ในช่วงปีนี้และปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีทองของการค้าอิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยและในประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดๆจากการที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามาในตลาด พร้อมทั้งมีการ “เท” เม็ดเงินเข้ามาโปรโมทกันอย่างหนักหน่วง โปรโมชั่นต่างๆจัดเต็มพร้อมกับการสั่งซื้อแบบจัดส่งให้ถึงที่แบบฟรีๆ รวมทั้งยังสามารถจ่ายเงินสดตอนรับสินค้าก็ยังได้
คำถามที่ผมได้รับจากหลายๆคนคือ แล้วตลาดอีคอมเมิร์ซในบ้านเรารวมทั้งในอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากแค่ไหน? ผมขอยกข้อมูลจาก Wall Street Journal ที่เค้ารวบรวมข้อมูลยอดขายตลาดค้าปลีกใน 6 ประเทศหลักในอาเซียน ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ยอดขายค้าปลีกของตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าเป็นกี่% ของยอดขายค้าปลีกที่ไม่ใช่ออนไลน์ (Ecommerce,% of retail)
http://blogs.wsj.com/digits/2014/07/10/southeast-asia-e-commerce-set-to-boom/
จากตารางจะเห็นได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ยอดขายของอีคอมเมิร์ซในอาเซียนในปี 2013 มีสัดส่วนเพียง 0.2% ของมูลค่าค้าปลีกเท่านั้น ถามว่าเยอะไหม? ให้ลองไปเทียบกับประเทศจีนที่มีมูลค่าตลาดมหาศาลดู จะเห็นว่าของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนมีสัดส่วนถึง 8% ของมูลค่าค้าปลีกแล้ว นั่นคือถ้ามองเทียบเคียงว่าประเทศจีนคืออนาคตของอาเซียน ตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนก็ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกอย่างน้อย 40 เท่า! ถ้าคุณไม่อยากตกขบวนรถไฟสายการค้าอิเล็คทรอนิกส์นี้ เราลองมาดูกันว่าอะไรคือกระแสที่มาแน่ๆของอีคอมเมิร์ซไทยและในประเทศอาเซียนในปี 2015
1. สงครามของตลาดกลางอีคอมเมิร์ซ
ตลาดกลางอีคอมเมิร์ซ หรือ B2C Online Market Place ผมขอเรียกย่อๆว่า OMP เป็นโมเดลธุรกิจที่เปิดให้ผู้สนใจขายสินค้าออนไลน์เข้ามาเปิดร้านค้าขายสินค้าออนไลน์ได้ง่ายๆ และสร้างเป็นตลาดกลางที่รวมสินค้าที่หลากหลายเอาไว้ให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกช้อปได้ OMP สองเจ้าดั้งเดิมของไทยคือ TARAD.com ที่ Rakuten เข้ามาเทคโอเวอร์ไป และ WeloveShopping ของกลุ่ม True แนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นคือ Lazada ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ที่แรกเริ่มรุกตลาดเข้ามาด้วยโมเดล B2C Retailer หรือผู้ค้าปลีกออนไลน์ รูปแบบโมเดลธุรกิจคือ Lazada ต้องสต็อคสินค้าคงคลังไว้เยอะ และเมื่อมีการสั่งซื้อก็จะจัดส่งได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่มาช่วง 1-2 ปีหลัง Lazada มีการปรับโมเดลมาเป็นตลาดกลางมากขึ้น นั่นคือจะไม่มีการสต็อคสินค้าไว้กับตัว ซึ่งดีกับเค้าเพราะเงินทุนไม่จมไปกับสต็อค สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น ชิงตัวร้านค้าแย่งกันไปมาของ OMP ในตลาดเพื่อเป็นตลาดกลางออนไลน์ในใจผู้ขาย โดยรวมมีผู้เล่นหลักที่แข่งกัน 3 เจ้า