วิชาความสุข ที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด เพราะชีวิตไม่ได้ต้องการแค่วิชาสำเร็จ โดย Tal Ben-Shahar
Tal Ben-Shahar, Ph.D. เป็นอาจารย์อยู่มี่มหาวิทยาลัย Harvard ดร.ชาฮาร์ (ทาล) เปิดสอนวิชาการสัมนาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่มหาวิทยาลับฮาร์เวิร์ด เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2022 มีนักศึกษาลงทะเบียนแค่ 8 คน วิชานี้ ทาลพานักศึกษาไปสำรวจสิ่งที่ทาลเชื่อว่าเป็นคำถามสำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำถามอื่นๆอีกที นั่นคือ เราจะช่วยให้ตัวเราเองและผู้อื่นมีความสุขมากขึ้นได้อย่างไร วิชานี้หรือในกลุ่มนักศึกษาเรียกว่า “ห้องเรียนความสุข” ได้รับความนิยมแชร์กันปากต่อปากจนมีคนลงทะเบียนเรียนมากถึง 380 คนในปีต่อมา และตอนปลายปี นักศึกษามากกว่า 20% ระบุว่า “วิชานี้ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น” และหลังสุดที่เปิดวิชานี้มีคนลงทะเบียนเรียนมากถึง 855 คน ทำให้วิชานี้กลายเป็นชั้นเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เวลาสอนจะจัดสอนกันในแซนเดอร์ส เธียรเตอร์ ที่เป็นหอคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ ทรงโค้งกลม จุคนได้เป็นพันคนเลยทีเดียว

ขณะที่ความมั่งคั่งทางวัตถุกำลังพุ่งสูงขึ้น ความหดหู่ก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้คนรุ่นเราจะร่ำรวยมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่ความร่ำรวยนั้นกลับไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นเลย มิฮาลี ชิกเซนมิฮาย นักวิชาการระดับแนวหน้าคนหนึ่งในสาขาจิตวิยาเชิงบวก ตั้งคำถามที่เรียบง่ายแต่ยากที่จะตอบขึ้นมาข้อหนึ่งว่า “ถ้าเรารวยกันมากนัก ทำไมเราถึงไม่มีความสุขล่ะ”
จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้คือ ช่วยให้คุณเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของความสุข และยิ่งไปกว่านั้นคือ ช่วยให้คุณมีคความสุขมากขึ้น แต่ลำพังแค่การอ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติตามไปด้วยจึงสำเร็จ
ความสุขคืออะไร
แบบจำลองแฮมเบอร์เกอร์ (แบบจำลองความสุข)

เพื่อทำความเข้าใจความสุขมากขึ้น ทาลคิดแบบจำลองแฮมเบอร์เกอร์ ขึ้นมาเพื่ออธิบายรูปแบบของคน 4 ประเภท และเทียบได้กับแฮมเบอร์เกอร์ 4 รูปแบบ ตามแผนภาพนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในอนาคตทั้ง 4 รูปแบบ
แฮมเบอร์เกอร์ไร้ประโยชน์ (คนเจ้าสำราญ)
- เป็นแฮมเบอร์เกอร์แสนอร่อยที่ทานไปแล้วอร่อย มีความสุขในปัจจุบัน แต่ส่งผลเสียในอนาคต บ่งบอกถึงรูปแบบของคนเจ้าสำราญที่มีคติในการใช้ชีวิตว่า “จงแสวงหาความพอใจและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด”
- คนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับความสุขในปัจจุบัน โดยไม่แยแสกับผลเสียที่อาจจะเกิดตามมาในภายหลังอันเนื่องมาจากการกระทำของตัวเอง
แฮมเบอร์เกอร์มังสวิรัตน์ (หนูวิ่งแข่ง)
- เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่วัตถุดิบต่างๆล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ทานแล้วได้ประโยชน์ในอนาคต แต่ต้องแลกมาด้วยความเสียหายในปัจจุบันที่ทานแล้วไม่รู้สึกเอร็ดอร่อยเลย
- เป็นรูปแบบที่ตรงกับหนูวิ่งแข่ง (rat race) ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมทนทุกข์ในปัจจุบันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่างที่คาดหวังไว้ในอนาคต
- หลายคนติดอยู่ในสนามวิ่งแข่งแบบนี้ โดยเชื่อว่าเมื่อเรากัดฟันพยายามต่อไป เราต้องมีวามสุขเข้าสักวัน แต่เมื่อเราไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เรามักเข้าใจผิดว่าความโล่งใจที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความสุข ยิ่งเราแบกรับภาระในระหว่างการเดินทางมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเราเข้าใจผิดคิดว่าความโล่งใจในชั่วขณะนั้นคือความสุข เราก็ยิ่งสร้างภาพลวงตาขึ้นมาว่าการบรรลุเป้าหมายจะทำให้เรามีความสุข แม้ความโล่งใจจะมีคุณค่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราไม่ควรเข้าใจผิดว่ามันเป็นความสุข
