#อ่านจบแล้ว Search Inside Yourself ตื่นรู้กับ Google

เมื่อพุทธมาบรรจบกับวิทย์ ในบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก เราจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

มนุษย์ที่มีความสุขที่สุดในโลกหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ? เป็นคำถามที่ผู้เขียนหนังสือ คุณ Chade-Meng Tan ตั้งคำถาม

ด้วยความที่เค้าทำงานเป็นวิศวกร เค้าจึงพยายามค้นคว้าหาคำตอบและค้นพบตัวอย่างมากมายว่าผู้คนที่ฝึกการเจริญสติ ปรมาจารย์ด้านการฝึกจิตหลายๆท่านนั้น ได้รับการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นคนที่มีความสุขสูงมาก และแสดงให้เห็นว่า เราแต่ละคนสามารถพัฒนาจิตให้มีศักยภาพเกินขีดจำกัด ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จิตนั้นต้องเป็นสุข พบหนทางสงบอย่างแท้จริง และเปี่ยมด้วยเมตตา

Mr.Meng ทำการค้นคว้าว่าจะนำองค์ความรู้นี้มาใช้ในองค์กรที่เค้าทำงานอยู่อย่าง Google ได้อย่างไร เค้าใช้เวลา 20% ของเวลางานที่ Google ยินดีให้พนักงานนำไปใช้ในการทำโครงการที่อยู่นอกเหนืองานหลักมาพัฒนาหลักสูตร Search Inside Yourself (ค้นหาจากภายในตัวคุณ) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ที่มีพื้นฐานมาจากการฝึกสติ จนสุดท้าย Mr.Meng นั้นกลายเป็นวิศวกรคนแรกของ Google ที่ถูกย้ายจากฝ่าย Engineering ไปทำงานด้าน People Operations หรือฝ่ายบุคคลนั่นเอง เพื่อดูแลหลักสูตรนี้ใน Google โดยหลักสูตรนี้ถูกนำมาสอนที่ Google ตั้งแต่ปี 2007 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากมาย เช่น ควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองได้ดีขึ้น, สามารถทำงานได้ดีขึ้นจนได้เลื่อนตำแหน่ง, เรียนรู้ที่จะแยกแยะเรื่องราวออกจากความเป็นจริงได้ ทำให้กลายเป็นผู้จัดการที่ดีขึ้น, สงบนิ่งมากขึ้นเวลาได้รับคำโต้แย้งจากลูกค้า ทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น หลายคนบอกว่ามีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

การที่ Mr.Meng มีพื้นฐานมาทางด้านวิศวกรรม ทำให้มีประโยชน์ต่อการสร้างหลักสูตรที่คาดไม่ถึงอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

  1. อิงข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้
  2. มีการทดลองนำเอาความรู้ไปใช้ด้วยตัวเองในการทำงานที่ Google ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการทีมงาน และอื่นๆ จึงเชื่อได้ว่าหลักสูตรนี้ผ่านการทดสอบมาหลายครั้งจนเชื่อได้ว่าเอาไปใช้ได้ทันที
  3. ด้วยมุมมองแบบวิศวกร Mr.Meng จึงแปลคำพูดยากๆให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เอาไปปฏิบัติได้เลย

หลักสูตรค้นหาจากภายในตัวคุณประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน

  • การฝึกจดจ่อ
  • การรู้จักตัวเองและการเป็นนายตัวเอง
  • การสร้างนิสัยของจิตที่มีประโยชน์

ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คือความสามารถในการตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและของผู้อื่น เพื่อแยกแยะความแตกต่างและใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางให้กับความคิดและการกระทำของตัวเอง

Daniel Goleman ผู้เขียนหนังสือ Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ บอกว่าความฉลาดทางอารมณ์ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นความสามารถที่เรียนรู้กันได้ผ่านการฝึกฝน โกลแมนได้แบ่งความฉลาดทางอารมณ์ออกได้เป็น 5 ด้าน

  1. การรู้จักตัวเอง
  2. การควบคุมตัวเอง
  3. แรงจูงใจ
  4. ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
  5. ทักษะทางสังคม

ความฉลาดทางอารมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประโยชน์หลัก 3 ประการ

