เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 62 ผมได้รับเชิญไปพูดในเวที K SME Good to Great และได้มีโอกาสร่วมฟังพี่หมู วรวุฒิ อุ่นใจ ในเวทีถามตอบเรื่องค้าปลีกยุคใหม่
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และจดทันทีในตอนที่ฟัง ไม่ใช่เรื่องการค้าปลีก แต่กลับเป็นเรื่อง “หลักการบริหารคน” ที่สร้างแรงกระทบกระเทือนให้ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างมาก
พี่หมู เป็นตัวอย่างของนักสู้ผู้ประกอบการของผมท่านหนึ่ง พี่หมูไม่เคยได้ออกไปทำงานบริษัทอื่นๆ หรือเป็นลูกจ้างใครมาก่อน เพราะหลังจากเรียนจบก็ต้องมาช่วยกิจการธุรกิจขายเครื่องเขียนของที่บ้านทันที เพราะฉะนั้น อาจารย์ของพี่หมู คือการเรียนในมหาวิทยาลัย คุณครู และตำรา MBA ต่างๆ
นั่นไม่ได้เป็นปัญหาเลยสำหรับพี่หมูเลย พี่เค้าใช้โอกาสนี้ให้เป็นโอกาสด้วยซ้ำ ด้วยการนำเอาความรู้ที่ได้ มา “คิดต่อยอด” และเอาไปลงมือทำ ซึ่งนั่นดีกว่าการเรียนวิชาการแล้วเอาไปทำข้อสอบเป็นอย่างมาก
พี่หมูแชร์ว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องบริหารคนเป็น เพราะคนถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการบริหารค้าปลีก ธุรกิจมีการสร้าง Process หรือกระบวนการขึ้นมาได้ แต่ยังไงก็ตาม คนยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการเดินและพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง
พี่หมูยึดหลักการ พรหมวิหาร 4 ในการปกครองคน
ผมขอคัดลอกคำอธิบาย พรหมวิหาร 4 มาจาก wikipedia ดังนี้ครับ
พรหมวิหาร 4 (four sublime states of buddhism) หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ผู้ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่
- เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
- กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
- มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
- อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน
พี่หมู ใช้หลักการ พรหมวิหาร 4 ในการบริหารคนดังนี้

เมตตา (Contemplations on Love)
- คุณหวังดีกับพนักงานรึเปล่าล่ะ? พี่หมูถาม อันนี้คือจุดเริ่มต้นของการบริหารคนเลย คุณต้องมีจิตใจดีหวังดี อยากให้พนักงานเติบโตประสบความสำเร็จโดยแท้จริง ไม่เสแสร้ง
- เท่านั้นยังไม่พอ คุณต้องทำให้พนักงานรู้ด้วยว่าบริษัทรักคุณ เช่น เมื่อบริษัทมีกำไร คุณต้องทำให้คุณภาพชีวิตพนักงานดีขึ้น ไม่ต้องรอให้เค้าเรียกร้อง ให้คุณลงมือทำเลย แสดงออกให้เค้าเห็น
กรุณา (Compassion)
- เมื่อพนักงานประสบปัญหา คุณลงไปช่วยหรือเปล่าล่ะ? การทำงานร่วมกันต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
- เมื่อพนักงานเจออุปสรรค คุณช่วยเป็นโค้ช/ที่ปรึกษาแก้ปัญหาให้กับพนักงานมั้ย?
มุทิตา (Sympathetic Joy)
- เมื่อพนักงานประสบความสำเร็จ คุณได้ยินดีกับพนักงานไหม? คุณได้เคยกล่าวชื่นชมพนักงานคุณบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กๆน้อยๆก็ตาม นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงาน
อุเบกขา (Equanimity)
- สุดท้าย เมื่อเราทำทั้ง 3 ข้อแล้ว แต่มีพนักงานที่ไม่ประสงค์ดีหรือไม่รู้บุญคุณ ก็ขอให้คุณตั้งอุเบกขา ปล่อยวาง อย่าเอาไปคิดเคียดแค้นว่าเราทำดีขนาดนี้แล้ว แต่เค้าก็ยังลาออกไป ให้ทุนการศึกษาไปจนเรียนจบปริญญาโท แล้วก็ลาออกทันทีเมื่อเรียนจบ แบบนี้ทำได้เหรอ!
- ขอให้คุณปล่อยวาง ตั้งอุเบกขา ว่าคนเราก็มีหลายแบบ เค้าเป็นคนที่ไม่เหมาะที่เราจะให้ใจไปตั้งแต่แรก เราดูผิดคนไป
- แต่พนักงานคนอื่นๆที่ดีๆให้ใจเรามีเยอะแยะไป ขอให้คุณทำต่อไปครับ
เมื่อตอนมัธยม วิชาพระพุทธศาสนา เป็นหนึ่งในวิชาที่ผมไม่ค่อยจะชอบเรียน เพราะไม่สามารถเอามาผกกับตัวเองได้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร
ผมอยากให้การเรียนการสอนของไทย มีการเชื่อมโยงเนื้อหา ไปสู่การประยุกต์ใช้ได้แบบนี้จริงๆ
ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศในวันงานในเวทีที่พี่หมูแชร์ และผมพูดใน session ถัดไปครับ
คุณล่ะครับ คุณใช้หลักการอะไรในการบริหารคน ใครอ่านถึงตรงนี้ ช่วยแชร์หน่อยสิครับ