- ความโล่งใจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว พวกหนูวิ่งแข่งซึ่งสับสนระหว่างความโล่งใจกับความสุข จะยังคงไล่ล่าเป้าหมายของตัวเองต่อไปโดยไม่มีสิ้นสุด และรู้สึกว่าไม่เติมเต็มสักที
แฮมเบอร์เกอร์ยอดแย่ (คนหมดอาลัยตายอยาก)
- แฮมเบอร์เกอร์แย่ที่สุดในบรรดาแฮมเบอร์เกอร์ทั้งมวล นอกจากรสชาติไม่ได้เรื่องแล้ว ยังไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ถ้าทานแล้วจะเกิดความเสียหายในปัจจุบัน แถมยังต้องทนทุกข์กับความเสียหายในอนาคตด้วย
- รูปแบบนี้ตรงกับคนหมดอาลัยตายอยาก สิ้นหวังในชีวิต เป็นคนที่ไม่มีความสุขในปัจจุบันและสิ้นหวังในอนาคต
แฮมเบอร์เกอร์ในอุดมคติ (ความสุข)
- เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่เป็นตัวอย่างของความสุข
- รูปแบบนี้ตรงกับผู้คนที่มีความสุขในการใช้ชีวิต มั่นคง รู้ดีว่ากิจกรรมต่างๆที่ทำให้พวกเขามีความสุขในปัจจุบันจะนำพาพวกเขาไปสู่ความปรารถนาในอนาคตด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การคาดหวังว่าจะมีความสุขอยู่ตลอดเวลานั้งรังแต่จะผลักดันเราไปสู่ความล้มเหลวและความผิดหวัง เพราะไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะให้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตไปเสียทั้งหมด งานบางอย่างเราก็ต้องทนทุกข์ในปัจจุบันเพื่อความสุขในอนาคต เช่น การอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ การออมเงินเพื่ออนาคต ที่ทำให้เรามีความสุขในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือจัดสรรเวลาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆที่ให้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
บางครั้งการใช้ชีวิตเหมือนคนเจ้าสำราญก็มีประโยชน์เช่นกัน ตราบเท่าที่มันไม่ได้ส่งผลเสียในระยะยาว (เหมือนการใช้ยาเสพติด) การให้ความสำคัญแต่กับปัจจุบันก็สามารถทำให้เรากระปรี้กระเปร่าและมีชีวิตชีวาได้ การนอนเอกเขนกบนชายหาด การกินไอศกรีมซันเดย์ ถ้าเราทำแต่พอประมาณ กิจกรรมเหล่านี้ก็ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นได้
ภาพลวงตาของบรรดาหนูวิ่งแข่งก็คือ เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางในอนาคตแล้ว พวกเขาจะได้รับความสุขที่ยั่งยืน แต่พวกเขามองไม่เห็นความสำคัญของการเดินทางเลย ส่วนภาพลวงตาของคนเจ้าสำราญก็คือ การเดินทางเท่านั้นที่สำคัญ ขณะที่คนหมดอาลัยตายอยากซึ่งละทิ้งทั้งจุดหมายปลายทางและการเดินทาง ก็เอาแต่ท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิต ดังนั้น หนูวิ่งแข่งจึงเป็นทาสของอนาคต คนเจ้าสำราญเป็นทาสของปัจจุบัน ส่วนคนหมดอาลัยตายอยากเป็นทาสของอดีต
การจะมีความสุขที่ยั่งยืนได้นั้น เราจำเป็นต้องมีความสุขกับการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่เรามองว่ามีคุณค่า ความสุขไม่ใช่การปีนขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดของภูเขา แต่ก็ไม่ใช่การปีนป่ายไปรอบๆภูเขาอย่างไร้จุดหมายเช่นเดียวกัน เพราะความจริงแล้ว ความสุขหมายถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการปีนขึ้นไปสู่จุดสูงสุดต่างหาก
“ความสุขคือความหมายและเป้าหมายของชีวิต… เป็นจุดมุ่งหมายและจุดสิ้นสุดโดยรวม ในการดำรงอยู่ของมนุษนย์” อริสโตเติล

ผลวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าคนที่มีความสุขล้วนประสบความสำเร็จในหลายๆด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตสมรส มิตรภาพ รายได้ ผลการปฏิบัติงาน หรือสุขภาพ ความสุขและความสำเร็จมีความสัมพันธ์ในเชิงที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน กว่าวคือ ไม่เพียงแต่ความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือความรักจะช่วยให้เรามีความสุข ทว่าความสุขก็ทำให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ผมให้คำจำกัดความของความสุขว่า “ประสบการณ์ในภาพรวมของความพอใจและความหมาย” คนที่มีความสุขจะมีอารมณ์ในแง่บวกและมองว่าชีวิตตัวเองเปี่ยมไปด้วยความหมาย คำจำกัดความดังกว่าวไม่ได้ครอบคลุมแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่หมายถึงประสบการณ์ในภาพรวมของคนคนหนึ่ง กล่าวคือ เขาคนนั้นอาจเผชิญกับความเจ็บปวดรวดร้าวโดยที่ยังมีความสุขในภาพรวมได้
