เมื่อพูดถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การมีหน้าร้านบนโลกออนไลน์ย่อมเป็นสิ่งแรกๆที่ทุกคนนึกถึง แต่นอกจากหน้าร้านแล้ว การมีระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพย่อมเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กันในการสร้างประสบการณ์การซื้อที่ดีให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ความเสถียรของระบบ ความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูล หรือความน่าเชื่อถือ ล้วนมีส่วนช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำทั้งสิ้น
เราลองมาทำความรู้จักกับรูปแบบอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปัจจุบันกันครับ
รูปแบบอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย
- Business to Business หรือ B2B การค้าขายสินค้าระหว่างธุรกิจสู่ธุรกิจ เช่น ออฟฟิศเมต
- Business to Consumer หรือ B2C การค้าขายสินค้าระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค เช่น เซ็นทรัลออนไลน์
- Consumer to Consumer หรือ C2C การค้าขายสินค้าระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง เช่น ขายดี หรือตามโซเชียลมีเดียต่างๆ
- Business to Business to Consumer หรือ B2B2C เป็นช่องทางที่เชื่อมระหว่าง B2B และ B2C เข้าด้วยกัน เช่น ลาซาด้า หรือมาร์เก็ตเพลสต่างๆ
- Direct to Consumer หรือ Brand.com กลุ่มแบรนด์ที่หันมาขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคเอง เช่น Estée Lauder อาดิดาส เป็นต้น
ในปัจจุบัน มีตัวช่วยในการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชมากมายในท้องตลาด ซึ่งต่างก็มีข้อเด่น และข้อด้อยต่างกัน และมีความเหมาะสมกับธุรกิจต่างประเภทกันไป หากจะพิจารณาเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชก็ควรจะคำนึงถึงข้อมูลเบื้องต้นดังต่อไปนี้
รูปแบบของหน้าเว็บไซต์
ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการทำเว็บอาจจะเลือกแพลตฟอร์มที่มีหน้าร้านสำเร็จรูป จัดตั้งได้รวดเร็ว เน้นการลงสินค้าขายได้ง่ายๆ แต่สำหรับบางธุรกิจที่เน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์ การออกแบบหน้าเว็บนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของเว็บไซต์ได้จะมีความเหมาะสมกว่า
ระบบการเชื่อมต่อ
การเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเชื่อมกับ อินสตาแกรม เฟสบุ๊ค เพื่อทำการตลาด หรือทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการขายตามความต้องการของธุรกิจ
การเชื่อมต่อกับระบบเดิมของธุรกิจเอง บางธุรกิจที่มีระบบหลังบ้าน เช่น ระบบสต๊อกสินค้าเป็นของตัวเอง การเลือกใช้แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบเดิมได้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การที่ต้องย้ายระบบเดิมเข้าสู่ระบบใหม่
ช่องทางการชำระเงิน
ระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัย และรองรับการชำระเงินในรูปแบบมาตรฐานที่มีในตลาด ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของอีคอมเมิร์ซ
ทีมสนับสนุน
การใช้งาน และการสนับสนุนการดูแลระบบ ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีทีม IT คอยดูแลระบบ อาจให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มที่มีทีมคอยสนับสนุนกรณีเกิดปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง
งบประมาณ และเวลา
ค่าใช้จ่าย และเวลาในการจัดตั้งระบบ การเลือกใช้ระบบที่มีความซับซ้อน ย่อมใช้แรงงาน การลงทุนและเวลาในการจัดตั้งนาน ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กในระยะเริ่ม ที่ต้องการความรวดเร็วเพื่อเริ่มขายสินค้า ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะเลือกแพลตฟอร์มใด ควรเริ่มจากความต้องการ และความพร้อมทั้งในด้าน IT และงบประมาณของตัวธุรกิจเอง และควรจะมีความเข้าใจในการทำงานของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชนั้นๆ ในเบื้องต้น เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่า เหมาะสมกับรูปแบบอีคอมเมิร์ชที่เราต้องการหรือไม่
Omnichannel เพื่อพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
เมื่อเรารู้แล้วว่าเราเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซรูปแบบใด และควรเลือกแพลตฟอร์มใดให้เหมาะสมกับธุรกิจให้มากที่สุดแล้ว จะเห็นได้ว่าหลายๆธุรกิจมักจะใช้แพลตฟอร์มหลากประเภทในการสื่อสารและกระตุ้นการขายไปยังผู้บริโภค อย่างในปัจจุบันที่แบรนด์ลงมาขายเองมีทั้งหน้าร้านและเว็บไซต์ของตัวเอง แล้วยังไปขายต่อเป็นร้านค้าทางการในมาร์เก็ตเพลสอีกด้วย บางรายเพิ่มแอพพลิเคชั่นเข้ามาเพื่อความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมมีช่องทางโซเชียลมีเดียไว้สื่อสารไปยังผู้บริโภคอย่างครอบคลุม
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าคุณจะมีช่องทางการขาย หรือการสื่อสารอะไรก็ตาม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขอให้ข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกัน และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วการเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของธุรกิจเรา นอกจากจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นแล้ว ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจมีเวลามากขึ้นสำหรับการพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในความสำเร็จของธุรกิจได้อีกด้วย
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์