Jack Ma ก่อตั้ง Alibaba ขึ้นในปี 1999 ด้วยพนักงาน 18 คน ในอพาร์ตเมนท์ที่หางโจว เป็นธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตในจีนกับลูกค้าต่างชาติ ตลอด 20 ปีนับตั้งแต่นั้นมา Alibaba ต้องก้าวผ่านช่วงเวลาที่ดีและร้าย ทั้งช่วงขยายบริษัท, ทั้งการปลดพนักงานในยุค dot-com bubble ทั้งการถูกปฏิเสธจากการขอเงินลงทุน ร่วม 30 ครั้งก่อนที่สุดท้ายจะลงเอยกับ SoftBank Holding Company จากญี่ปุ่น จนมาถึงวันนี้ที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาณาจักรอีคอมเมิร์ซ โดยล่าสุด (10 ตุลาคม 2560) มูลค่าตลาดของ Alibaba อยู่ที่ 4.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นมูลค่าตลาดสูงสุดในโลกขึ้นนำ Amazon หมายเลขหนึ่งจากอเมริกา ไปเรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่า ความสำเร็จของ Alibaba ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ The Alibaba Way โดย Dr. Ying Lowrey และขอสรุปเทคนิคความสำเร็จของ Alibaba ไว้ดังนี้ครับ
Embrace Change – ตอบรับความเปลี่ยนแปลง
“รีบอุดรูรั่วบนหลังคาก่อนเข้าหน้าฝน” Alibaba ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลก และมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต อย่างครั้งที่ eBay เริ่มเข้าสู่ตลาด C2C ในประเทศจีน ภายใต้เว็บไซต์ EachNet.com ซึ่งในขณะนั้น Alibaba เอง ก็ยังคงโฟกัสธุรกิจเกี่ยวกับการช่วยธุรกิจ SME ทำการค้าบนโลกออนไลน์ และยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งๆที่ธุรกิจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ Jack Ma กลับเห็นว่า EachNet จะบุกตลาดจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมีผลต่อ Alibaba ในที่สุด
เขาจึงตัดสินใจตั้งทีมเล็กๆ เพื่อสร้าง Taobao ให้เป็น Marketplace แห่งใหม่ ด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้ EachNet มาแย่งลูกค้า แต่กลับกลายเป็นว่า Taobao สามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของ C2C ในตลาดจีนได้ภายในสองปี และด้วยความพยายามที่จะตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ล่าสุด Alibaba ลงทุนอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อทำวิจัยและพัฒนา ในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ภายใต้ชื่อโปรเจคว่า Academy for Discovery, Adventure, Momentum and Outlook (DAMO Academy) ซึ่งเป็นการตั้งห้องแล็ป 7 แห่งในจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อิสราเอล และสิงคโปร์ เพื่อทำวิจัยด้าน
- Data Intelligence
- Internet of Things (IoT)
- Financial Technology
- Quantum Computing
- Human-Machine Interaction
ที่รวมถึง Machine Learning และ Natural Language Processing ด้วย ซึ่งการลงทุนครั้งนี้นับเป็นจำนวนที่มากขึ้นกว่าสองเท่าของค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเสียอีก เรียกได้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีตัวไหนจะมา Alibaba ก็เอาอยู่ได้ทุกตัวแน่นอนครับ
ความพิเศษของการวิจัยและพัฒนาที่ Alibaba คือ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยี แต่ยังครอบคลุมการวิจัยในมุมกว้างอย่างแนวโน้มเศรษฐกิจ และเทรนด์โลก เพื่อที่ Alibaba จะใช้วางแผนในการสร้างระบบสำหรับธุรกิจยุคใหม่บนโลกออนไลน์ต่อไปอีกด้วย
Think Different – คิดให้ต่าง