ความพอใจนั้นเกี่ยวข้องกับการสัมผัสถึงอารมณ์ในแง่บวกในปัจจุบัน…เกี่ยวข้องกับประโยชน์ที่ได้รับในปัจจุบัน ส่วนความหมายนั้นมีที่มาจากการมีจุดหมายชีวิต…มีที่มาจากประโยชน์ที่ได้รับในอนาคตอันเนื่องมาจากการกระทำของเรา เราต้องการให้ต้นตอของอารมณ์นั้นมีความหมายด้วย เราอยากรู้ว่าการกระทำของเรานั้นส่งผลกระทบจริงๆต่อโลกใบนี้…ไม่ใช่แค่อยากรู้สึกว่ามันมีผลกระทบเท่านั้น
ถ้าเราอยากมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมาย เราก็ต้องมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญสำหรับตัวเราจริงๆ แทนที่จะเป็นจุดมุ่งหมายตามมาตรฐานและความคาดหวังของสังคม ถ้าเราทำได้ตามนั้น เราก็จะรู้สึกราวกับว่าได้ค้นพบสิ่งที่ใจเราต้องการแล้ว
ในเมื่อความมั่งคั่งทางวัตถุไม่ได้นำพาเราไปสู่ความสุข แล้วทำไมเราจึงหมกมุ่นอยู่กับมันมากนักล่ะ ทำไมความร่ำรวยจึงมักจะมีความสำคัญเหนือกว่าการค้นหาความหมาย ทำไมเราจึงรู้สึกสบายใจกับการตัดสินใจด้วยเกณฑ์ทางวัตถุมากกว่าเกณฑ์ด้านอารมณ์ความรู้สึก เมื่อพิจารณาจากมุมมองในเชิงวิวัฒนาการ อาจเป็นไปได้ว่าอดีตยุคดึกดำบรรพ์เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในปัจจุบันของเรา แต่ก่อนเราสะสมอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่เราชินจนทุกวันนี้เราไม่ได้สะสมความมั่งคั่งไปเพื่อความอยู่รอดอีกแล้ว แต่กลายเป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง เราติดกับดักที่ว่าเราไม่ได้สะสมเพื่อการมีชีวิตอยู่ แต่เรากลับมีชีวิตอยู่เพื่อการสะสมแทน
เป้าหมายมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตที่มีความสุข การจะมีความสุขได้นั้น เราจำเป็นต้องระบุเป้าหมายที่ทั้งน่าพอใจและเปี่ยมไปด้วยความหมายออกมา แล้วจึงค่อยเดินไปตามนั้น เป้าหมายจะสื่อสาร (กับตัวเราและคนอื่นๆ) ถึงความเชื่อที่ว่าเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้ ถึงแม้การบรรลุเป้าหมายที่พึงปรารถนาจะมอบความพอใจให้เราได้อย่างมาก และการไม่บรรลุเป้าหมายบางอย่างก็อาจนำเราไปสู่ความท้อแท้สิ้นหวังได้ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นก็มักอยู่กับเราได้ไม่นาน มนุษย์เราจะปรับตัวได้และชินในที่สุด
เป้าหมายช่วยให้เรารู้ว่าเรากำลังเดินหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้เราทุ่มเทสมาธิและสนุกไปกับทุกก้าวย่างแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆที่รออยู่เบื้องหน้า บทบาทที่แท้จริงของเป้าหมายคือการปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระ เพื่อให้เรามีความสุขอยู่ในปัจจุบันขณะได้ หลังจากมีเป้าหมายแล้ว กระบวนการในการไปให้ถึงเป้าหมายต่างหากที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสุขและอารมณ์ความรู้สึกในแง่บวก…ไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายโดยตัวมันเอง เพราะจุดมุ่งหมายหลักของการมีเป้าหมายคือการเพิ่มพูนความสุขในปัจจุบันนั่นเอง เป้าหมายเป็นเครื่องมือ… ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทาง เป้าหมายจำเป็นต้องเปี่ยมด้วยความหมาย และการเดินทางไปสู่เป้าหมายก็ต้องน่าพอใจด้วย เป้าหมายจึงจะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมากได้
เป้าหมายที่สอดคล้องกับตัวเองคือเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อลึกๆและความสนใจอย่างแรงกล้าของตัวเราเอง โดยต้องมาจากความปรารถนาที่จะแสดงออกถึงตัวตนบางส่วนของเรา โดยปกติแล้ว เป้าหมายทางการเงินมักจะไม่ใช่เป้าหมายที่สอดคล้องกับตัวเอง เพราะไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากภายใน การเลือกเป้าหมายที่สอดคล้องกับตัวเอง เป็นทักษะที่ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยทั้งความสามารถในการเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ และความสามารถในการทนรับความกดดันทางสังคม
เราจะมีความสุขมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างสิ่งที่อยากทำกับสิ่งที่ต้องทำในชีวิตเรา ในกระบวนการหาสิ่งที่เราอยากทำจริงๆนั้น ให้เราถามหาอะไรที่ทั้งมอบความหมายและความพอใจให้เรา ให้ระบุรายการสิ่งเหล่านั้นออกมาให้เยอะ และตัดตัวเลือกให้น้อยลงด้วยการพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่อยากทำจริงๆ สุดท้ายเลือกสิ่งที่อยากทำที่สุดและลงมือทำเลย
การประยุกต์ใช้ความสุข
ความสุขกับการศึกษา
ที่โรงเรียน เด็กนักเรียนควรได้รับการกระตุ้นและส่งเสริมให้เดินไปตามเส้นทางที่สามารถมอบความพอใจและความหมายให้กับพวกเขาได้
เมื่อโรงเรียนให้ความสำคัญกับความสำเร็จ (ซึ่งสามารถจับต้องได้) มากกว่าการบ่มเพาะให้นักเรียนรักการเรียนรู้ (ซึ่งไม่สามารถจับต้องได้) นั่นย่อมไม่ต่างจากการปลูกฝังความคิดแบบหนูวิ่งแข่งไปพร้อมๆกับปิดกั้นพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กๆ หนูงวิ่งแข่งเรียนรู้ว่าการตอบสนองต่อความพอใจทางอารมณ์ของตนเองนั้น เป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าความสำเร็จในแบบที่ผู้อื่นสามารถมองเห็นและยกนิ้วให้
ไม่เพียงอารมณ์ความรู้สึกจะมีความสำคัญต่อการแสวงหาความสุขเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จทางด้านวัตถุอีกด้วย แดเนียล โกลแมน กล่าวไว้ในหนังสือ Emotional Intelligence ว่า “บรรดานักจิตวิทยาเห็นตรงกันว่า IQ เป็นปัจจัยที่ทำนายความสำเร็จได้เพียงแค่ 20% ที่เหลืออีก 80% มาจากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ผมเรียกว่าความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ อีกด้วย”
วิธีการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนพอใจในการเรียน และในขณะเดียวกันก็มีผลการเรียนที่ดีได้ สามารถสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ งานวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อ มิฮาลี ชิกเซนมิฮาย ในเรื่อง “ความลื่นไหล (Flow)” ได้มอบองค์ความรู้ใหม่ให้กับเรา นั่นคือ เราจะสามารถสร้างสภาวะแวดล้อมที่ช่วยให้เด็กสัมผัสถึงประโยชน์ในปัจจุบันและในอนาคต (ความพอใจและความหมาย) ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียนก็ตาม
ชิกเซนมิฮายได้กล่าวไว้ว่า ความลื่นไหลเป็นภาวะที่คนคนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการกระทำอะไรบางอย่างที่ให้รางวัลอันล้ำค่าในตัวมันเอง ซึ่งเป็นภาวะที่เรารู้สึกว่าตัวเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์นั้น โดยที่ “การกระทำและความตระหนักรู้เชื่อมประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน” เมื่ออยู่ในภาวะลื่นไหล เราจะได้รับทั้งประสบการณ์ที่สุดยอดและผลงานที่สุดยอดไปพร้อมๆกัน กล่าวคือเราจะสัมผัสได้ถึงความพอใจและสามารถแสดงผลงานที่ดีที่สุดออกมา

เราจะเข้าสู่ภาวะลื่นไหลก็ต่อเมื่อความยากของงานและทักษะของเราอยู่ในระดับที่สอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของครูอาจารย์ควรออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน การดิ้นรนต่อสู้ ความยากลำบาก และความท้าทาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชีวิตที่มีความสุข เพราะในชีวิตไม่มีทางลัดที่จะพาไปสู่ความสุขได้ง่ายๆ แต่กระนั้น ทันทีที่เราเห็นคนอื่นกำลังกระเสือกกระสน โดยเฉพาะถ้าเขาคนนั้นคือลูกหลานของเราเอง ปฏิกิริยาตอบสนองโดยฉับพลันของเราก็คือ เราย่อมต้องการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับเขา การปล่อยให้เขาต้องดิ้นรนทั้งๆที่เราสามารถช่วยได้นั้นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ แต่ในบางครั้งเราก็ต้องอดใจไว้บ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้รับสิทธิพิเศษในการเรียนรู้ที่จะสู้กับความยากลำบาก
