โอกาสทองอีคอมเมิร์ซไทย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ผ่านไปอีกปีแล้วนะครับ สำหรับปี 2016 ซึ่งสำหรับตัวผมเองถือว่าปีที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แนวโน้มการแข่งขันบนโลกการค้าออนไลน์ในภูมิภาคนี้ จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2025 จากผลการวิจัยของ Google และ Temasek Group ชี้ให้เห็นว่า ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้านี้ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะแข่งขันกันอย่างเต็มรูปแบบ และตลาดจะโตขึ้นอีก 16 เท่า ถือเป็นอีกโอกาสทองของบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่จะกระโจนเข้ามามีบทบาทในโลกออนไลน์มากขึ้น และจะเกิดการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การค้าระหว่างผู้ประกอบการโดยตรงถึงลูกค้า หรือ Business to Consumer (B2C) ยังมีการคาดการณ์โดย Frost and Sullivan ถึงมูลค่าในตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 เป็น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 โดยมีอัตราการเติบโตที่ 17.1% ต่อปี จะว่ากันไปก็เหลืออีกไม่กี่ปีเองนะครับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตรงนี้ ผมมองว่าไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ แต่ผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้เช่นกัน

ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผมอยากจะแชร์เทรนด์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากเรื่อง B2C ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการในไทยได้เตรียมความพร้อมกันนะครับ ประการถัดมา ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยมีการขยายตัวมากขึ้น (จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ถึงร้อยละ 3.6 ถึง 4.9 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคระดับกลางและบน ซึ่งป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยี 4G ที่ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้สะดวกยิ่งขึ้น จากรายงานของ global web index ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2016 พบว่า นักช้อปออนไลน์ในไทยใช้สมาร์ทโฟนในการซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า 60% ในขณะที่ใช้ PC หรือ โน้ตบุ้ค 50% และยังมีผลการศึกษาจัดทำโดย มายด์แชร์ เอเยนซี่ กล่าวว่า พฤติกรรมคนไทยในปัจจุบันมีการเลือกซื้อสินค้าผ่านการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ไม่จำกัดเฉพาะสินค้าที่เป็นชิ้นเป็นอัน เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า แต่รวมถึงบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

Priceza device stats.jpg

แนวโน้มการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซจะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market) เดิมร้านค้าออนไลน์มีรูปแบบที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ที่รวมสินค้าทุกอย่างไว้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเป็น Mass Market ซึ่งมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความได้เปรียบ เพราะสามารถนำเสนอสินค้าได้หลากหลายกว่า มีกำลังผลิตมากกว่า ไม่ต้องสั่ง หรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าผู้ค้ารายย่อย แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการอื่นๆ ที่มีความจำเพาะเจาะจงมากกว่าเพียงแค่สินค้าที่ใช้ทั่วไป เช่น รองเท้าสุขภาพ เสื้อผ้าสำหรับเด็กเล็ก เสื้อผ้าสำหรับคนรูปร่างใหญ่ ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก หรือเพิ่มกล้ามเนื้อ เครื่องหนัง อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมองหาตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเลือกสินค้าที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าได้ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้า Mass Market แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเทียบเท่ากับกลุ่มอื่นๆ และหากสามารถทำการตลาดที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ จะสามารถสร้างยอดขายได้อีกมาก ทั้งนี้การตลาดแบบเฉพาะกลุ่มยังเป็นตลาดใหม่ ที่ยังไม่มีการแข่งขันสูง ทำให้มีโอกาสในการประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

ประการสุดท้ายซึ่งผมเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้ผู้ที่ไม่เคยซื้อสินค้าออนไลน์หันมาทดลองช้อปปิ้งผ่านเว็บไซต์ ได้แก่ คำบอกเล่าของเพื่อน และคนใกล้ชิด และตัวเลือกการชำระเงินที่ยืดหยุ่นกว่า โดยเฉพาะสำหรับแบรนด์หรือบริษัทที่มีบริการ cash on delivery ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถจ่ายเงินสดเมื่อสินค้านำส่งถึงบ้าน ซึ่งทำให้ลูกค้ารายใหม่ๆ รู้สึกมีความปลอดภัยในการช้อปปิ้งออนไลน์มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ หากเรามองลงไปให้ลึกก็จะพบกับโอกาสรวมทั้งความเสี่ยง ซึ่งสุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านเตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ ฝากไว้ตรงนี้ครับ…แล้วพบกันอีกนะครับ

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์

One thought on “โอกาสทองอีคอมเมิร์ซไทย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s