เมื่อครั้งที่ได้ไปฟังสัมมนา และได้เห็นความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอเมริกา Jack Ma จึงมีความคิดที่จะสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนบ้าง แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับโครงสร้างทางธุรกิจในประเทศจีน เนื่องจาก อีคอมเมิร์ซในอเมริกาเป็นการทำธุรกิจสำหรับบริษัทใหญ่ๆ ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจในประเทศจีนส่วนมากจะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆเท่านั้น หรืออาจจะเรียกได้ว่าในระดับรากหญ้าด้วยซ้ำ ด้วยแนวคิดนี้เอง Alibaba จึงเน้นทุกวิถีทางที่จะสนับสนุน “รากหญ้า” ขึ้นเป็น “ผู้ประกอบการ” ให้ได้ เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในจีน
อีกหนึ่งตัวอย่างความคิดต่างที่น่าสนใจ คือ โมเดลธุรกิจ ในขณะที่อีคอมเมิร์ซอย่าง eBay วางตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลาง และสร้างรายได้จากการเก็บค่าสมาชิก และค่าคอมมิชชั่น แต่ Alibaba กลับตั้ง Taobao ให้เป็น Free Market ที่ผู้ซื้อ ผู้ขายติดต่อกันได้โดยตรง ไม่มีการเก็บค่าสมาชิก หรือค่าลงสินค้า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้
ทั้งยังมีฟีเจอร์สนับสนุนการขายอย่าง Instant Messaging อีกด้วย ซึ่งโมเดลธุรกิจที่เหมือนจะไม่สร้างรายได้แบบนี้ ช่างท้าทายความเชื่อเดิมๆในการทำธุรกิจแบบตะวันตกอย่างมาก ทั้งนี้ รายได้ของ Taobao มาจากการให้บริการด้านการทำการตลาด เช่น การทำโฆษณา Keyword Bidding และการสนับสนุนด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ให้บริการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าจาก Big Data
Ecosystem – สร้างระบบนิเวศ
จาก Mission ของบริษัทที่ว่า “To make it easy to do business anywhere” สะท้อนสู่การสร้างระบบนิเวศของ Alibaba นับตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับลูกค้าชาวจีนอย่าง
- Taobao
- Tmall สำหรับการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม
- การซื้อขายแบบค้าส่งบน 1688.com
- ร้านค้าขายปลีก AliExpress สำหรับลูกค้าต่างชาติ
- จนถึง ธุรกิจ B2B บน Alibaba.com
ซึ่งไม่เพียงแค่ระบบการซื้อขายเท่านั้น Alibaba ยังสร้างระบบสำหรับการเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลบน Alibaba Cloud เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้า และใช้ในการสร้าง ตรรกะในการแนะนำสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ในส่วนของระบบปฏิบัติการของ Alibaba ใช้เทคโนโลยีเพื่อเติมในส่วนที่ขาด เช่น เพื่อแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือด้านการชำระเงินจึงสร้างระบบ Alipay ขึ้นเพื่อเป็นผู้รับประกันการทำธุรกรรม ในด้านระบบขนส่ง ก็ได้ร่วมมือกับ China Smart Logistic (Cainiao) เพื่อสร้างระบบที่ครอบคลุมการจัดส่งทั่วประเทศ
ไม่เพียงแค่การทำแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจดังที่กล่าวมาเท่านั้น Alibaba ยังสนับสนุนตัวผู้ประกอบการ ด้วยการจัดตั้ง Taobao University (Tao-U) จัดอบรมการทำธุรกิจให้ตั้งแต่พื้นฐานการใช้งานระบบ ไปจนถึงการพาไปเยี่ยมชมธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอีคอมเมิร์ซ ให้บริการการทำการตลาดด้วย Alimama หรือแม้แต่การออกเงินให้กู้ ผ่าน Ali Finance เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจรายย่อย
ด้วยการเตรียมรับมือกับอนาคต การวางระบบ และการให้บริการครบวงจรขนาดนี้ ผมไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม Alibaba จึงกล้าประกาศเป้าหมายว่าบริษัทจะคงอยู่ได้มากกว่า 102 ปี ผมหวังจะเห็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยมีความมุ่งมั่น และเป้าหมายที่ยั่งยืนแบบนี้ ซึ่งผม และ ไพรซ์ซ่า เองก็ปรารถนาที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้มีความเป็นธรรม และโปร่งใส เพื่อให้อีคอมเมิร์ซเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศในอนาคตครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์