หลายท่านคงทราบกันมาบ้างแล้วนะครับ ถึงข้อมูลต่างๆที่บ่งชี้ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ ทั้งข้อมูลจากเว็บไซต์ SupplyChainAsia ที่มีรายงานผลการวิจัยจากหลายแหล่ง อาทิเช่น eMarketer ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2019 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยภูมิภาคที่เติบโตเยอะที่สุดในโลกคือแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีอัตราการเติบโตราว 35.2% ต่อปี เลยทีเดียว
สำหรับในไทยเองก็มีข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งได้ให้ข้อมูล มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2559 ที่มีโอกาสโตสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 2558 ถึง 12% ตัวเลขนี้เองครับ ที่ส่งให้ไทยขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ประเทศที่มีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซสูงที่สุดในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยครับ
การเติบโตของอีคอมเมิร์ซต่างผลักดันให้ร้านค้าออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์ต้องปรับตัว หากลยุทธ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดมูลค่ามหาศาล พร้อมทั้งเร่งสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้า ซึ่งถือว่า เป็นหน้าด่านสำคัญในการให้บริการลูกค้า หากลูกค้าไม่ประทับใจ ก็อาจหันไปใช้บริการร้านค้าออนไลน์อื่นๆ รวมถึงแสดงความคิดเห็นในด้านลบบนโลกโซเชียลฯอีกนะครับ ยังส่งผลเสียตามมาเป็นทอดๆอีกด้วยครับ เหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องคัดสรรการบริการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจโลจิสติกส์ต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยน และชูจุดเด่นเพื่อพร้อมรับการตลาดยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วย
จับตาสถานการณ์โลจิสติกส์ในไทย
Positioning ได้เปิดเผยการคาดการณ์ถึงสถานการณ์โลจิสติกส์ไทยอีก 3 ปีข้างหน้าว่า มีโอกาสจะเติบโตถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั้งไทยและเทศต่างตื่นตัว และมีการเปิดตัวบริษัทขนส่งใหม่ๆ มากมาย ผมขอยกเคสตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้ครับ
- ไปรษณีย์ไทย ยังคงเป็นผู้ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลจิสติกส์ โดยกำไรในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 โตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ถึง 6% และยังมีการพัฒนาแอพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า รวมถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถรับฝากและจัดส่งของล่วงหน้าได้อีกด้วยครับ
- เอสซีจี เองก็ลงมาเล่นตลาดโลจิสติกส์เช่นกัน โดยเปิดตัวธรุกิจใหม่อย่าง เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่มีการร่วมทุนกับ Yamato Asia โดยเน้นการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C คาดว่าจะขยายพื้นที่บริการครอบคลุมประเทศไทย ภายในปี 2018
- ดีเอชแอล ก็ได้หันมาทำโลจิสติกส์อย่างเต็มตัว หลังจากศูนย์กระจายสินค้า 40 กว่าแห่งได้ผลตอบรับดีเกินคาด จึงต่อยอดโดยใช้กลยุทธ์ขยายจุดรับกระจายสินค้าออกไปในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าผลตอบแทนจะเติบโตถึง 30-35% และผู้ประกอบการสามารถใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery – COD) ซึ่งมีบริการนำส่งเงินค่าสินค้าคืนผู้ขายเป็นประจำทุกวัน
- ลาล่ามูฟ แอพฯบริการขนส่งสินค้า และขนย้ายแบบออนดีมานด์ตลอด 24 ชั่วโมง ก็ยังขยายฐานลูกค้าในไทยเพิ่มขึ้นถึง 600% ในปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสไปที่กลุ่ม SMEs และลูกค้ารายย่อย เน้นความสะดวกต่อธุรกิจคนรุ่นใหม่ คำนวณอัตราค่าบริการโดยอัตโนมัติ โดยคิดค่าบริการพื้นฐานตามระยะทาง และมีรถบริการหลายประเภท
เลือก โลจิสติกส์ พาร์ทเนอร์ อย่างไรให้รุ่ง
เรียกได้ว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้าขั้นดุเดือด ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะจะได้มีตัวเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายนะครับ ตรงนี้ผมมีมุมมองในการเลือกใช้โลจิสติกส์พาร์ทเนอร์ เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจของทุกท่านให้ประสบความสำเร็จ ตามนี้เลยครับ
-
ความน่าเชื่อถือ
มองหาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เป็นที่มีความน่าเชื่อถือ เปิดตัวมาอย่างยาวนาน และมีระบบการขนส่งสินค้าที่ครบครัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าของตนเองมากที่สุด
-
ความเชี่ยวชาญ
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ดี ควรจะมีทักษะเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับธุรกิจของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น หากสินค้าที่ต้องการจะขนส่งไปนั้นเป็นเครื่องจักรกลหนัก ที่ต้องอาศัยความชำนาญ และทักษะเฉพาะในการขนย้าย บริษัทโลจิสติกส์ดังกล่าว จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เฉพาะทาง เพื่อช่วยกันวางแผน และเคลื่อนย้ายสินค้าให้ไปส่งถึงจุดหมายอย่างสมบูรณ์
-
ตัวเลือกด้านเทคโนโลยี
การที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ช่วยลดความผิดพลาดต่างๆได้ รวมไปถึงทำให้ง่าย และสะดวกต่อผู้ประกอบการในการทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
ต้นทุนและค่าใช้จ่าย
หากผู้ประกอบการมีต้นทุนในการจัดส่งสินค้าที่ต่ำ การเลือกบริการด้านโลจิสติกส์ก็ต้องมีความสอดคล้องกับต้นทุนทางธุรกิจหรือค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้วย ดังนั้น เราควรจัดการต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้มีความพอเหมาะ พอดี และเลือกพาร์ทเนอร์ให้เหมาะกับธุรกิจของเราด้วยครับ
-
ตัวเลือกการชำระเงิน
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ พาร์ทเนอร์ที่ดี ควรมีตัวเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น เครดิตการ์ด หรือ การชำระเงินปลายทาง เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกหลากหลาย เกิดความพึงพอใจ และยังส่งผลด้านบวกให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วยครับ
อีกไม่นาน เราอาจจะได้พบกับนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยให้การขนส่งง่าย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น แน่นอนครับ มันจะยิ่งช่วยผู้ประกอบการยุคดิจิตอลให้มีตัวเลือกมากขึ้น และสามารถพัฒนาธุรกิจได้ก้าวไกล ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ผมมองเห็นก็คือ
ธุรกิจการขนส่งที่มีการแข่งขันกันดุเดือดอยู่ในเวลานี้ สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกถึงการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยได้ชัดเจนเลยทีเดียว ใกล้เข้ามาแล้วนะครับกับยุคทองอีคอมเมิร์ซ อย่ารอช้า มาเริ่มกันเลยครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
One thought on “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเดือด ดันโลจิสติกส์บูม ทางเลือกด้านการขนส่งของผู้ประกอบการ”