  • Performance ทักษะการทำงานชั้นยอด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในตัวคุณเอง เพื่อให้คุณทำงานได้เกินขีดความสามารถของคุณขึ้นไปอีก มาร์ติน เซลิกแมน ได้ทำการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าตัวแทนขายประกันที่มองโลกในแง่ดีสามารถทำยอดขายนำหน้าเพื่อนร่วมงานที่มองโลกในแง่ร้ายอยู่ 8% ในปีแรก และทิ้งห่างถึง 31% ในปีที่2
  • Leadership ทักษะการเป็นผู้นำที่ดี โกลแมนมีการกล่าวถึงการวิเคราะห์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความฉลาดทางอารมณ์นั้นคิดเป็น 80%-100% ของความสามารถที่แบ่งแยกผู้นำเก่งๆออกจากคนทั่วไป
  • Happiness ทักษะการสร้างปัจจัยที่เอื้อให้มีความสุข แมทธิว ริคาร์ด ให้คำนิยามความสุขว่าเป็น “การรู้สึกเบิกบานใจชั่วขณะซึ่งเกิดจากจิตที่สมบูรณ์พร้อม…ไม่ใช่แค่ความรู้สึกดีหรืออารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นภาวะที่น่าพึงพอใจ” และภาวะที่น่าพึ่งพอใจนั้นเป็น “ความสมดุลทางอารมณ์ขั้นสูงสุด ซึ่งเกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการทำงานของจิต”

Self-Awareness (การรู้จักตัวเอง)

ฝึกจดจ่อ

  • เราจะเริ่มพัฒนาความฉลาดทางอารมณณ์ได้อย่างไร? ก็ต้องเริ่มต้นด้วนการฝึกจดจ่อ (Attention Training) พื้นฐานของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์นั้นอยู่ที่การจดจ่ออย่างแรงกล้า แน่วแน่ และมีสติ อันจะนำมาซึ่งความสงบและความชัดเจน ตัวอย่างเช่น การรู้จักตนเองต้องอาศัยการมองตัวเองตามความเป็นจริง โดยใช้ความสามารถในการตรวจสอบความคิดและความรู้สึกของเราจากมุมมองของคนนอก ซึ่งไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์
  • ระหว่างการกระตุ้นและการตอบสนองนั้นมีช่องว่างอยู่ ในช่องว่างนั้นเรามีอิสระและอำนาจที่จะเลือกการตอบสนองของเรา และการตอบสนองนั้นจะส่งผลต่อการเติบโตและความสุขของเรา จิตที่สงบและแจ่มชัดช่วยให้เราเพิ่มช่องว่างตรงนั้นได้
  • วิธีฝึกจดจ่ออย่างมีประสิทธิภาพนั้นเราเรียกว่าการทำสมาธิอย่างมีสติ การมีสติ (Mindfulness) คือการตั้งใจจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีเป้าหมาย อยู่กับปัจจุบัน และไม่มีการตัดสิน
  • หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาความสามารถในการควบคุมการจดจ่อนั้นส่งผลต่อการตอบสนองทางอารมณ์ของเราเป็นอย่างมาก

ฝึกจดจ่อกับร่างกายไปด้วย

  • เมื่อเราฝึกจดจ่อจนสมาธิกล้าแข็ง แน่วแน่ และมีสติแล้ว ขั้นต่อไปให้นำมาใช้สังเกตร่างกายของเราเอง อารมณ์ทุกประเภทล้วนเชื่อมโยงกับร่างกาย เช่น เวลาเราโกรธ บางคนจะเริ่มหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น เป็นต้น การจดจ่อที่ร่างกายจะทำให้เราเห็นอารมณ์เป็นภาพความละเอียดสูง คือเราเห็นตัวเราเองชัดเจนขึ้น (เหมือนกระจกที่ได้รับการถูการขัดจนมองตัวเราเองได้ชัดเจน)
  • ประโยชน์ที่จับต้องได้ของการสร้างภาพร่างกายความละเอียดสูงก็คือ มันจะช่วยยกระดับสัญชาติญาณของเรา เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์เกิดจากร่างกายเสียเป็นส่วนใหญ่ และการเรียนรู้ที่จะฟังร่างกายพูดก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ฝึกสติใน 2 นาที

