ผู้ชนะเหรียญเงิน vs. เหรียญทองแดง ใครมีความสุขมากกว่ากัน?

ถ้าคิดตามลำดับผู้ชนะแล้ว ผู้ชนะเหรียญเงิน ได้อันดับที่สูงกว่า เหรียญทองแดง แต่คุณลองดูสีหน้า แววตาของผู้ชนะเหรียญเงินในรูปด้านซ้ายมือเทียบกับผู้ได้เหรียญทองแดงด้านขวามือสิครับ…

ทำไมคนได้เหรียญเงินดูไม่ค่อยมีความสุขซักเท่าไหร่เลย?

มีงานวิจัยโดย Medvec Et. Al. ในปี 1995 ทำการศึกษาเพื่ออยากรู้ว่า ในการแข่งขันกีฬา ผู้ชนะเหรียญเงิน vs. เหรียญทองแดง ใครมีความสุขมากกว่ากัน

ผลปรากฎว่า ผู้ชนะเหรียญเงิน กลับกลายเป็นว่า มีระดับของความสุข “น้อยกว่า” ผู้ชนะที่ได้เหรียญทองแดง

ทำไมมันดูค่อนข้างขัดแย้งกับความคิดของเรา?

งานวิจัยได้อธิบายไว้ว่า ความสุขของคนเรานั้นไม่ได้คำนวณในเชิงค่าที่แน่นอน (Absolute) อย่างเหรียญเงินคือที่ 2 ซึ่งได้ตำแหน่งสูงกว่าเหรียญทองแดงคือที่ 3 แต่ระดับความสุขกลับวัดใน “เชิงเปรียบเทียบ” ครับ

ผู้ชนะเหรียญเงิน เอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ได้เหรียญทอง และเสียใจที่เกือบจะได้แล้วเชียวแต่ไม่ได้

ผู้ชนะเหรียญทองแดง เอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ไม่ได้เหรียญอะไรซักอย่างเลย และดีใจมากๆที่อย่างน้อยก็ได้ซักเหรียญน่ะ

มนุษย์เราชอบเปรียบเทียบโดยธรรมชาติ และจุดที่เราเอาไว้วัดระดับความสุขของเรา เรียกว่า จุดอ้างอิง (Reference Point)

◌◌◌◌◌◌◌◌

ในคอร์ส The Science of Well-Being อ.ซานโตส ยังได้เล่าถึงงานวิจัยอีกงานหนึ่ง โดย Van Pratt & Frijters ในปี 1999

การศึกษาตั้งคำถามว่า… คุณมีความต้องการเงินเดือนเท่าไหร่?

คนที่ได้เงินเดือน 30,000 บาท จะตอบว่า เค้ามีความต้องการเงินเดือน 50,000 บาท

พอลองไปถามอีกคนที่ได้เงินเดือน 100,000 บาท เค้ากลับตอบว่า เค้ามีความต้องการเงินเดือน 150,000 บาท

จากการสอบถามคนจำนวนมากๆๆๆ พบข้อสรุปว่า… ไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือนเยอะมากขึ้นเท่าใด ความต้องการของคุณเองจะโตเป็นเงาตามตัวคุณไปด้วย ในอัตรา 1.4 เท่าตัว เพราะคุณมีการเปลี่ยนจุดอ้างอิงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด!

นี่เลยเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า… ถ้าคุยเรื่องเงินๆทองๆแล้ว โดยธรรมชาติ มนุษย์มีความต้องการที่ไม่รู้จักพอ มันไม่มีจุดสิ้นสุดนั่นแหละครับ

◌◌◌◌◌◌◌◌

ในปี 1996 มีการศึกษาโดย Clark & Oswald ทำการสอบถามความพึงพอใจต่ออาชีพกับคนงานชาวอังกฤษ

พบว่า ถ้าคนงานรู้ว่าเพื่อนร่วมงานได้เงินเดือนเยอะกว่า คนกลุ่มนี้จะมีระดับความพึงพอใจต่ออาชีพที่ต่ำ เพราะจุดอ้างอิงของเค้าคือเงินเดือนเพื่อนนั่นเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกอ่อนด้อยกว่า

Solnick & Hemenway ทำการสอบถามนักศึกษามหาวิทยาลัย Harvard ถามว่า คุณอยากเลือกตัวเลือกไหน? ระหว่าง…

ตัวเลือก1: คุณได้เงิน 50,000 บาท แต่คนอื่นได้เงิน 25,000 บาท

ตัวเลือก2: คุณได้เงิน 100,000 บาท แต่คนอื่นได้เงิน 250,000 บาท

ถ้าเป็นคุณจะเลือกตัวเลือกไหนครับ?

ผลปรากฏว่า นักศึกษามากถึง 56% เลือกตัวเลือก1 ครับ!

และนี่เป็นบทสรุปที่ดีอีกอันว่า มนุษย์เราพอใจมากกว่าที่จะเห็นว่าเราเองมีความมั่งคั่งมากกว่าคนรอบๆตัวที่เราใช้เป็นจุดอ้างอิง เพราะเรากำหนดระดับความสุขและความพอใจด้วยตัววัดในเชิงเปรียบเทียบครับ

◌◌◌◌◌◌◌◌

โดยสรุปแล้ว…

การวัดระดับความสุขในเชิงเปรียบเทียบ เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า… ทำไมเงินทองถึงไม่ได้ทำให้เรามีระดับความสุขเพิ่มมากขึ้นได้เสมอไป

ไม่ว่าเราจะมีเงินทองมากขึ้นเท่าไหร่ ไม่ว่าเราจะได้ลาภยศสูงขึ้นเพียงไหน เราก็ยังไม่มีความสุขได้อย่างจีรังยั่งยืนซักที เพราะมีคนรวยกว่าเราเสมอวันยังค่ำ มีคนที่ตำแหน่งสูงกว่าเราเสมอ เพราะเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น สมองเราก็จะปรับจุดเปรียบเทียบตามไปด้วยครับ

ในตอนหน้า ผมจะมาอธิบายว่าทำไมของนอกกาย เช่น รถหรูๆราคาแพง กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้าของแต่งกายแพงๆ นาฬิกาแพงๆ ที่หลายคนหมั่นเก็บเงินซื้อมา พอเราได้มาจริงๆก็มีความสุขดีนะ แต่ไม่นานเราก็รู้สึกมีความสุขเท่าเดิม แบบเดิมๆครับ กดติดตามเพจเอาไว้นะครับ

ฟังผมเล่าเรื่องนี้ได้ที่นี่ครับ

ผมลงบทความนี้ครั้งแรกที่เพจของผมที่นี่ครับ https://www.facebook.com/startwithwai/photos/a.1652427621646075/2873735529515272/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s