บางคนอาจจะมีเป้าหมายในการอยากได้ของหรูหราราคาแพงมาเป็นเจ้าของ
บางคนอาจจจะคิดว่า…ถ้าเราได้ของราคาสูงๆเหล่านั้นมาครอบครองแล้ว มันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นแน่นอน
บางคนอาจจะคิดว่า…สิ่งของนอกกายเหล่านี้แหละที่ชีวิตเราต้องการ เพื่อทำให้เราไปสู่จุดสูงขึ้นในชีวิต
แต่ความเป็นจริงแล้ว มันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่?
เรามาต่อกันในตอนที่ 3 ของซีรียส์ #ความสุขอยู่หนใด นะครับ ใครเพิ่งมาอ่านตอนนี้ ติดตามตอนที่ 1 และ 2 ได้ที่ท้ายบทความครับ
◌◌◌◌◌◌◌◌
อ.ซานโตส ได้เล่าให้ฟังในคอร์ส The Science of Well-Being อ้างถึงการศึกษาโดย Vogel Et Al. ในปี 2014 พบว่า…
ยิ่งเราเล่น Facebook มากขึ้นเท่าไหร่ เราจะกลับยิ่งมีความเคารพนับถือต่อตนเอง (Self-Esteem) “ลดลงเท่านั้น”
เพราะว่า…ในโลก Social Media นั้น มีเนื้อหาจำนวนไม่น้อย ที่เป็นภาพของการโชว์ออฟของผู้คนรอบตัวเรา ชีวิตที่ดูดีของพวกเค้า (ต้องออกตัวว่า…คนที่โพสเนื้อหาเหล่านั้นไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใดเลย)
แต่ประเด็นคือ การศึกษาพบว่า เราจะรู้สึกค่อยๆตัวเล็กลงๆ รู้สึกด้อยกว่าอยู่ลึกๆ และทำให้เราอยากมีของนอกกายหรูหราเหล่านั้นแบบคนอื่นเค้าบ้าง มากขึ้นเรื่อยๆๆๆ
แต่ในทางกลับกันนั้น การศึกษาพบว่า… เมื่อเราเห็นคนรอบตัวที่ด้อยกว่า หรือลำบากกว่าผ่าน Facebook เรานั้นกลับไม่ได้จะมีความรู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้นแต่อย่างใดเลยครับ
◌◌◌◌◌◌◌◌
อ.ซานโตส ยังเล่าประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งว่า…
จิตใจของเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาให้มีการปรับตัวได้ดีมากๆๆๆ ทั้งเรื่องดีๆและเรื่องร้ายๆ
กระบวนการนี้เรียกว่า Hedonic Adaptation คือสิ่งที่มนูษย์เราทุกคนมีเพื่อใช้ในการทำให้เราไม่สติแตกจากเรื่องแย่ๆที่อยู่ๆก็เข้ามาหาเรา หรือเรื่องที่น่ายินดีๆมากๆที่อยู่ๆก็เกิดขึ้นกับเรา เพราะ เมื่อเวลาผ่านไป มันจะทำให้เรา “ชิน” ไปกับมันครับ
Daniel Gilbert เป็นอาจารย์ที่มหาสิทยาลัย Harvard และเป็นนักวิจัยด้านจิตวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า…
เรื่องดีๆมันจะทำให้เรารู้สึกดีเมื่อตอนแรกๆที่เราได้ประสบกับมัน แต่ความรู้สึกดีของเราจะค่อยๆลดทอนหายไปเมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำๆไปนานๆเข้า
◌◌◌◌◌◌◌◌
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
เราอยากขับรถหรูๆ จนเราเก็บเงินซื้อรถ Bently (คันละประมาณ 20-30ล้านบาท) มาขับได้ ช่วงแรกๆที่เราได้มันมา แน่นอนว่าเรามีความสุขกับสิ่งนี้ แต่พอนานวันไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี ความรู้สึกดีมีความสุขของเราจะกลับไปที่จุดเดิมก่อนที่เราจะได้มันมาครอบครอง เพราะเราชินกับมันแล้วนั่นเอง
หรือกลับกัน วันดีคืนดี เราประสบภาวะวิกฤต มีหนี้สินมากจนเราต้องขาย รถ Bently ทิ้งไปเพื่อเอาเงินไปปลดหนี้ และต้องกลับไปใช้ชีวิตด้วยการเดินทางสาธารณะ ตอนแรกนั้นเราอาจจะรู้สึกขมขื่นใจมากๆที่ชีวิตตกต่ำลงไป แต่จากงานวิจัยพบว่า… โดยปกติแล้ว คนเราจะคิดว่าชีวิตจะแย่มากๆๆๆ จากเรื่องราวนั้นแบบโอเวอร์เกินความเป็นจริงเกินไปมาก พอเราต้องขายรถทิ้งไปและไปใช้ชีวิตอีกแบบนึงนานวันเข้า เราจะ “ชิน” และรู้สึกโอเคไปเองครับ
เพราะธรรมชาติออกแบบมาให้เราปรับตัวได้กับทุกๆสถานการณ์ ไม่ว่าดี หรือร้าย ให้เราไม่สติแตก อย่างที่อธิบายในตอนต้นนั่นเอง
◌◌◌◌◌◌◌◌
เลยเป็นคำตอบของบทความนี้จากงานวิจัยครับว่า…
ของหรูหราฟู่ฟ่านำมาซึ่งความสุขได้แหละครับ แต่เฉพาะช่วงแรกๆ แต่เมื่อเราอยู่กับมันนานๆเข้า เราก็จะ “ชิน” กับมัน และระดับความสุขของเราก็จะกลับไปที่ระดับเดิมก่อนที่เราจะได้ของชิ้นนั้นมาครอบครอง ทำให้เราเริ่มมองหาอยากไขว่คว้า ของที่มันหรูหราราคาแพงขึ้นไปอีกนั่นเองแบบไม่สิ้นสุด
และอันที่เจ็บที่สุดคือ…
อ.ซานโตส บอกว่า มนุษย์เราไม่ได้ตระหนักเลยว่า… จิตใจเรานั้นมันถูกสร้างขึ้นมาให้มีกระบวนการของการปรับตัวเพื่อให้เราชินแบบนี้ ทำให้เราติดในวงจรที่อยากได้ ได้มา สุขแล้วก็ชิน อยากได้ใหม่เพื่อสุขใหม่ แล้วก็ชินเหมือนเดิม แบบนี้ไม่สิ้นสุด…
ลงบทความครั้งแรกที่เพจของผมครับ https://www.facebook.com/startwithwai/photos/a.1652427621646075/2878174905738001/