  • การนั่งฝึกสติ 2 นาทีใสแต่ละวันเป็นสิ่งที่ผมใช้แนะนำวิธีการฝึกสติในชั้นเรียนเริ่มต้นสำหรับผู้ใหญ่
  • เริ่มต้นด้วยการตระหนักว่าคุณกำลังกายใจอยู่ จากนั้นจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก แล้วทุกครั้งที่สมาธิคุณไขว้เขวก็แค่ค่อยๆดึงมันกลับมาเท่านั้น
  • อีกวิธีที่ง่ายกว่า คือนั่งเฉยๆ โดยไม่ต้องคิดว่าจะทำอะไรเป็นเวลา 2 นาที เป็นการเปลี่ยนจาก “การทำ” ไปสู่ “การดำรงอยู่” ขอให้เวลา 2 นาที นี้คุณอยู่กับตัวเองเท่านั้น
  • การฝึกสติง่ายๆแบบนี้ ถ้าฝึกอย่างสม่ำเสมอ มันจะทำให้ความสงบและความชัดเจนนั้นหยั่งรากลึกในจิตใจ และเปิดโอกาสให้เราได้ดื่มด่ำกับทุกขณะที่มีค่าของชีวิตอย่างเต็มที่

ผ่อนคลายและตื่นตัวในเวลาเดียวกัน

  • เมื่อเราฝึกสติสมาธิได้ดีขึ้น เราจะพัฒนาตัวเองไปฝึกการจดจ่อขั้นกว่า คือความสามารถในการจับจ้องไปที่การจดจ่อ คือสามารถรู้ตัวเวลาเราวอกแวกได้
  • ความลับสำคัญของการทำสมาธิคือ มันทำให้จิตของคุณอยู่ในสภาวะที่ทั้งผ่อนคลายและตื่นตัวในเวลาเดียวกัน จิตนั้นก็จะมีคุณลักษณะที่ดีงาม 3 ประการ คือ ความสงบ ความชัดเจน และความสุข
  • เมื่อทำจิตให้สงบและแจ่มชัดไปพร้อมๆกันได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตจะมีความสุขได้ทันทีโดยเราไม่ต้องไปกระตุ้นอะไรมันเลย
  • ภาวะตั้งต้นของจิตคือการมีความสุขอยู่เป็นนิจ ดังนั้นเมื่อจิตสงบและแจ่มชัด มันก็จะกลับสู่สภาวะตั้งต้นตามปกติของมัน ซึ่งก็คือการมีความสุข เราเพียงแค่พาจิตกลับสู่สภาวะตามธรรมชาติของมัน
  • ความสุขไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องไขว่คว้าแต่เป็นสิ่งที่คุณอ้าแขนรับต่างหาก ความสุขคือการดำรงอยู่ ความรู้นี้พลิกชีวิตผมเลยทีเดียว
  • การทำสมาธิคือการออกกำลังกายจิตนั่นเอง ทุกครั้งที่คุณวอกแวกแล้วดึงตัวเองกลับมาได้สำเร็จ ก็เหมือนคุณได้เกร็ง “กล้ามเนื้อ” จิตซึ่งช่วยให้การจดจ่อของคุณดีขึ้นเล็กน้อย
  • ไม่มีการทำสมาธิใดที่เปล่าประโยชน์ ทุกครั้งที่เราดึงตัวเองกลับมา ก็นับเป็นโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อจิตของเราให้แข็งแรงขึ้น

กระบวนการฝึกทำสมาธิอย่างมีสติ (Mindfulness Meditation)

