ค้าขายออนไลน์ผ่านมือถือ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

จากบทความที่แล้วนะครับ โอกาสทองอีคอมเมิร์ซไทย และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ผมได้เล่าถึงสถานการณ์ตลาด อีคอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเทรนด์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2017 ไปแล้ว พบว่ามีหลายสิ่งที่จะส่งผลต่อทั้งตัวผู้ประกอบการ และตัวผู้บริโภคเองในแง่มุมที่แตกต่างกันไป ซึ่งในบทความนี้ผมขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับ “การขยายตัวของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ” ขึ้นมาอธิบายเพิ่มเติมในบริบทต่างๆดังนี้ครับ

เมื่อ“มือถือ” เข้ามามีอิทธิพลในทุกสิ่ง หรือที่เรียกว่า “Mobile First”

ต้องยอมรับนะครับว่า ในทุกวันนี้มือถือเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่เราพกพาไปได้เกือบทุกที่ ทั้งยังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากมาย เช่น การใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ผ่านการรับสาย โทรออก ส่งข้อความ การใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆ การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ เรียกได้ว่ามือถือได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับตลาดในสหรัฐอเมริกา และจีนแล้ว ภูมิภาคของเรานั้นถือว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาแรง โดยเฉพาะในด้านจำนวนผู้ใช้งานมือถือนั้นภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนผู้ใช้มือถือที่สูงมาก จะเห็นได้จากผลสำรวจของ Global Digital Statistics ในปี 2015 ชี้ให้เห็นว่า ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้งานมือถือเฉลี่ย 119% โดยมีจำนวนการใช้งานมือถือมากกว่าทั่วโลกซึ่งมีจำนวนเพียง 98% และในจีน 95% นอกจากนั้นยังพบว่า ประชากรแต่ละคนในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีมือถืออย่างน้อย 1 เครื่อง และในประเทศไทยเองมีการใช้งานมือถือถึง 150% เป็นรองเพียงสิงคโปร์ที่มีการใช้งานมือถือ 152%

นอกจากนี้ ผมเองยังมีข้อมูลการใช้งานมือถือซึ่งอ้างอิงจากบทความก่อนหน้า โดยพบว่า ผู้ใช้งานเว็บไซต์ไพร์ซซ่าในประเทศไทยได้เข้ามาค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ใช้งานผ่านเดสก์ทอปมีจำนวนลดลง แนวโน้มการใช้งานมือถือในการค้นหาสินค้า และเปรียบเทียบราคาที่เพิ่มมากขึ้นตรงนี้บ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคในตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้น ซึ่งการเติบโตในตลาดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคด้วย ในแง่ของการแข่งขันด้านคุณภาพสินค้า บริการ และราคาในท้องตลาด โดยผู้บริโภคเองจะมีตัวเลือกที่ช่วยในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

Priceza mobile Data.jpg

ถึงเวลาที่ร้านค้าออนไลน์ต้องปรับตัวให้ทัน

ก่อนหน้านี้ตลาดอีคอมเมิร์ซเริ่มต้นด้วยการทำตลาดออนไลน์ในรูปแบบดอทคอม หรือการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โดยเน้นการใช้งานจากเดสก์ทอป แต่ด้วยแนวโน้มการใช้งานมือถือที่เพิ่มขึ้น ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จึงต้องปรับตัวให้รองรับกับความต้องการของผู้บริโภครวมถึงการปรับให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีการพัฒนาหน้าเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานผ่านมือถือ หรือที่เรียกว่า Responsive Web Design ก่อนที่จะขยายมาสู่รูปแบบของแอพพลิเคชั่นบนมือถือเช่นในปัจจุบัน นอกจากนั้น การพัฒนาในเรื่องของ UI (User Interface) หรือที่เรียกกันง่ายๆก็คือหน้าเว็บไซต์ครับ จะออกแบบหน้าเว็บไซต์อย่างไรให้สวยงาม ใช้งานง่าย การใช้ตัวอักษร เรื่องของสี เมนูต่างๆ ปุ่มกด และรูปแบบต่างๆในหน้าเว็บไซต์ ให้ตรงกับความต้องการรวมถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน หรือ UX (User Experience) เมื่อใช้งานเว็บไซต์แล้วเกิดความพึงพอใจและกลับเข้ามาใช้งานเว็บไซต์อีกหรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันเพื่อให้ร้านค้าออนไลน์สามารถขับเคลื่อนไปยังทิศทางที่ตรงใจผู้บริโภคเท่านั้น สำหรับสิ่งที่ผมอยากแนะนำเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซนั่นก็คือ สถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในอนาคตจะมีการแข่งขันสูงขึ้นทั้งในประเทศไทยเอง และภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีผู้เล่นทั้งรายใหญ่ รายย่อยเข้ามาบุกตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านแอพฯช็อปปิ้งต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีอยู่ให้แสดงผลได้ดีผ่านอุปกรณ์มือถือ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ และกลายมาเป็นลูกค้าของเราได้ในที่สุด ฝากไว้ตรงนี้ครับ….

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s