ข่าวคราวอีคอมเมิร์ซเมื่อไม่นานมานี้ ว่าด้วยเรื่อง Lazada ที่ตัดสินใจไม่เก็บค่าคอมฯสำหรับผู้ขายในทุกประเภทสินค้า จากเดิมที่ต้องถูกหักค่าคอมมิชชัน 4-12 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับหมวดหมู่การขาย ซึ่งเป็นการดีสำหรับผู้ขายที่สามารถมีช่องทางขายฟรี และช่วยลดต้นทุนในการขายอีกต่างหาก
เท้าความถึง Lazada
แรกเริ่มเดิมทีมี Rocket Internet เป็น Venture Builder หรือบริษัทปั้น Startup เอาไว้ขาย และเป็นบริษัทที่ก่อตั้ง Lazada นั่นเอง Lazada เปิดในไทยและในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2012 เดิมทีผมเคยอ่าน Investment Deck ของเค้า แผนของเค้าคือต้องการจะทำให้ Lazada มีกำไร หรือเกิด Breakeven ภายในประมาณ 5 ปี คือภายในปี 2017 อันนี้คือสิ่งที่เค้าบอกนักลงทุนในช่วงแรกๆ
ช่วงแรกที่เปิดตัวลงทุนสูงมากทั้งลดแลกแจกแถม ผลปรากฎว่าพอดำเนินธุรกิจไปธุรกิจก็เติบโตได้ดี แต่โอกาสทำกำไรนั้นยังริบหรี่ และดูท่าทียังไม่สามารถทำกำไรได้ตามแผน นักลงทุนเริ่มกังวลและชะลอการปั๊มเงินเข้าไปใน Lazada เพิ่มในช่วงนั้น และธุรกิจเริ่มมีความเสี่ยง ในที่สุด Rocket Internet จึงขาย Lazada ให้กับ Alibaba ในปี 2016 คือถ้าไม่ขายตอนนั้น เงินสดมีโอกาสหมดได้ ตัดภาพมาปี 2018 ในวันที่ Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada เต็มตัว และ Jack Ma ประกาศก้องว่า Alibaba จะเป็นธุรกิจที่มีอายุมากถึง 102 ปี หมายถึง เขาลงทุนกับ Lazada โดยมองเป้าระยะยาว และเขามีเงินอัดเข้ามาได้เรื่อยๆจากธุรกิจที่ทำผลกำไรให้ในประเทศจีน
ปรับค่าคอมมิชชั่นร้านค้าเป็น 0% เพื่ออะไร
หมากนี้คือ เค้าอยากชนะในสงคราม ด้วยการสร้างฐานร้านค้าให้มากๆก่อน หลังจากนั้นค่อยหาทางทำเงิน ซึ่งรอได้ยาวๆเป็น 10 ปี
- สำหรับร้านค้า
ได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะไม่ว่าจะไปลงขายกับ Shopee หรือ Lazada ก็ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นแล้ว ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะ Lazada จะสามารถขยายร้านค้าได้ในวงกว้างมากขึ้น เดิมมีร้านค้าบางกลุ่มไม่ขายที่ Lazada เพราะหักค่าคอมฯสูงเกินกว่าที่เค้ามีกำไร สุดท้ายร้านค้ารายย่อยจะทยอยมาเปิดที่ Lazada มากขึ้น
- การแข่งขัน E-Marketplace ในไทย
ตลาดนี้แทบจะแบ่งแยกไปเลยว่ารายใหญ่เท่านั้นถึงจะกล้ามาแข่งกับ Lazada, Shopee และ JD การแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ใครอ่อนแออาจพ่ายแพ้ไปได้ ใครเงินหมดก่อนก็อาจต้องยกธงขาว ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ดีกับผู้บริโภคในการมีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น
ถึงแม้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทย จะไม่มีผู้เล่นที่เป็น Multi-Category E-Marketplace สัญชาติไทย มาสักพักแล้ว และจะเป็นแบบนี้ต่อไป ใครอยากเข้ามาแข่งในตลาดนี้จะต้องเตรียมเงินไว้ อย่างต่ำ 1 หมื่นล้านบาท
ผู้ประกอบการเองก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะครับว่าจะได้ค่าคอมฯ 0% ในระยะยาว ควรมองช่องทางการขายให้หลากหลายช่อง ทั้งโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ของตัวเองที่เราสามารถบริหารจัดการพูดคุยโดยตรงกับลูกค้าได้ และเน้นเรื่องการสร้างฐานข้อมูลลูกค้าของตัวเอง เพื่อต่อยอดการขาย และกระตุ้นการซื้อซ้ำได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องพึ่งพา E-Marketplace หรือช่องทางอื่นๆมากนัก เพราะในโลกธุรกิจไม่มีอะไรแน่นอน หากยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเข้าถึงหัวใจลูกค้า ให้ลูกค้าคิดถึงเราและกลับมาซื้อซ้ำๆได้ ตรงนี้ดูจะยั่งยืนกว่าการฝากขายสินค้าผ่านตัวกลางเพียงอย่างเดียวครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์