เมื่อเทียบกับตลาดที่อินโดนีเซียแล้ว จะมีการแข่งขันในตลาด OMP สูงกว่ามาก ไม่กี่ดือนที่ผ่านมา Tokopedia ซึ่งเป็น OMP เจ้าดั้งเดิมที่อินโดนีเซีย(ประมาณ TARAD บ้านเรา)ได้รับเงินทุนสนับสนุนอัดฉีดเข้าไปในธุรกิจสูงถึง 100ล้าน USD หรือประมาณ 9,600 ล้านบาท เกือบหมื่นล้าน ลองนึกภาพดูครับว่าตลาดมีโอกาสโตมากขนาดไหน และเมื่อไม่นานมานี้ Alibaba ก็เปิดเว็บ AliExpress ที่อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในอาเซียน เทรนด์ที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยแน่ๆคือ จะมี OMP จากต่างประเทศเข้ามารุกตลาดบ้านเราอีก ไม่ว่าจะจากเกาหลี (Qoo10), จีน(AliExpress), ยุโรป
2. โปรโมชั่นส่วนลดออนไลน์จัดเต็ม
เมื่อมีการแข่งขันในตลาดสูง แน่นอนว่าแต่ละเจ้าที่นำเงินเข้ามาลงทุนกันจำนวนมากนั้น ต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการเป็น NO.1 ในตลาดให้ได้ เพiาะฉะนั้น OMP แต่ละเจ้าก็จะต่างนำเสนอโปรโมชั่นส่วนลดมากมายให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของผู้บริโภคจริงจัง เพราะผู้บริโภคสามารถช้อปสินค้าออนไลน์ได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ไปซื้อในตลาดได้ แถมยังส่งฟรี เพราะตอนนี้ผู้เล่นแต่ละรายต่างๆพยายาม “ขายขาดทุน” เพื่อดึงให้เกิด “การซื้อออนไลน์ครั้งแรก” ของผู้บริโภคและชิงส่วนแบ่งการตลาดมาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด ช่วงนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีคูปองส่วนลดมากมาย เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สินค้าราคาดีๆมากมาย และยังเป็นโอกาสให้เว็บไซต์เปรียบเทียบราคา เช่น Priceza เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการผู้ใช้ ช่วยเปรียบเทียบราคาและโปรโมชั่นของสินค้าและนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุด ช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลาให้กับผู้ซื้อ
นอกจากนี้เราจะได้เห็นการร่วมกันของเหล่าร้านค้าออนไลน์ในการจัดงานลดราคาสินค้าพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น วันที่ 11 เดือน 11 หรือ 11/11 ที่เรียกว่า Singles Day ที่ดังมาจากเมืองจีนที่เว็บร้านค้าออนไลน์ในเครือ Alibaba สามารถทำยอดขายได้กระหน่ำในวันเดียว จากแนวโน้มนี้ก็จะเห็นว่าในอาเซียนเริ่มมีการรวมตัวกันของร้านค้าออนไลน์เพื่อลดราคาสินค้าพร้อมกัน เช่น Thailand Online Mega Sale และ Online Sale TH ที่เป็นการรวมตัวกันลดราคาสินค้าจากร้านค้าชั้นนำในไทยมากมาย และมีทั้งธนาคารและไปรษณีย์ไทยเข้ามาสนับสนุน ในอินโดนีเซีย ก็มีสมาคมอีคอมเมิร์ซ IDEA ที่รวมร้านค้ามาลดราคากันในช่วงวันที่ 12/12 เช่นเดียวกัน แนวโน้มนี้ยังคงมีต่อไปแน่นอนในปี 2015 เพราะเป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดการค้าออนไลน์เติบโตมากขึ้น กระตุ้นให้คนมาช้อปออนไลน์มากขึ้น
3. มันมาแล้ว ช้อปผ่านมือถือ (Mobile Commerce)
