติศาสตร์ เน้นให้คิด
นำดนตรีมาใช้ – ผู้เขียนตกใจว่าชั่วโมงเรียนดนตรีมีจำนวนชั่วโมงเท่าวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนประถม5 คือ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนแรกผู้เขียนแปลกใจ แต่ไปพบเจองานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าชั่วโมงดนตรีช่วยเพิ่มทักษะด้านภาษาและการเรียนรู้ของเด็กๆได้ดีขึ้น จึงเข้าใจที่มามากขึ้น
โค้ชให้มากขึ้น – ที่หน้าห้องเรียนงานไม้ที่โรงเรียนในเฮลซิงกิ มีป้ายเล็กๆเขียนไว้ว่า “เรียนรู้จากการลงมือทำ” ผู้เขียนเรียนรู้ว่ารูปแบบการสอนที่ฟินแลนด์จะเน้นให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงให้ได้มากที่สุด ได้ลองผิด ลองถูกเอง เพื่อรับประสบการณ์ทางตรงกับตัวเอง รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ดีกว่าการท่องจำ ดูวีดีโอตามบทเรียนเป็นไหนๆ
คุยกันเรื่องเกรด – ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นผู้สังเกตการเรียนการสอนที่โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ ครูเปกกา มีรูปแบบการให้เกรดนักเรียนที่ผู้เขียนประทับใจ นั่นคือการนั่งคุยเรื่องเกรดกับนักเรียนแต่ละคน และให้นักเรียน “ประเมินตัวเอง” ว่าควรได้เกรดอะไร เปกกาได้ทดสอบวิธีการนี้มีหลายปีจนพบว่าวิธีการให้นักเรียนประเมินตัวเองและให้เกรดตัวเองนั้น แม่นยำไม่น้อยไปกว่าการที่คุณครูมอบเกรดให้นักเรียนเองเลย ผู้เขียนประทับใจในวิธีการนี้ เพราะมันเป็นการให้เกียรติกัน และส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้คิดทบทวนว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรมาบ้างในช่วงเทอมที่ผ่านมา หน้าที่ครูในบทบาทนี้เหมือนเป็นโค้ช เป็นกระจกสะท้อน เด็กที่แทบไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ก็ไม่กล้าให้เกรดตัวเองสูง เด็กที่ได้เรียนรู้เยอะมาก ก็เป็นการสะท้อนข้อมูลกลับไปหาครูว่าคนนี้มีการเรียนรู้เยอะ ใครจะโกหก ครูก็จับได้ไม่ยาก จากการพูดคุยกันนั่นเอง
กรอบคิด (Mindset)
ผู้เขียนสังเกตเห็นครูที่ฟินแลนด์มีมุมมองต่อโลกและการใช้ชีวิตที่ต่างจากครูที่อเมริกันค่อนข้างมาก ครู(และจริงๆแล้วคนฟินแลนด์ที่ผู้เขียนพบเจอเลยก็ว่าได้)มีกรอบคิดต่อการทำงานว่า “ทำงานเพื่อใช้ชีวิต” ไม่ใช่ “ใช้ชีวิตเพื่อการทำงาน” ครูฟินแลนด์ดูจะให้คุณค่ากับด้านอื่นๆของชีวิตมาก ไม่ได้เอาแต่ทุ่มเทอุทิศเวลาชีวิตเพื่อการสอน แข่งขันกันทำยศการสอนสูงๆ แข่งกับครูคนอื่นๆเพื่อให้ได้ลำดับที่สูงกว่า ครูที่นั่นไม่ได้คิดแบบนั้น ครูฟินแลนด์มองไปที่ความเบิกบานในการทำงาน (Joy Factor) ในการสอน และแบ่งเวลา หลังเลิกสอน ก็เอาเวลาไปใช้ชีวิตกับเพื่อน กับครอบครัวให้ชีวิตมีความสุข ไม่ได้คิดว่าชีวิตนี้ต้องเร่งรีบแข่งกับใคร คนที่แข่งด้วยคือตัวเอง สิ่งนี้มันส่งผลต่อเด็กนักเรียนด้วยโดยตรง เพราะเด็กๆต่างก็มองครูเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตด้วยเช่นกันครับ
การสรุปหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญที่ผู้อ่าน(ผมเอง) ได้เรียนรู้ คุณรู้ไหมครับว่าถ้าเราได้อ่านหนังสือเอง เราจะเกิดการตกตะกอนความคิดด้วยตัวเอง และเมื่อได้สรุปความคิดทั้งหมดออกมา จะเป็นการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะได้ประโยชน์เต็มๆจากหนังสือเล่มนี้ ผมแนะนำให้ผู้สนใจอ่านหนังสือฉบับเต็มครับ โดยสามารถเช็คได้จากสำนักพิมพ์ Book Scape ครับ