ความสุขกับการทำงาน
งานวิจัยของริชาร์ด แฮคแมน นักจิตวิทยาแสดงให้เห็นว่า มีเงื่อนไข 3 ประการ ที่ช่วยให้ลูกจ้างรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำมีความหมายมากขึ้น
- งานควรดึงเอาพรสวรรค์และทักษะอันหลากหลายของลูกจ้างออกมาใช้
- ลูกจ้างควรได้ทำงานตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ
- ลูกจ้างควรรู้สึกว่างานของตัวเองส่งผลกระทบที่สำคัญต่อผู้อื่น
นายจ้างที่สามารถออกแบบงานให้ตรงกับเงื่อนไขเหล่านี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสุขให้กับลูกจ้างได้
แต่เราก็ไม่อาจคาดหวังว่าฟ้าจะประทานงานดีๆ หรือนายจ้างดีๆ มาให้ เราจำเป็นต้องเสาะหาและสร้างความหมายและความพอใจในที่ทำงานขึ้นมาอย่างกระตือรือร้นด้วยตัวเอง การกล่าวโทษคนอื่น เราอาจจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ…แต่ไม่ใช่ความสุข ความรับผิดชอบสูงสุดในการค้นหางานที่ใช่หรือการสร้างเงื่อนไขในการทำงานที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง
อับราฮัม มาสโลว์ เคยเขียนเอาไว้ว่า “โชคชะตาอันงดงามที่สุดและโชคลาภอันประเสริฐสุดซึ่งสามารถบังเกิดดับมนุษย์ผู้ใดก็ตาม จะปรากฎขึ้นเมื่อเขาคนนั้นได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักที่จะทำ”
เอมี วอร์เซสนิวสกี นักจิตวิทยาและเพื่อนนักวิจัยของเธอชี้ให้เห็นว่า คนเรามักมองว่างานของตัวเองเข้าข่าย 1 ใน 3 ลักษณะต่อไปนี้
- ภาระหน้าที่
- คนที่มองว่างานตัวเองเป็นภาระหน้าที่ มักมองว่างานเป็นเรื่องน่าเบื่อและซ้ำซากจำเจ เราจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนทางการเงินมากกว่าผลตอบแทนทางใจ
- อาชีพ
- คนที่มองว่างานตัวเองเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่แล้วจะถูกปลุกเร้าจากปัจจัยภายนอก เช่น เงินเดือนและความก้าวหน้า
- สิ่งที่ใจเรียกร้อง (Calling)
- คนที่มองว่างานตัวเองเป็นสิ่งที่ใจเรียกร้อง งานจะเป็นจุดมุ่งหมายในตัวมันเอง ถึงแม้ว่าเงินค่าจ้างและความก้าวหน้าจะมีความสำคัญ แต่เขาทำงานนั้นๆเพราะอยากทำ เขาถูกปลุกเร้าจากปัจจัยภายในและสัมผัสได้ถึงความสมปรารถนาของตัวเอง นั่นเป็นเพราะเป้าหมายของเขาสอดคล้องกับตัวตนของเขา
- การค้นหาสิ่งที่ใจเรียกร้องนั้นต้องอาศัยสติและความพากเพียรเพราะโดยปกติแล้ว เรามักจะได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งที่เราทำได้ดี มากกว่าสิ่งที่เราอยากทำ
การค้นหางานที่ใช่ (ซึ่งสอดคล้องกับความหลงใหลและจุดแข็งของเรา) นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราสามารถเริ่มต้นกระบวนการด้วยการตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
- อะไรที่มีความหมาย (meaning) สำหรับฉัน
- อะไรที่ให้ความพอใจ (pleasure) กับฉัน
- อะไรคือจุดแข็ง (strengths) ของฉัน
จากนั้นจึงสังเกตแนวโน้มที่ปรากฏขึ้นมา หลังจากพิจารณาคำตอบและบ่งชี้พื้นที่ที่ซ้อนกันแล้ว เราย่อมระบุได้ว่า งานประเภทใดที่จะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด
ตัวอย่างการใช้กระบวนการ MPS ของทาล

เมื่อพิจารณาในแง่ของหน่วยวัดสูงสุด วิธีที่เรามองงานของตัวเองนั้นมีความสำคัญมากกว่าตัวงานเสียอีก กล่าวคือ พนักงานทำความสะอาดของโรงพยาบาลที่มองว่างานของตนเองสามารถสร้างความแตกต่างได้ ย่อมมีความสุขมากกว่าแพทย์ที่ไม่รู้สึกว่างานของตนเปี่ยมด้วยความหมายเสียด้วยซ้ำ
ความสุขกับความสัมพันธ์
เอ็ดไดเนอร์ และมาร์ติน เซลิกแมน สองผู้ยิ่งใหญ่ในวงการจิตวิทยาเชิงบวก ได้ทำการศึกษา “คนที่มีความสุขมาก” และนำไปเปรียบเทียบกับ “คนที่มีความสุขน้อย” พวกเขาพบว่า ปัจจัยภายนอกเพียงประการเดียวที่แยกแยะคนทั้งสองกลุ่มออกจากกันคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าคนเหล่านั้นมี “ความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นและน่าพอใจ” หรือไม่ การใช้เวลาที่เปี่ยมด้วยความหมายกับเพื่อนๆ ครอบครัว หรือคนรักนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีความสุข (แม้โดยตัวมันเองจะไม่เพียงพอก็ตาม)