  • เริ่มที่จุดมุ่งหมาย คือเหตุผลที่ทำให้คุณหันมาพึ่งพาการฝึกสติ คืออะไร? เช่น ลดความเครียด อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หรือการพัมนาความฉลาดทางอารมณ์ แต่มันจะทรงพลังมากขึ้นถ้าจุดมุ่งหมายของคุณคือการทำเพื่อผู้อื่น ขอแค่กำหนดจุดมุ่งหมายแบบนี้บ่อยๆ คุณอาจพบว่าตัวเองค่อยๆกลายเป็นคนใจดีมีน้ำใจกับผู้อื่นมากขึ้น
  • ขั้นต่อมาคือสังเกตลมหายใจเข้าออก เหมือนเราเป็นยามหน้าประตูเมืองที่คอยเฝ้าดูผู้คนเดินทางเข้าและออกเมือง ผู้คนคือความคิดต่างๆ เราแค่เฝ้าดูความคิดไปเรื่อยๆ
  • เมื่อเราเสียสมธิ ก็แค่กลับมาจดจ่อใหม่ เหมือนเราออกกำลังกายกล้ามเนื้อสติ
  • หันมามองทัศนคติของคุณที่มีต่อตัวคุณเอง ให้ดูว่าคุณปฏิบัติกับตัวเองอย่างไร ซ้ำเติมตัวเองด้วยคำพูดแรงๆบ่อยไหม ถ้าเป็นไปได้ให้คุณเปลี่ยนทัศนคติเป็นพลังด้านบวกอย่างความเมตตาต่อตัวเอง
  • ท่าทำสมาธิที่ดีที่สุดเป็นท่าที่ช่วยให้คุณตื่นตัวและผ่อนคลายไปพร้อมๆกันได้เป็นเวลานาน
  • มีคนคิดคั้นท่านั่นงสมาธิที่ทั้งตื่นตัวและผ่อนคลายเอาไว้แล้ว เรียกว่าท่านั่งสมาธิ 7 จุด
    • หลังตรงเหมือนลูกธนู
    • ขาขัดสมาธิในท่าดอกบัว โดยเท้าขวาทับเท้าซ้าย เท้าซ้ายทับต้นขาขวา
    • อกผายไหล่ผึ่ง
    • เก็บคางเล็กน้อย
    • หลังตาหรือลืมตามองตรงไปข้างหน้า
    • ลิ้นดุนที่เพดานปากด้านบน
    • ริมฝีปากเผยอเล็กน้อย ไม่กัดฟัน
  • เทคนิคนึงคือให้จินตนาการเหมือนเราเป็นภูเขาลูกใหญ่
  • นักทำสมาธิเก่งในศาสนาพุทธมีคลื่นแกมมาในสมองสูง ช่วยให้การจดจำ การเรียนรู้ และการทำความเข้าใจในระดับที่สูง และคลื่นแกมมานี้ยังสูงอยู่ในสภาการณ์ปกติด้วย นั่นหมายความว่า การฝึกทำสมาธิสามารถเปลี่ยนแปลงสมองได้แม้แต่ตอนที่คุณอยู่เฉยๆ หากคุณยกเวทบ่อยๆ กล้ามเนื้อแขนของคุณก็จะแข็งแรงแม้ในช่วงที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

วิธีฝึกการมีสติในชีวิตประจำวัน

  • จากประสบการณ์ของผม การมีสติทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างอื่นเลย เรามักมองข้ามสิ่งธรรมดามากมายในชีวิต เช่น การไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การมีข้าวให้กินวันละสามมื้อ และการเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การมีสติทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นบ่อเกิดความสุข
  • เราฝึกสติในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การตั้งใจจดจ่อกับทุกงานที่ทำอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีการตัดสินใดๆทั้งสิ้น และทุกครั้งที่วอกแวก ก็แค่ค่อยๆดึงตัวเองกลับมา มันก็เหมือนกับการนั่งสมาธิ เพียงแต่เปลี่ยนเป้าหมายจากการดจ่อที่ลมหายใจมาเป็นการจดจ่อกับงานตรงหน้าแทน
  • สำหรับตัวผมเอง ผมจะเดินทำสมาธิทุกครั้งที่ไปไห้องน้ำและกลับมาห้องทำงาน ผมพบว่าการเดินอย่างมีสติช่วยให้จิตได้ผ่อนคลาย และจิตที่ผ่อนคลายก็เหมาะสำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันจึงเป็นประโยชน์มากๆต่อการทำงานของผม
  • วิธีฝึกสติที่ช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคมได้ดี คือการมีสติกับผู้อื่นเพื่อประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ให้คุณจดจ่อไปที่ผู้อื่นอย่างเต็มที่โดยไม่มีการตัดสินใดๆ และทุกครั้งที่วอกแวกก็ค่อยๆดึงตัวเองกลับมา วิธีนี้เหมือนกับการทำสมาธิที่เราเพิ่งฝึกไป เพียงแต่เป้าหมายของการจดจ่อนั้นอยู่ที่บุคคลอื่น ของขวัญล้ำค่าที่สุดที่เรามอบให้ผู้อื่นได้คือความสนใจของเรา
  • เราสามารถต่อยอดการฟังอย่างมีสติไปสู่การพูดอย่างมีสติได้ ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ 1) เริ่มด้วยการฟังอย่างมีสติก่อน 2) การขมวดปมการสื่อสาร หรือเป็นการที่เราพูดทบทวนสิ่งที่เราได้ยินกลับไปหาคู่สนทนาว่าเราได้ยินสิ่งนี้จากเค้านั้นถูกต้องหรือไม่ 3) เฝ้าระวัง คือการสำรวจดูท่าทีของตัวเองว่าเราตีความหรือตัดสินผู้อื่นอยู่ไหม หรือในหัวคิดอะไร ให้ดึงตัวเองกลับมาโฟกัสกับคู่สนทนาใหม่
  • คุณจะเห็นว่าการฝึกสติเป็นเรื่องง่าย แต่การฝึกสติให้ต่อเนื่องเป็นนิสัยเป็นเรื่องยาก คำแนะนำคือให้เริ่มฝึกจากง่ายๆที่สุด เช่น หายใจอย่างมีสติแค่วันละครั้ง แต่ทำให้เป็นนิสัย แล้วค่อยๆขยายขอบเขตขึ้น หรือหาเพื่อนร่วมฝึก

