หลายท่านที่ใช้เฟซบุ๊กคงจะเริ่มผ่านหูผ่านตากันบ้างแล้วกับไอคอนรูปหน้าร้านที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับรองรับบริการใหม่ที่ชื่อ Marketplace โดยเจ้า Marketplace นี้ทำหน้าที่เป็นตลาดสำหรับอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยกัน เป็นการเพิ่มช่องทางซื้อขายนอกเหนือไปจากการลงประกาศขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กเพจ หรือผ่านหน้าฟีดของตนเองมาเป็นเวลานาน
ที่มาที่ไป
เฟซบุ๊กประกาศเปิดตัว Marketplace ในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 24 ในโลก ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นเพราะจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศ ร่วมกับความนิยมในการชอปปิ้งออนไลน์ของคนไทย รายงานของ PWC ระบุว่า ในปี 2016 ประเทศไทยเป็นตลาด C2C ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ 51% ของกลุ่มตัวอย่าง ให้ข้อมูลว่ามีการซื้อสินค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในขณะที่มีข้อมูลจาก Lexicon รายงานว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้เฟซบุ๊ก 46 ล้านคน นับเป็นจำนวน 2% ของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ใช้งานในเขตกรุงเทพจำนวน 30 ล้านคน ตามด้วย เชียงใหม่ 1.3 ล้านคน ขอนแก่น 750,000 คน และหาดใหญ่ 590,000 คน เรียกว่าใช้งานเฟซบุ๊กกันทุกภาคในประเทศเลยครับ
ที่มา: LEXICON
Facebook Marketplace คืออะไร
ในช่วงแรกนี้ Facebook Marketplace ถูกวางให้เป็นตลาดสำหรับการซื้อขายสำหรับผู้บริโภครายย่อย (C2C) ภายในประเทศ ด้วยแนวคิดที่ว่าใครๆ ก็ขายของได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ขายสามารถลงขายสินค้าได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ใส่รูป ระบุรายละเอียดสินค้า กำหนดราคา และลงประกาศ ในฝั่งของผู้ซื้อ ก็สามารถเลือกดูสินค้าตามประเภท เช่น กลุ่มบ้านและสวน บันเทิง เสื้อผ้า อิเลคทรอนิกส์ งานอดิเรก รวมทั้งสามารถกำหนดตำแหน่งพิกัดของผู้ขายสินค้าในการแสดงผลได้ เช่น สินค้าที่มีผู้ขายอยู่ในรัศมี 60 กิโลเมตรจากจุดที่ใช้งานอยู่ นอกจากนี้ Facebook ยังแสดงรายการสินค้าโดยดูจากประวัติการเลือกชมสินค้าของเราบนเฟซบุ๊กอีกด้วย โดยหลังจากที่เลือกสินค้าที่สนใจแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายจะติดต่อกันโดยตรงผ่าน Facebook Messenger เพื่อทำการตกลงราคา วิธีการจัดส่ง รวมถึงช่องทางในการชำระเงินที่จะต้องตกลงกันเอง ทั้งนี้ เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาระบบที่ชื่อว่า Qwik ร่วมกับบริษัท 2C2P เพื่อเปิดช่องทางให้ชำระเงินได้ทางบัตรเครดิต บัตรเดบิต และโอนเงินผ่านในระบบของ Facebook เองได้ในอนาคต
ที่มา: Facebook newsroom
ช่องว่างในระบบ
เพราะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นแพลตฟอร์มในการซื้อขาย จุดเด่นของ Facebook Marketplace จึงอยู่ที่ ความสามารถในการตรวจสอบตัวตนผู้ซื้อและผู้ขาย โดยดูจาก Public Profile ใน Facebook เราสามารถดูได้ว่า ผู้ซื้อหรือผู้ขายนั้นมีเพื่อนร่วมกันกับเราหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Facebook Marketplace เองก็เป็นเพียงคนกลาง ซึ่งตัวระบบยังไม่ได้มีการควบคุมคอนเทนต์ หรือคุณภาพสินค้า มีเพียงการอนุญาตให้กดรายงานเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นช่องว่างให้มีสินค้าผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสมเข้าสู่ตลาดได้ รวมถึงการที่ยังไม่มีระบบ Customer Review ทำให้ผู้ซื้อขาดข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจ และอาจจะขาดความมั่นใจในการซื้อสินค้าอีกด้วย โดยในส่วนของการชำระเงินที่ยังคงต้องพึ่งพาช่องทางแบบเดิมๆ ที่คุยกันผ่านกล่องข้อความ และส่งเลขที่บัญชีสำหรับการโอนเงิน หรือจ่ายเงินเมื่อรับสินค้านั้น ทำให้การเก็บภาษีเข้ารัฐคงน่าจะยังเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากอยู่เช่นเดิม
ที่มา: Facebook newsroom
ผลกระทบกับอีคอมเมิร์ซในประเทศ
การเปิดตัวของ Facebook Marketplace นับว่าสร้างแรงกระตุ้นให้กับวงการอีคอมเมิร์ซในประเทศที่จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตัวเองไว้ให้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจ C2C รวมไปถึงตลาดเฉพาะทางที่ซื้อขายงานแฮนด์เมด หรือ ที่เปิดให้ประมูลสินค้า เพราะ Facebook Marketplace เปิดกว้างสำหรับทุกประเภทสินค้า และไม่จำกัดรูปแบบในการขาย ตราบใดที่ผู้ซื้อ ผู้ขายสามารถใช้ Messenger ในการสื่อสารได้
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ขณะนี้ Facebook Marketplace ยังเปิดให้เป็นการซื้อขายระหว่างผู้ใช้รายย่อยเท่านั้น แต่ก็ไม่แน่ว่าอนาคตเฟซบุ๊ก อาจจะเปิดให้ธุรกิจใหญ่เข้ามาลงขายสินค้าก็เป็นไปได้ ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในวงกว้างมากขึ้น
ถึงแม้ในช่วงแรกนี้ฟีเจอร์ที่ปล่อยออกมายังไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่ผมคิดว่า ด้วยความที่ Facebook มีทั้งฐานผู้ใช้ และเทคโนโลยีอยู่ในมือ ทำให้น่าจะมีฟีเจอร์เด็ดๆสำหรับ Marketplace ตามมาอีกแน่นอน ส่วนที่ว่า Marketplace จะได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากแค่ไหน ผมว่า น่าจะต้องขึ้นอยู่กับ ความครบถ้วนของกระบวนการซื้อขายที่ระบบจะมีให้ รวมถึงความสามารถในการสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดออนไลน์ ซึ่งคงจะต้องรอดูกันต่อไปครับว่า เฟซบุ๊ก จะทำให้ “ถูกใจ” ได้แค่ไหน
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์