การได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เราใส่ใจและคนที่ใส่ใจเรา (เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา) ช่วยให้เราได้อิ่มเอมกับความหมายในชีวิตมากขึ้น ช่วยปลอบโยนความปวดร้าวของเรา และช่วยเพิ่มพูนความปีติยินดีที่เรามีต่อโลกใบนี้
ถึงแม้ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีความสำคัญต่อความสุข แต่ที่สำคัญสุดๆ ต้องยกให้ความสัมพันธ์แบบคนรัก เดวิด ไมเยอร์ส ได้ทำการศึกษางานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับความสุข และยอมรับว่า “แทบไม่มีปัจจัยใดที่จะทำนายความสุขได้แม่นยำไปกว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด สนิทสนม เท่าเทียม เอาใจใส่ และยืนยาวกับคนรักของเรา”
เมื่อคนอื่นรักเราเพราะความร่ำรวย อำนาจ หรือชื่อเสียงของเรา นั่นคือความรักที่มีเงื่อนไข แต่เมื่อผู้อื่นรักเราเพราะความมุ่งมั่น ความจริงจัง หรือความอบอุ่นของเรา นั่นคือความรักที่ปราศจากเงื่อนไข ความรักที่ปราศจากเงื่อนไขจะสร้างวงกลมแห่งความสุขขึ้นมา พร้อมๆกัน ภายในพื้นที่ดังกล่าว เราจะได้รับการสนับสนุนให้ทำสิ่งต่างๆที่มีความหมายและสร้างความพอใจให้กับเรา เราจะสัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการทำตามความหลงใหลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ การธนาคาร การสอนหนังสือ หรือการทำสวน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องชื่อเสียงหรือความสำเร็จใดๆทั้งสิ้น ความรักที่ปราศจากเงื่อนไขจึงเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่มีความสุข
ความสัมพันธ์เปรียบได้กับการทำการค้าในหน่วยวัดสูงสุด ยิ่งความสัมพันธ์ทำกำไรให้กับสองฝ่ายมากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ก็มีแนวโน้มที่จะเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมขาดทุน เมื่อเขาหรือเธอยอมละทิ้งความหมายและความพอใจอยู่ร่ำไปเพื่อให้อีกฝ่ายได้กำไรมากกว่า ทั้งคู่ก็จะลงเอยด้วยการมีความสุขน้อยลงในระยะยาว
ถ้าหากต้องการบ่มเพาะให้เกิดความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกันอย่างแท้จริง เราจะต้องเปลี่ยนจากที่เคยพุ่งเป้าไปที่ความปรารถนาให้อีกฝ่ายยอมรับ (การแสวงหาความเห็นชอบและคำชม) ไปสู่ความปรารถนาให้อีกฝ่ายรู้จักเรามากขึ้น และนี่หมายความถึงการค่อยๆเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา ความกลัว จินตนาการ หรือความฝัน แม้ว่ามันจะไม่ได้ทำให้พวกเขาดูดีอย่างที่ต้องการก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายปีที่อยู่ด้วยกัน คู่รักสามารถสร้าง “แผนที่ความรัก” ที่ช่วยให้เข้าใจโลกของกันและกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่านิยม ความปรารถนา ความกังวล ตลอดจนความหวังของอีกฝ่าย
การบ่มเพาะนี้มีความสำคัญเหนือการค้นหาคนที่ใช่สำหรับเรา องค์ประกอบที่สำคัญและท้าทายที่สุดนั้นไม่ใช่การค้นหาคนที่เหมาะสมที่สุด แต่อยู่ที่การบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่เราเลือกแล้วมากกว่า เราบ่มเพาะความสัมพันธ์ด้วยการทำความรู้จักคนรักและเปิดโอกาสให้เขาหรือเธอได้ทำความรู้จักเรา หลังจากนั้น เราก็สามารถเพิ่มความสนิทสนมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ด้วยการนำสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับคนรักมาปรับใช้ นั่นคือ การทำกิจกรรมที่มีความหมายและสร้างความพอใจให้กับทั้งตัวเราเองและคนรัก
การฝึกจิตให้อยู่กับความสุข
การฝึกจิต #1 ประโยชน์ส่วนตนและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- การมีส่วนช่วยทำให้ผู้อื่นมีความสุขจะมอบความหมายและความพอใจให้กับเรา ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมการช่วยเหลือผู้อื่นจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่มีความสุข
- เรามักจะมีความสุขมากที่สุดเวลาได้ทำกิจกรรมที่นอกจากจะมอบความหมายและความพอใจให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย
การฝึกจิต #2 กิจกรรมกระตุ้นความสุข