มั่นใจในตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

  • การรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความชัดเจนในตัวเอง ซึ่งจะทำให้เรารับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นใน 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือเราสามารถเพิ่มความละเอียด (หรือความแม่นยำ) ในการรับรู้อารมณ์ของเรา เพื่อให้สามารถมองเห็นอารมณ์ดังกล่าวได้เวลาที่มันเกิดขึ้นและดับไป รวมถึงความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอื่นๆในระหว่างนั้นด้วย ด้านที่สองคือเราสามารถเพิ่มความสว่างและปรับสีให้ตัดกันมากขึ้น เพื่อให้มองเห็นมันได้คมชัดกว่าเดิม เมื่อทำได้ตามนี้เราก็จะมีข้อมูลของสภาพอารมณ์ที่ตรงกับความเป็นจริงและเป็นประโยชน์อย่างมาก
  • แดเนียล โกลแมน ให้ความหมายของการรู้จักตัวเองว่าเป็น “การรู้ถึงภาวะภายใน ความชอบส่วนตัว ทรัพยากรในตัว และสัญชาตญาณของตัวเอง” ซึ่งรวมไปถึง ความเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง
  • การรู้จักตัวเองคือกุญแจสำคัญสู่ความฉลาดทางอารมณ์ที่เอื้อให้เกิดความฉลาดด้านอื่นๆตามมา เพราะการรู้จักตัวเองนั้นกระตุ้นให้สมองชั้นนอกที่ใช้เหตุผล เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการทางอารมณ์
  • แดเนียล โกลแมน อธิบายว่าการรู้จักตัวเองประกอบด้วยศักยภาพทางอารมณ์ 3 อย่างด้วยกัน
    • การรู้จักอารมณ์ – การตระหนักถึงอารมณ์ของตัวเองและผลที่ตามมาของมัน
    • การประเมินตัวเองตามความเป็นจริง – การรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง
    • ความมั่นใจในตัวเอง – การรู้ชัดถึงคุณค่าในตัวเองและศักยภาพของตัวเอง
  • หากได้รับการฝึกสติมากพอ คุณจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆแต่สำคัญยิ่ง นั่นคือ คุณจะเริ่มรู้สึกว่าอารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่คุณรู้สึก ไม่ใช่สิ่งที่คุณเป็น อารมณ์เปลี่ยนจากที่เคยมีตัวตนไปเป็นเพียงความรู้สึกผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และหากได้ฝึกสติมากยิ่งขึ้น ก็อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงเล็กๆและสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือ คุณจะเริ่มเห็นว่าอารมณ์เป็นเพียงภาวะทางกาย เป็นแค่สิ่งที่ร่างกายรู้สึก ความคิดของเราจึงเปลี่ยนจาก “ฉันเศร้าใจ” เป็น “ฉันสัมผัสได้ถึงความเศร้าในร่างกายตัวเอง”

Self-Regulation (การควบคุมตัวเอง)

จากการรู้จักตัวเอง จะทำให้เรามีอำนาจเหนืออารมณ์ของตัวเอง และสามารถควบคุมตัวเองได้

