ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้จากเพื่อนๆพี่ๆที่พูดถึงกันมาก เลยอดไม่ได้ที่จะจัดมาอ่านซะหน่อย ปรากฎว่ามีหลายแนวคิดที่เชื่อมันอยู่แล้ว และอีกหลายแนวคิดที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจ จากแนวคิดของนักจิตวิทยาชื่อ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชาวออสเตรีย ผ่านมุมมองของนักปรัชญาชาวญี่ปุ่น คิชิมิ อิชิโร โดยมีโคะกะ ฟุมิทะเกะนักเขียนหนุ่มเป็นผู้เรียบเรียง จัดทำในรูปแบบการสนทนาถกเถียงกันในเชิงปรัชญา เพื่ออธิบายแนวคิดของ อัลเฟรด แอดเลอร์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการพัฒนาตนเอง” ให้ชัดเจนและปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตได้จริง
ผมขอสรุปแนวคิดย่อยเอาไว้เพื่อให้ผู้สนใจที่อยากจะ “ค้นพบตัวเอง” ได้ลองเอาไปคิดกันนะครับ
โดยภาพรวม ถ้าจะให้ผมสรุปใจความสำคัญสั้นๆของหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่ามันเป็นหนังสือที่ส่งเสริมให้เราเกิดความ “ความกล้า” ครับ กล่าวคือ
- กล้าที่จะไม่ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของใคร
- กล้าที่จะถูกเกลียด เพราะไม่ได้ทำตามความคาดหวังของเค้า
- กล้าที่จะมีความสุข ณ วินาทีนี้
1. อย่าเชื่อเรื่องแผลใจ
- หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ คือหลักจิตวิทยาแห่งความกล้า ความกล้าที่จะมีความสุข ณ วินาทีนี้
- ชีวิตของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ถูกกำหนดโดยความหมายที่ตัวเรามอบให้กับประสบกาณณ์ต่างหาก (หรือก็คือมุมมองของเราที่มีต่อประสบกาณณ์นั้นๆ)
- ไม่ได้สำคัญว่าชีวิตนี้คุณเกิดมาแล้วได้หรือไม่ได้อะไรมาบ้าง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวคุณว่าจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์อย่างไร
- คนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไลฟ์สไตล์ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ บางคนบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้ จริงๆเพราะเค้าตัดสินใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงต่างหาก
คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ แถมยังสามารถมีความสุขได้อีกด้วย
2. ความทุกข์ทั้งหมด ล้วนเกิดจากความสัมพันธ์
- การยอมรับ “ตัวตนที่เป็นอยู่”
- คนที่รู้สึกเกลียดตัวเองและมองเห็นแต่ข้อเสีย นั่นเป็นเพราะเค้ากลัวที่จะถูกคนอื่นเกลียด และกลัวจนเกินเหตุว่าตัวเองจะเจ็บปวดจากการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น
- ความทุกข์ทั้งหมดของมนุษย์ ล้วนเป็นความทุกข์เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น
- คนที่ชอบโอ้อวดคือคนที่รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย
ชีวิตคนเราไม่ใช่การแข่งขันกับคนอื่น เราไม่ต้องแข่งกับใคร แค่มุ่งที่จะไปข้างหน้าก็พอ เพื่อก้าวไปได้ไกลกว่าจุดที่เราอยู่ปัจจุบัน
- คนเราทุกคนล้วนแตกต่างกัน แต่ก็เท่าเทียมกัน
- หากในความสัมพันธ์มีการแข่งขัน มนุษย์เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความวิตกกังวล และไม่มีวันหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย เพราะว่าที่ปลายทางของเส้นชัย ย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ
- คนที่ไม่รู้สึกยินดีเวลาเห็นคนอื่นมีความสุข เพราะคนคนนั้นคิดว่าความสัมพันธ์กับคนอื่นคือการแข่งขัน ความสุขของคนอื่นจึงไม่ต่างกับ “ความพ่ายแพ้ของตัวเอง” คุณจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีไปด้วยได้
- ถ้าคุณรู้สึกอย่างแท้จริงว่า “เราทุกคนเป็นมิตรกันได้” วิธีมองโลกของคุณก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
- การยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง การกล่าวคำขอโทษ หรือการยอมถอนตัวเองจากการต่อสู้นั้นไม่ใช่ “ความพ่ายแพ้”
- มนุษย์เรามีเป้าหมายด้านพฤติกรรมและจิตใจที่ชัดเจน
- เป้าหมายด้านพฤติกรรมมี 2 อย่าง
- พึ่งพาตัวเองได้
- ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี
- เป้าหมายด้านจิตใจที่คอยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวมี 2 อย่าง
- รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ
- รู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตรของเรา
3. ตัดเรื่องของคนอื่นทิ้งไปเสีย
- มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำตามความคาดหวังของคนอื่น
- ในเมื่อคุณ “ไม่ต้องใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น” คนอื่นก็ “ไม่ต้องใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคุณ” เช่นกัน ดังนั้น หากคนอื่นไม่ทำตามที่เราคิด เราก็ไม่ควรไปโกรธ เพราะนั่นเป็นเรื่องธรรมดาครับ
- เราจำเป็นต้องแยกแยะว่าเรื่องแต่ละเรื่องเป็นธุระของใคร โดยการตั้งคำถามทุกครั้งว่า “นี่เป็นธุระของใคร”
- เกือบทุกปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์มักมีสาเหตุมาจากการที่เราเข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่น หรือคนอื่นมาก้าวก่ายธุระของเรา
- เราสามารถจูงม้าไปริมแม่น้ำได้ แต่เราไม่สามารถบังคับให้ม้ากินน้ำได้
- คนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราได้ มีแต่ตัวเราเท่านั้นครับ
- เวลาที่คุณรู้สึกว่าชีวิตมีความทุกข์ ก็ขอให้คุณรู้ไว้เลยว่ามันมาจากความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับบุคคลอื่น สิ่งที่คุณควรทำเป็นอันดับแรกคือต้องรู้จักขีดเส้นแบ่งว่า “เกินจากนี้ไปไม่ใช่ธุระของฉัน” แล้วก็ตัดธุระคนอื่นทิ้งไปให้หมด ให้คุณตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ตัวเองเชื่อว่าดีที่สุด คนอื่นจะตัดสินการเลือกของคุณอย่างไรนั้นก็เป็นธุระของเขา คนอื่นชอบหรือจะเกลียดเราก็เป็นธุรระของเรา ไม่ใช่กงการอะไรของเรา
- การใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความคาดหวังหรือฝากชีวิตของตัวเองไว้กับคนอื่น คือการโกหกตัวเองและคนรอบข้างไปวันๆเท่านั้นเอง
อิสรภาพคือการกล้าที่จะถูกคนอื่นเกลียด เพราะเราไม่ได้ทำตามความคาดหวังของเค้า
4. ศูนย์กลางของโลกอยู่ที่ตรงไหน
- การตัดสินใจว่าคุณจะกล้าที่จะถูกเกลียด ไม่ใช่เป็นการตัดความสัมพันธ์กับคนอื่น แท้จริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีด้วยซ้ำ
- ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคือตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดว่าเรามีความสัมพันธ์ที่เป็นสุขได้หรือไม่
- แอดเลอร์เรียกการให้ความช่วยเหลือบนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันว่า “การปลุกความกล้า”