- กิจกรรมที่เปี่ยมด้วยความหมายและน่าพอใจเปรียบได้กับเทียนที่ส่องสว่างอนู่ท่ามกลางห้องอันมืดมิด เปลวเทียนดวงน้อยเพียงหนึ่งหรือสองดวงสามารถทำให้ห้องทั้งห้องสว่างไสวขึ้นมาได้ ในทำนองเดียวกัน ประสบการณ์แค่หนึ่งหรือสองอย่างที่มอบความสุขให้กับเราในช่วงเวลาแสนน่าเบื่อ ก็สามารถพลิกฟื้นจิตใจของเราได้ ผมเรียกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆแต่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลเหล่านี้ว่า กิจกรรมกระตุ้นความสุข ซึ่งหมายถึงกิจกรรมต่างๆที่ใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 นาที ไปจนถึง 2-3 ขั่วโมง ที่มอบทั้งความหมายและความพอใจ…ทั้งประโยชน์ในปัจจุบันและในอนาคต
- สำหรับแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง การพาลูกๆไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างเปี่ยมด้วยความหมาย ถือเป็นกกิจกรรมกระตุ้นสุขที่อาจทำให้เธอสัมผัสกับชีวิตโดยรวมต่างไปจากเดิมสิ้นเชิง การออกไปเที่ยวกับลูกๆเป็นแรงจูงใจให้เธอทำงานได้ตลอดทั้งสัปดาห์
- พนักงานธนาคารเพื่อการลงทุนที่อายุยังน้อยนั้น การช่วยงานด้านการเงินให้กับชุมชนที่เธออาศัยอยู่สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และการไปพบปะเพื่อนๆตอนเย็นสัปดาห์ละครั้ง สามารถช่วยให้เธออดทนทำงานและแม้กระทั่งสนุกกับการทำงานหนัก 2 ปีได้ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคาดหวังเลยก็ตาม
การฝึกจิต #3 มากกว่าความสุขที่พุ่งสูงเพียงชั่วคราว
- ความสุขสามารถเปรียบเทียบได้เป็น 2 แบบ ความสุขเชิงสูง และความสุขเชิงลึก ความสุขเชิงสูงมีช่วงที่พุ่งสูงขึ้นและช่วงที่ตกต่ำ เปรียบเสมือนใบไม้ซึ่งงดงาม เป็นที่พึงปรารถนา หากแต่ไม่จีรังยั่งยืน เพราะใบไม้ต้องผลัดใบไปตามฤดูกาล ความสุขเชิงลึกเป็นความสุขที่หยั่งรากลงไปอย่างมั่นคง เป็นความสุขในระดับรากฐาน อยู่กับเรานาน ไม่ได้ไปๆมาๆ เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เรารัก มีหนังสือดีๆซักเล่มที่เราอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน
- การแสวงหาความสุขสามารถเป็นกระบวนการเติบโตและเจริญรุ่งเรืองที่ไร้จุดสิ้นสุด เพราะเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่มีขีดจำกัด เมื่อได้ทำงาน เรียนหนังสือ และมีความสัมพันธ์ในทางที่มีความหมายและน่าพอใจ เราจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเราจะได้พบกับความสุขที่พุ่งสูงขึ้นเป็นบางคราวแล้ว (ซึ่งร่วงโรยเฉกเช่นใบไม้) เรายังจะได้พบกับความสุขที่ยั่งยืนอีกด้วย (ซึ่งหยั่งรากลึกอย่างมั่นคง)
การฝึกจิต #4 ปลดปล่อยแสงสว่างในตัวเรา
- การเข้าใจทฤษฎีความสุขที่ผมนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ (เราต้องการทั้งความพอใจและความหมายในชีวิต) นั้นยังไม่เพียงพอที่จะรับประกันว่าเราจะได้พบกับความสุขที่ยั่งยืน ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรที่จะมีความสุข
การฝึกจิต #5 จินตนาการ
- แทบไม่มีหนังสือปรัชญา จิตวิทยา หรือพัฒนาตนเองเล่มใดเลยที่สอนสิ่งใหม่ๆเกี่ยวกับการบรรลุความสุข อย่างมากที่สุดหนังสือหรือครูบาอาจารย์ก็แค่ช่วยทำให้เราตระหนัก หรือช่วยให้เราสัมผัสกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างเต็มที่ ท้ายที่สุดแล้ว ความก้าวหน้า การเติบโต และความสุข ล้วนมาจากความสามารถของเราในการมองเข้าไปในตัวเราเอง และถามคำถามสำคัญๆ
การฝึกจิต #6 ใช้เวลาให้เป็น
- การใช้ชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น (การทำให้น้อยลงแทนที่จะทำให้มากขึ้น) ไม่ได้ส่งผลให้เราประสบความสำเร็จน้อยลงแต่อย่างใด
- เวลาเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่กลับมีภาระหน้าที่ต่างๆมากมายที่ต้องการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ความยุ่งที่เกินพอดีของพวกเราและความเครียดที่พวกเราส่วนใหญ่พบเจออยู่ตลอดเวลา ทำให้พวกเราไม่มีความสุขในหลายๆด้านของชีวิต