  • แดเนียล โกลแมน พูดถึงคุณสมบัติ 5 ข้อของการควบคุมตัวเองไว้ดังนี้
    • 1) การควบคุมอารมณ์ – สามารถจัดการกับอารมณ์ที่ยุ่งยากและหุนหันพลันแล่นได้เป็นอย่างดี
    • 2) การซื่อสัตย์กับตัวเอง – รักษาคำพูดและยึดมั่นใจจุดยืน
    • 3) การรับผิดชอบต่อตัวเอง – รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง
    • 4) การรู้จักปรับตัว – มีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
    • 5) การรู้จักเปลี่ยนแปลง – เปิดรับความคิด วิธีการ และความรู้ใหม่ๆ
  • ทุกคนล้วนอยากมีคุณสมบัติทั้ง 5 ข้อนี้ ทว่าหลายคนกลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะมักถูกอารมณ์ครอบงำทำให้หลงออกนอกลู่นอกทางนั่นเอง
  • ความสามารถในการเปลี่ยนจากการถูกบังคับเป็นเลือกที่จะทำนี้ นับเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้คุณสมบัติทั้งหมดเกิดขึ้นได้นั่นเอง
  • สถานการณ์หนึ่งที่เหมาะสมจะใช้ทักษะการควบคุมตัวเองให้เป็นประโยชน์ที่สุด นั่นคือตอนที่เราถูกกระตุ้นให้ระเบิดอารมณ์ เทคนิคการจัดการกับตัวกระตุ้นวิธีหนึ่งเรียกว่า ทางรถไฟสายไซบีเรียเหนือ (SiBerian North RailRoad) = SBNRR
    • Stop (หยุด)
    • Breath (หายใจ)
    • Notice (สังเกต)
    • Reflect (ไตร่ตรอง)
    • Respond (ตอบสนอง)

Motivation (แรงจูงใจ)

ศิลปะแห่งการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง

  • คุณคือผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งของโลกในการค้นหาว่าอะไรสร้างแรงจูงใจให้กับตัวคุณ ค่านิยมและแรงจูงใจในส่วนที่ลึกที่สุดของคุณเป็นสิ่งที่คุณรู้ดี
  • โทนี เช CEO บริษัท Zappos มีความเข้าใจกระบวนการความสุขในบริบทของการทำงานอย่างลึกซึ้ง เขาแจกแจงความสุขออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
    • ความสุขจากสิ่งนอกกาย – เป็นความสุขที่ต้องไขว่คว้าให้ได้มาอยู่ตลอด เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสุขประเภทนี้ไว้
    • ความสุขจากการได้ทำสิ่งที่รัก – หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “ภาวะลื่นไหล” หมายถึงการได้ทำงานที่ถนัดและเราเองก็พร้อมจะทุ่มเทอย่างที่สุด เวลาจึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว
    • ความสุขจากการทำตามอุดมการณ์ – คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องที่มีความหมายต่อคุณ ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืนที่สุด จากประสบการณ์ของโทนีและตัวผมเอง ความสุขประเภทนี้ปรับตัวได้ดีและคงอยู่ได้นานมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอุดมการณ์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น วิธีที่ดีที่สุดในการค้นหาแรงจูงใจในการทำงานคือการค้นหาอุดมการณ์ของเราเอง หากรู้ว่าเราให้คุณค่ากับอะไรมากที่สุด และอะไรที่มีความหมายต่อเรามากที่สุด เราก็จะรู้ว่าจะทำอะไรเพื่ออุดมการณ์ของเราได้บ้าง แล้วงานที่ทำก็จะกลายเป็นบ่อเกิดของความสุขที่ยั่งยืนสำหรับเรา ผลคือเราจะมีความสุขกับภาวะลื่นไหลได้บ่อยขึ้น
  • 3 ขั้นตอนง่ายๆในการสร้างแรงจูงใจ
    • 1) วางแนวทาง – วางแนวทางให้งานที่ทำไปในทิศทางเดียวกันกับค่านิยมและอุดมการณ์ของตัวเอง
    • 2) มองอนาคต – มองเห็นภาพอนาคตที่ตัวเองปรารถนา
    • 3) ทนทายาด – สามารถเอาชนะทุกอุปสรรคที่ขวางหน้า
  • ภาวะลื่นไหล
    • แดเนียล โกลแมน เรียกมันว่า “ที่สุดแห่งเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ” เป็นภาวะที่คนเราสามารถแสดงศักยภาพสูงสุดออกมาได้ มันคือการดำดิ่งกับสิ่งที่ทำเพราะรัก จนลาภยศสรรเสริญหมดความสำคัญ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ทุกความคิดและการเคลื่อนไหวลื่นไหลไม่มีสะดุด และคุณใช้ทักษะที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
    • ภาวะลื่นไหลเกิดเมื่อระดับความยากของงานพอเหมาะกับระดับความสามารถของคนทำงาน
  • มีอิสระ มีการพัฒนา และมีจุดมุ่งหมาย
    • แดเนียล พิงก์ นำเสนอว่า ตัวสร้างแรงจูงใจภายใน เป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุด ดีกว่าสิ่งของนอกกายอย่างเงินทอง แรงขับเคลื่อนนี้มี 3 องค์ประกอบ
    • การมีอิสระในการกำหนดทิศทางการทำงานต่างๆด้วยตัวเอง (Autonomy)
    • การพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ (Mastery)
    • การมีจุดมุ่งหมายที่จะบรรลุบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองและทรวคุณค่า (Purpose)