เราต้องไม่มองว่าคนอื่นกำลัง “ทำอะไร” แต่ต้องมองให้ลึกไปถึง “ตัวตน” ของเขา เราควรยินดีที่เค้ามีตัวตนอยู่บนโลก และแสดงความขอบคุณต่อการมีตัวตนของเขา
5. ใช้ชีวิต ณ “วินาทีนี้” อย่างจริงจัง
- คนที่ตัดสินใจว่าจะหักหลังคุณหรือไม่นั้นไม่ใช่ตัวคุณ นั่นเป็นธุระของคนอื่น ธุระของคุณมีแค่ตัดสินใจว่า “จะเชื่อใจหรือไม่” เท่านั้น
- ถ้าคุณกลัวที่จะเชื่อใจคนอื่นแล้วล่ะก็ ในที่สุดคุณก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับใครไม่ได้เลย
- แก่นแท้ของการทำงานคือการช่วยเหลือผู้อื่น การทำงานช่วยให้เรารู้สึกว่า “ตัวเองมีประโยชน์กับใครสักคน” และยังทำให้เราสัมผัสถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อีกด้วย
ความสุขคือการรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือผู้อื่น
- ถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นจากใจจริง จะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะเราจะรู้สึกได้เองว่า “ฉันมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อใครสักคน” จึงไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมายอมรับเรา
- สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตเราคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ใน “วินาทีนี้”
- จงใช้ชีวิตให้เหมือนการเต้นรำที่เกิดขึ้นตามจังหวะเพลงไปเรื่อยๆ มีความสุขในการเต้นรำในแต่ละขณะในทุกวินาที โดยจุดเป้าหมายปลายทางของการเต้นรำไม่มีอยู่จริง นี่คือ “ชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวเอง”
- ลองเทียบกับการท่องเที่ยว เมื่อคุณได้ก้าวออกเดินทาง คุณก็ได้เริ่มท่องเที่ยวแล้ว ไม่สำคัญว่าคุณได้ไปถึงที่หมายเร็วแค่ไหน หรืออาจจะไปไม่ถึง ความสุขของการท่องเที่ยวได้เกิดขึ้นในทุกวินาทีที่คุณเดินทางท่องเที่ยวและสมบูรณ์ในตัวมันเองแล้ว
- หรือลองเทียบกับการไปพิชิตยอดเขาก็ได้ จุดมุ่งหมายของการปีนเขาไม่ใช่การไปให้ถึงยอดเขา แต่เป็นการได้ปีนเขา ก็เรียกได้ว่าการปีนเข้าเป็นกิจกรรมที่สมบูรณ์ในตัวเอง ไม่สำคัญว่าสุดท้ายแล้วเราจะไปได้ถึงยอดเขาหรือไม่ก็ตาม
- การคิดแบบนี้ คือการให้ความสำคัญกับ “วินาทีนี้” และใช้ชีวิตอยู่กับ “เรื่องที่ทำได้ในปัจจุบัน” ด้วย “ความุ่งมั่น”
- ขอแค่ไม่มองว่าชีวิตเป็นเหมือนเส้นชัย อย่าเอาแต่คอยดูว่าตัวเองเข้าใกล้เป้าหมายหรือยัง แค่ให้คิดว่าจะใช้ชีวิต ณ วินาทีนี้ ยังไงก็พอ
- สำหรับคนที่มองว่าชีวิตตัวเองไม่มีความหมาย เหตุเพราะว่าคุณหลงทาง และกำลังหาทางใช้ชีวิตที่มีอิสรภาพ ซึ่งก็คือชีวิตที่ไม่ต้องหวาดกลัวที่จะถูกคนอื่นเกลียด ไม่ต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น และกล้าที่จะเลือกเส้นทางของตัวเอง แอดเลอร์ได้มอง “ดวงดาวนำทาง” ซึ่งก็คือ “การช่วยเหลือคนอื่น” มันจะทำให้คุณไม่หลงทาง และมีอิสรภาพในการทำสิ่งที่คุณอยากทำ
- ถ้าเราใช้ “การช่วยเหลือคนอื่น” เป็นเครื่องมือนำทาง เราก็จะมีชีวิตที่มีความสุขและมีมิตรอยู่เสมอ
หลักจิตวิทยา Adler เป็นหลักการที่ให้คุณเป็นอิสระครับ
… เป็นอิสระจากความกลัว กลัวว่าจะถูกมองว่าดูไม่ดี (Not looking good)
ปล่อยให้คุณหลุดพ้นจากการทำให้ตัวเองต้อง “ดูดี” ในสายตาคนอื่นเสมอๆ
อย่าลืมครับว่า… เราเกิดมาเพื่อเป็นตัวเราเอง ไม่ได้เพื่อให้ดูดีในสายตาใคร
ใช่ค่ะหนูเกิดมาเพื่อสิ่งนี้แหละ
LikeLike