ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับความสุข
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตคุณมีความสุขมากๆครับ?
เงินทองมากมาย เงินเดือนสูงๆ ลาภยศ ตำแหน่งดีๆ หน้าที่การงานที่ประสบความสำเร็จ หรือเปล่า?
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในระบบทุนนิยมต่างขวนขวาย วิ่งตามหามัน อยากที่จะได้มันมา เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีมากยิ่งขึ้น และทำให้เรามีความสุขได้อย่างยั่งยืน
แต่หลายคน พอเราได้เงินดือนเพิ่มมากขึ้น รายได้มากขึ้น แต่ทำไม๊ ทำไม เราก็มีความต้องการ ความอยากได้เพิ่มมากขึ้นตามรายได้ของเรา เหมือนเป็นเงาตามตัวเราทีเดียว?
◌◌◌◌◌◌◌◌
เมื่อเดือนก่อน ผมได้ลงเรียนคอร์สออนไลน์วิชาหนึ่งของ Yale University (หนึ่งในท๊อปยูที่คนแข่งขันกันเข้าเรียนอย่างหนัก) มหาวิทยาลัยเยลเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาครับ และอยู่ในกลุ่มไอวี่ลีก มีศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียงมากมาย เช่น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
คอร์สที่ผมเรียนชื่อว่า The Science of Well-Being หรือแปลเป็นไทยคือ “ศาสตร์แห่งความสุข” มีผู้ลงเรียนวิชานี้ที่ Coursera ไปแล้วมากถึง 2.8ล้านคน
วิชานี้สอนโดย Laurie Santos อาจารย์ด้านจิตวิทยา ในแต่ละเทอมจะมีนักศึกษาลงเรียนวิชานี้ถึง 1,200 คน หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยเยลที่มีอยู่ 6,000 คนครับ
◌◌◌◌◌◌◌◌
อ.ซานโตส สอนวิชา The Science of Well-Being โดยใช้งานวิจัยที่มีการทดลองทางวิชาการทั้งสิ้นครับ และจากงานวิจัยพบว่า…
เมื่อเรามีรายได้เพียงพอต่อปัจจัยพื้นฐานแล้ว การมีรายได้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก มันจะไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับความสุขให้เราเราอีกแล้ว
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น รายได้ที่เป็นจุดตัดเพื่อเติมเต็มปัจจัยพื้นฐานนั้นอยู่ในระดับราวๆ 2แสนบาท/เดือน แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพของไทยแล้ว ผมคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ราวๆที่ 60,000 บาท/เดือน (ออกตัวว่า งานวิจัยนี้ทำมาหลายปีแล้ว แปลว่าค่าครองชีพก็ต้องเพิ่มตามไปด้วยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน)
จากการศึกษานี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า…
รายได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่า มันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเสมอไป
อาจจะทำให้เราสุขขึ้นหน่อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสุขที่เพิ่มขึ้นจริงนั้น มันน้อยยยยย กว่าที่เราคิดไว้มากกกกก
◌◌◌◌◌◌◌◌
นอกจากเงินทองแล้ว มีอะไรอีกในโลกทุนนิยมที่คนต่างขวนขวายตามหามัน?
ของเจ๋งๆ รถหรูๆ กระเป๋าแพงๆ ของแบรนด์เนม สิ่งเหล่านี้หรือเปล่านะที่จะให้เรามีความสุข?
ในปี 2003 Nickerson ได้เผยแพร่บทสรุปงานวิจัยฉบับนึงออกมา เค้าทำการศึกษากับนักศึกษาปี 1 จำนวน 12,000 คน โดยไปสอบถามนักศึกษากลุ่มนี้ถึงทัศนคติเรื่องวัตถุนิยม (ความเชื่อและความชอบเกี่ยวกับของนอกกายต่างๆ) หลังจากเวลาผ่านไป 20 ปี Nickerson ได้กลับไปถามคนกลุ่มเดิมถึงความพึงพอใจในชีวิตของเค้าครับ ผลปรากฎว่า…
คนที่วัตถุนิยม มีระดับความพึงพอใจกับชีวิตของพวกเค้าน้อยกว่า คนที่ไม่ยึดติดกับวัตถุซะอีก
มากไปกว่านั้น คนที่วัตถุนิยม ยังมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าอีกด้วย
โดยสรุปแล้ว ของเจ๋งๆวัตถุสิ่งของแพงๆ มันทำให้เรามีความสุขจริงๆเหรอ?
จากงานวิจัยของ Nickerson คำตอบคือ “ไม่เลย” การไขว่คว้าหามันกลับทำให้เรามีความสุขน้อยลงด้วยซ้ำ!
◌◌◌◌◌◌◌◌
แล้วการมีชีวิตคู่ล่ะ มันจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงไหม?
มีการศึกโดย Lucas ในปี 2003 พบว่า คนที่แต่งงานในช่วง 1-2 ปีแรกนั้น จะทำให้ทั้งคู่มีความพึงพอใจต่อชีวิตที่สูงขึ้นกว่าก่อนแต่งงาน
แต่ว่า หลังจากแต่งงานไปได้ 2 ปี ระดับความพึงพอใจต่อชีวิตจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมเท่ากับก่อนแต่งงาน
โดยสรุปแล้ว รักแท้ทำให้เรามีความสุขได้จริงๆเหรอ?
จากงานวิจัยของ Lucas คำตอบคือ “ได้บ้าง” แต่หลังจากนั้นซักพักก็จะกลับไปสู่ระดับเดิม
◌◌◌◌◌◌◌◌
ตกลงแล้วปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อระดับความสุขของเรากันแน่?
มีงานวิจัยโดย อ.Sonja Lyubomirsky พบว่า มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของมนุษย์เรา
- พันธุกรรม มีผลราวๆ 50%
- ปัจจัยภายนอก มีผลราวๆ 10%
- การกระทำ/ความคิด/นิสัย/พฤติกรรมของเรา มีผลมากถึง 40%
นั่นแปลว่า จริงๆแล้ว มันมีสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้
แต่ว่า… คนส่วนใหญ่นั้นมีเป้าหมายที่เชื่อว่ามันจะทำให้เรามีความสุข แต่จริงๆแล้วมันตรงกันข้ามเลย
ไว้ผมมาต่อตอน2 ครับ ถ้าใครชอบบทความนี้ ช่วยคอมเมนท์มาหน่อยนะครับ และช่วยผมแชร์ทีครับ 🙂
◌◌◌◌◌◌◌◌
ที่มา
https://www.coursera.org/learn/the-science-of-well-being