- ความร่ำรวยเวลาสามารถทำนายความสุขได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ความร่ำรวยวัตถุทำเช่นนั้นไม่ได้ ความร่ำรวยเวลาหมายถึงความรู้สึกว่า เรามีเวลามากพอจะทำกิจกรรมต่างๆ ที่เปี่ยมด้วยความหมาย มีเวลาคิดทบทวน และมีเวลาทำกิจกรรมยามว่าง ส่วนความขัดสนเวลาหมายถึงความรู้สึกว่า เรารู้สึกเครียด เร่งรีบ ทำงานหนักเกินไป และทำอะไรแทบไม่ทัน
- เพื่อให้มีความสุขมากขึ้น ไม่มีวิธีอื่นใดนอกจากการทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงการหวงแหนเวลาที่มีอยู่ และเรียนรู้ที่จะพูดว่า “ไม่” ให้บ่อยขึ้น (กับบุคคลและโอกาสต่างๆ) ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การหวงแหนเวลาหมายถึงการรู้จักจัดลำดับความสำคัญ รู้จักเลือกกิจกรรมที่เราต้องการจะทำจริงๆ ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยวางกิจกรรมอื่นๆด้วย
- หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ เป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จและมีความสุขไปพร้อมกัน
การฝึกจิต #7 การปฏิวัติความสุข
- ความลุ่มหลงในความสุขเป็นเรื่องของการมองว่าความสุขเป็นหน่วยวัดสูงสุด เป็นจุดหมายปลายทางที่เป้าหมายทั้งปวงจะต้องมาสิ้นสุดลง ความลุ่มหลงในความสุขไม่ใช่การปฏิเสธทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นการลดบทบาทของมันจากที่เคยมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
- เมื่อคำถามที่นำทางชีวิตเราเป็นเรื่องของการแสวงหาความหมายและความพอใจ (ความลุ่มหลงในความสุข) แทนที่จะเป็นคำถามที่ว่าเราจะได้รับทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นได้อย่างไร (ความลุ่มหลงในวัตถุ) เราย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้รับประโยชน์จากทั้งการเดินทางและจุดหมายปลายทาง
บทสรุป ที่นี่และเดี๋ยวนี้
- ผมเป็นคนหนึ่งที่มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สังคมของเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เปี่ยมด้วยความสุข ผมเชื่อว่าผู้คนสามารถค้นพบงานที่จะมอบประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เชื่อว่าผู้คนสามารถค้นพบว่าการศึกษาเป็นแหล่งกำเนิดอันมั่งคั่งของความสุข เชื่อว่าผู้คนจะสามารถค้นพบความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความหมายและน่าพอใจ ผมเชื่อว่าการปฏิวัติความสุขจะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน
- หนึ่งในอุปสรรคของความสุขที่พบเห็นได้มากที่สุดคือ ความคาดหวังผิดๆว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรืออาจารย์ เจ้าหญิงหรืออัศวิน ความสำเร็จ รางวัล หรือสิ่งแปลกประหลาดใดๆก็ตามแต่) จะนำความสุขชั่วนิรันดร์มาให้เรา ถึงแม้สิ่งต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่อย่างดีที่สุดพวกมันก็เป็นเพียงแค่ตัวต่อชิ้นเล็กๆของชีวิตที่มีความสุขเท่านั้น
- เพื่อดึงศักยภาพในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขออกมา ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกับตัวเองว่า “ชีวิตก็มีเท่านี้” เราต้องยอมรับว่า สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตก็คือรายละเอียดเล็กๆน้อยๆและสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน เราจะได้พบกับชีวิตที่มีความสุขเมื่อเราได้รับความพอใจและความหมายขณะใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก ขณะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือขณะทำโครงการในที่ทำงาน ยิ่งวันเวลาของเราเต็มไปด้วยประสบการณ์เหล่านี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
การสรุปหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญที่ผู้อ่าน(ผมเอง) ได้เรียนรู้ คุณรู้ไหมครับว่าถ้าเราได้อ่านหนังสือเอง เราจะเกิดการตกตะกอนความคิดด้วยตัวเอง และเมื่อได้สรุปความคิดทั้งหมดออกมา จะเป็นการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะได้ประโยชน์เต็มๆจากหนังสือเล่มนี้ ผมแนะนำให้ผู้สนใจอ่านหนังสือฉบับเต็มครับ โดยสามารถเช็คได้จากสำนักพิมพ์ We Learn ครับ