Empathy (ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น)

การสร้างความเข้าอกเข้าใจผ่านการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงกับผู้อื่น

  • ก่อนหน้านี้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความฉลาดในตัวเราเอง ตอนนี้จะเกี่ยวกับความฉลาดระหว่างบุคคลอื่นๆ
  • ยิ่งเรารู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นไปด้วย
  • การเข้าใจผู้อื่น ไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเห็นดีเห็นงามไปด้วย มันเป็นไปได้ที่เราจะเข้าใจและเคารพความคิดและความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยใจที่หวังดี ทั้งที่ตัวเองเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเขา
  • วิธีการเพิ่มความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ด้วยความเมตตา (Kindness) ความเมตตากระตุ้นให้สนใจผู้อื่นและทำให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
  • ทุกครั้งที่คุณพบเจอคนอื่น ให้คุณคิดในใจหวังอยากให้เขามีความสุข ทำบ่อยๆจนกลายเป็นนิสัยทางจิตของตัวคุณ ทำไปเรื่อยๆสักพักมันจะกลายเป็นสัญชาตญาณ และพัฒนาตัวคุณกลายไปเป็นคนที่มีเมตตา ความเมตตาของคุณจะปรากฏอยู่บนใบหน้า ท่าทาง และทัศนคติของคุณทุกครั้งที่คุณพบใครต่อใคร
  • การเป็นผู้ให้ความเมตตานั้นเป็นประสบการณ์ที่ทั้งสงบและเป็นสุข บ่อยครั้งมันมักดีพอๆกับการเป็นผู้รับความเมตตาด้วยซ้ำ การศึกษาหนึ่งบ่งชี้ว่าการทำความดีวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน สามารถทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความเมตตาเป็นที่มาของความสุขอันยั่งยืน
  • ความเข้าอกเข้าใจเป็นทักษะที่พัฒนาได้ผ่านการฝึกฝน การฝึกส่วนใหญ่อาศัยการมีสติและการสร้างนิสัยทางจิตที่เอื้อต่อการเข้าใจผู้อื่น
  • นิสัยทางจิตที่สำคัญที่สุดในที่นี้คือความเมตตา (Kindness) การที่คุณมีเมตตาในที่นี้หมายถึงเวลาคุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ในใจคุณก็จะคิดได้เองโดยอัตโนมัติ “คนคนนี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับฉัน ฉันอยากให้เขามีความสุข” การมีนิสัยทางจิตแบบนี้จะทำให้คนเปิดรับผู้อื่นมากขึ้น และผู้อื่นก็จะเปิดรับคุณมากขึ้นเช่นกัน
  • นิสัยทางจิตที่สำคัญอีกอย่างคือการเปิดกว้าง คือความพร้อมที่จะมองว่าคนอื่นก็มีเหตุผลเหมือนกัน อย่างน้อยก็ในแบบของพวกเขา แม้คุณเองจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

Social Skills (ทักษะทางสังคม)