เวลานี้คือยุคทองของสมาร์ทโฟนจริงๆ ไม่ว่าจะกระแสของ iPhone6 หรือ Android จนตอนนี้สัดส่วนของผู้เข้ามาช้อปสินค้าที่เว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆจะมาจากสมาร์ทโฟนเกือบ 50% แล้ว นั่นคือในสองคนที่เข้ามาเลือกช็อป 1 คนเข้ามาจากสมาร์ทโฟน จนตอนนี้สิ่งที่คนในวงการอีคอมเมิร์ซคุยกันคือเราต้องมีมุมคิดแบบ “Mobile First” คือคิดจากคนที่จะเข้ามาช้อปจากมือถือก่อน และปรับตัวให้เว็บเป็นแบบ Responsive ได้แล้ว ปีหน้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้กันจริงจัง ถ้าวันนี้เว็บไซต์ร้านค้าคุณยังไม่สนับสนุนให้ผู้เข้าช้อปจากมือถือได้รับประสบการณ์ที่ดี วันนี้คุณช้าแล้ว แนะนำให้ปรับให้สนุนสนุนสมาร์ทโฟนทันทีครับ
อีกเทรนด์ที่สนับสนุน Mobile Commerce คือการจ่ายเงินผ่านมือถือ แนวโน้มที่สำคัญคือบริการแชทบนมือถือจะเริ่มให้บริการตัวช่วยในการชำระเงิน เช่น เร็วๆนี้ LINE เปิดตัวบริการ LINE Pay ที่ให้ผู้ใช้ใส่ข้อมูลบัตรเครดิตเข้าไปในระบบ เพื่อเวลาจะเข้าไปช้อปที่ร้านค้าใน LINE จะสามารถกดปุ่มเดียวช้อปได้เลย อำนวยความสะดวกให้ช้อปง่ายๆ ไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลบัตรเครดิตบ่อยๆ นอกจาก LINE ผู้เล่นยักษ์ใหญ่คือ Apple ที่ตอนนี้ธนาคารยักษ์ใหญ่ในอเมริกาต่างช่วยกันโปรโมท Apple Pay กันอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเห็นผู้คนใช้ iPhone ไปตื๊ดช้อปแฮมเบอร์เกอร์ รวมทั้งกดตื๊ดเดียวช้อปสินค้าออนไลน์ผ่าน iPhone กันได้ง่ายๆ
4. แบรนด์สินค้าชั้นนำต่างรุกเปิดช่องทางการช้อปออนไลน์กันเป็นขบวน
จากกระแสของอีคอมเมิร์ซที่บูมสุดๆทำให้แบรนด์ชั้นนำต่างๆหันมามองว่าช่องทางการขายออนไลน์จะเป็นอนาคตที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งที่แบรนด์จะสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เทรนด์นี้นำมาซึ่งบริษัทที่ให้บริการจัดส่งและบริหารคำสั่งซื้อออนไลน์ครบวงจร (Ecommerce Logistics & Fulfilment Company) เข้ามาเปิดตลาดหลายเจ้า ในไทย เช่น aCommerce และ SP-eCommerce ที่ SingPost (บริษัทไปรษณีย์ของประเทศสิงค์โปร์) เป็นเจ้าของ บริษัทเหล่านี้ต่างเข้าไปช่วยให้แบรนด์ต่างๆเข้ามาเปิดช่องทางการขายออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น เพราะเค้าเข้ามาช่วยบริการกระบวนการขายผ่านออนไลน์ให้เลยมั้งหมด ไม่ว่าจะทำเว็บไซต์ ทำการตลาด บริหารงบการลงสื่อโฆษณา บริหารคำสั่งซื้อ จัดส่งสินค้า และให้บริการหลังการขาย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้แบรนด์ใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกสามารถจัดส่งสินค้าข้ามประเทศมาให้ได้ แบรนด์ใหญ่ที่รุกมาเปิดช่องทางออนไลน์ในไทยแล้ว เช่น Adidas และแนวโน้มที่สำคัญคือปีหน้าจะมีแบรนด์ใหญ่ๆมาเปิดตัวอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น Uniqlo และ Levi โดยสรุปแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เพราะการซื้อตรงกับเจ้าของแบรนด์จะน่าเชื่อถือกว่าและการีนตีแน่นอนว่าได้ของแท้ 100%
สรุปแล้ว ปีหน้า 2015 เป็นอีกปีที่น่าจับตามองของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยและในประเทศอาเซียนเป็นอย่างมาก ใครยังไม่ลงตลาด ลองมองช่องทางออนไลน์เป็นอีกช่องทางที่ช่วยส่งเสริมยอดขายให้ธุรกิจคุณได้อย่างยั่งยืนในอนาคตกันครับ