ความเป็นผู้นำและทักษะทางสังคม

  • “การสนใจผู้อื่นจากใจจริงเพียงสองเดือนจะทำให้คุณมีเพื่อนมากกว่าสองปีที่เอาแต่พยายามทำให้ผู้อื่นมาสนใจคุณ พูดง่ายๆก็คือ ถ้าอยากมีเพื่อน คุณต้องทำตัวเป็นเพื่อนก่อน” เดล คาร์เนกี
  • จากงานวิจัยพบว่า ผู้จัดการที่ทำผลงานได้โดเด่นที่สุดแสดงความอบอุ่นและความรักต่อผู้อื่นมากกว่าที่ผู้จัดการระดับท้ายแถวทำอยู่ 25% พวกเขาเข้าหาคนมากกว่า ทั้งยังทำตัวเปิดกว้างและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกมากกว่าผู้จัดการที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ …ถ้าองค์ประกอบอื่นๆเหมือนกันหมด เราจะยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานให้กับคนที่เราชอบมากกว่า ส่วนความชอบของเราจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำให้เรารู้สึกอย่างไร
  • เนื้อหาส่วนนี้เราจะมาศึกษาทักษะทางอารมณ์บางอย่างที่จะช่วยให้คุณเป็นที่รักและประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ
  • เราจำเป็นต้องหาจุดลงตัวของการปลีกวิเวก (เพื่อเกิดความสงบ) และการเชื่อมโยงกับโลก (เพื่อเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ)
  • ทักษะทางสังคมที่สำคัญ 3 ประการ
    • เป็นผู้นำด้วยความเห็นอกเห็นใจ
    • จูงใจด้วยความดีงาม
    • สื่อสารด้วยความรู้จริง
  • เป็นผู้นำด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Leading with Compassion)
    • ความเห็นอกเห็นใจคือภาวะของความสุขสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ภาวะความสุขรองลงมา คือ “การเปิดใจรับรู้” ซึ่งหมายถึงภาวะของจิตที่เปิดกว้าง สงบนิ่ง และแจ่มชัดที่สุด
    • วิธีที่ดีที่สุดในการเป็นผู้นำคือการนำคนด้วยความเห็นอกเห็นใจ คือภาวะทางจิตที่เปี่ยมด้วยความตระหนักถึงความทุกข์ของผู้อื่น และความปรารถนาที่จะเห็นความทุกข์นั้นได้รับการบรรเทา
    • ความเห็นอกเห็นใจมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 ส่วน คือ ส่วนของเรารับรู้ (ฉันเข้าใจคุณ) ส่วนของการรู้สึกร่วม (ฉันเห็นใจคุณ) และส่วนของการอยากยื่นมือเข้าไปช่วย (ฉันอยากช่วยคุณ)
    • การฝึกความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องของการเปลี่ยนมุมมองจากการมองตัวเองเป็นมองผู้อื่น หรือเปลี่ยนจากคำว่า “ฉัน” เป็น “เรา” นั่นเอง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่สุดสู่การเป็นผู้นำที่แท้จริง
    • จากหนังสือ Good to Great มีประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนค้นพบคือบทบาทของผู้นำ การจะทำให้บริษัทที่ดีกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยผู้นำที่พิเศษสุดจริงๆ คอลลินส์เรียกพวกเขาว่า “ผู้นำระดับ 5 ดาว” ซึ่งก็คือคนที่นอกจากจะมีความสามารถสูงแล้ว ยังมีสองคุณสมบัติที่ดูจะขัดแย้งกันเอง นั่นคือ การมีความทะเยอทะยานและความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ในตัว ผู้นำเหล่านี้มีความทะเยอทะยานไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และด้วยความที่จดจ่ออยู่กับประโยชน์ส่วนรวม พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่าต้องอวดเบ่งประกาศศักดา นี่เองที่ทำให้คนแบบนี้เป็นผู้นำชั้นยอดและน่าเอาเป็นแบบอย่างที่สุด
  • วิธีฝึกสร้าง Compssion ด้วยวิธีการสำนึกถึงความดี
    • หายใจเข้า สูดเอาความดีงามทั้งหมดของคุณเข้าสู่หัวใจ ใช้ใจเพิ่มพูนความดีงามขึ้นเป็น 10เท่า หายใจออกส่งต่อความดีงามทั้งหมดสู่โลกทั้งใบ
    • หายใจเข้า สูดเอาความดีงามทั้งหมดของทุกคนที่คุณรู้จักเข้าสู่หัวใจ ทุกคนล้วนเป็นคนดีและมีความดีงามอยู่ในตัวเอง

และนี่ก็ครบทั้ง 5 ด้าน ของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

  1. การรู้จักตัวเอง
  2. การควบคุมตัวเอง
  3. แรงจูงใจ
  4. ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
  5. ทักษะทางสังคม

การสรุปหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญที่ผู้อ่าน(ผมเอง) ได้เรียนรู้ คุณรู้ไหมครับว่าถ้าเราได้อ่านหนังสือเอง เราจะเกิดการตกตะกอนความคิดด้วยตัวเอง และเมื่อได้สรุปความคิดทั้งหมดออกมา จะเป็นการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะได้ประโยชน์เต็มๆจากหนังสือเล่มนี้ ผมแนะนำให้ผู้สนใจอ่านหนังสือฉบับเต็มครับ โดยสามารถเช็คได้จากสำนักพิมพ์ We Learn ครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s